SIAM Model การจัดการศึกษาเพื่อสยามประเทศ : โดย ธงชัย สมบูรณ์

สยามประเทศหรือประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และมีความเป็นอารยวิถีของชนชาวไทยอย่างดียิ่ง สิ่งนี้จึงทำให้ผู้คนจากหลายดินแดนทั่วโลกอยากมาสัมผัสและอยากเรียนรู้ “ความเป็นไทย” มากขึ้นในทุกๆ ปี สยามประเทศมีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมที่ดีงามที่บรรพบุรุษของชาติได้สั่งสมไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เป็นมรดกอันล้ำค่ามาจนถึงปัจจุบัน สยามเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นประเทศไทย และมีชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) จนมาถึงปัจจุบัน

กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว สยามประเทศหรือประเทศไทย ได้มีการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมกับอารยประเทศในทุกๆด้าน แต่บางครั้งจะพบว่า ความเจริญงอกงามต่างๆ นั้น ยังมีความผุกร่อนที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการจัดการศึกษาของประเทศ

ความคาดหวังที่จะทำให้บรรลุตามความต้องการดังกล่าวจึงไม่ใช่เฉพาะหน้าที่ของสถานศึกษาเท่านั้น หากแต่เป็นความร่วมมือจากสถาบันทางสังคมที่จะต้องช่วยกันพัฒนาและมีทิศทางเดียวกันต่างหาก

ความผุกร่อนของการศึกษาไทย : ความเป็นไปที่ชัดเจน

Advertisement

การจัดการศึกษาของประเทศได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเจริญงอกงามโดยรวมตามแบบวิถีของสังคมโลก ซึ่งการศึกษาของรัฐชาติมักถูกเรียกว่า การปฏิรูป เพื่อหาวิธีการหรือกระบวนต่างๆ ที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายหรือปณิธานที่ตั้งไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนได้มีการระดมสรรพกำลังทุกอย่างเพื่อให้การศึกษาเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม “ความผุกร่อน” ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพทางการศึกษาของประเทศดูเหมือนกำลังจะถดถอย ด้วยเหตุที่ว่า

1.ครูระดับโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษามีชั่วโมงสอนมากไป ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งต่อการเตรียมสอนและขาดการทำวิจัยในชั้นเรียนได้ สุดท้ายภาพที่ปรากฏออกมาจึงมีลักษณะ “สอนแบบไม่ตระเตรียม ความรู้เดิม”

2.อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยบางส่วนไม่มีความลุ่มลึกในการวิจัยเชิงสหศาสตร์ ขาดการสร้าง “มวลสาร” ความรู้แบบใหม่ กล่าวคือ สัดส่วนของการวิจัยกับระยะเวลาที่ทำงานยังไม่สมดุลกัน ยิ่งไปกว่านั้น ขาดการวิจัยพหุศาสตร์ (Multi-Sciences Research) การถ่ายทอดความรู้ยังเน้นวิธีการบรรยาย การถกแถลง การอภิปรายค่อนข้างน้อย ที่เห็นยังมีอาจารย์บางส่วนชอบสั่งงาน แล้วให้ลูกศิษย์นำเสนอ โดยเอ่ยอ้าง “วาทกรรมที่ยิ่งใหญ่” ว่า ฝึกผู้เรียนค้นคว้าด้วยตนเอง แต่ภาพจริง คือ ตนเองไม่ได้เตรียมสอนเพื่อให้ข้อความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัยต่างหาก

Advertisement

3.เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนทางด้านวิชาการมาก แต่ขาดการความรู้เชิงสังคมการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เกิดสภาพ “โรคภูมิคุ้มกันทางด้านสังคมบกพร่อง” บางครั้งจะพบว่า ผู้เรียนไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรควรปฏิบัติ กฎเกณฑ์ทางสังคมจึงถูกเพิกเฉย สุดท้ายนำมาซึ่งปัญหาของสังคมในที่สุด

4.ผู้เรียนยังนำ IPedagogy มาช่วยในการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าผู้เรียนสมัยนี้จะมีโอกาสเสพข้อความรู้จากสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ยังมีภาพที่เป็นจริง ที่ผู้เรียนนำสิ่งนี้มาประกอบการทำกิจกรรมอย่างอื่น

5.การเรียนรู้ทุกระดับมีการวัดผลทางด้านพุทธิพิสัย cognitive/ intelligent domain มากกว่าสังคมพิสัย societal domain

6.ผู้ที่รับผิดชอบทางการจัดการศึกษาของชาติยังมีบางหน่วยงานที่ขาดประสบการณ์ และที่สำคัญไม่เข้าใจว่าอัตลักษณ์การศึกษา อัตลักษณ์การเรียนรู้ คืออะไร

7.การกระจายอำนาจเชิงวิชาการถูกครอบงำทุกระดับ ขาดการบริหารจัดการแบบตนเอง (Privatization) อำนาจเชิงนโยบายมีลักษณะแอบแฝงจนบางครั้งกลายเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก

8.งบประมาณทางด้านการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัยให้แก่สถานศึกษาทุกระดับ มีสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกับศาสตร์ที่จัดสอนและสภาพจริงของการเรียนรู้

9.สร้างกระแสนิยม หรือที่เรียกว่า “เห่อ” ตามกระแสการจัดการศึกษาของสังคมอื่น จนลืมจุดยืนของตนเอง

10.การเรียนรู้แบบ connectivity-based ยังไม่กระจ่างในหมู่ “ครูผู้สอน” เพราะตีโจทย์ทางทฤษฎีไม่แตก

SIAM Model : ภูมิคุ้มกันทางการศึกษาเพื่อพัฒนารัฐชาติ

ความยิ่งใหญ่ของการบริหารจัดการศึกษาของชาติที่ดีที่สุด คือ การที่ผู้คนที่ได้รับการศึกษาทุกระบบนั้นมีวิถีชีวิตที่ดีงาม มีความสุขในการดำรงชีวิต ฉะนั้น ความผุกร่อนทางการศึกษาจะไม่เกิดขึ้น รัฐควรหันมาใช้

1. S = Science and Social Science and Technology-focused Learning สถานศึกษาเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศาสตร์ทั้งสองด้านนี้ต้องได้รับการจัดตั้งในลักษณะสหวิทยาการชั้นสูงอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือ รัฐต้องให้ความสำคัญเท่ากัน ยิ่งไปกว่านั้นศาสตร์ทางเทคโนโลยีต้องได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น

2. I = Interconnected Global Issues-focused Learning การเรียนการสอนในทุกๆ ระดับจะต้องมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับสังคมโลกได้เป็นอย่างดี

3. A = Aesthetics-focused Learning สุนทรียศาสตร์จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนไม่เป็น “กระด้างภัณฑ์” การสอนที่ดีต้องบ่มเพาะความมนุษย์ที่มีจริยธรรม มีจิตวิญญาณที่อ่อนโยน นี่คือจุดเด่นของรัฐชาติ

4. M = Management-focused Learning การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการบริหารจัดการด้านต่างๆ เพราะปัจจุบันนี้เด็กไทยส่วนมากขาดทักษะการจัดการที่ดีที่ถูกต้อง เช่น การจัดการชีวิต/ความสุข การจัดการเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ การพัฒนาผู้เรียนแบบ M (Mindfulness) ต่อไป คือ สัมมาสติที่พัฒนาด้วยความพอดี ก็จะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความสุขยิ่งนัก

เพราะการศึกษา คือ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ ด้วยการนี้ SIAM Model จะช่วยให้สยามอารยะและจะเพิ่มคุณลักษณะของการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าการจัดการบนพื้นฐานในลักษณะนี้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้การศึกษาของสังคมโลกมีความงดงามยิ่งขึ้น และท้ายสุด คือ SIAM Model for Active Global Citizen แน่นอน

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image