สุจิตต์ วงษ์เทศ : สุสานเผานั่งยาง บ้านผือ (อุดรฯ) เป็นแอ่งอารยธรรมสยาม

หินตั้งดั้งเดิมในศาสนาผี ถูกแปลงเป็นเสมาหินในศาสนาพุทธ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

สุสานเผานั่งยาง 23 จุด ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุดจับ ต. หนองแวง อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี สะท้อนลักษณะสังคมที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งจากโครงสร้างอำนาจดิบ
พื้นที่ อ. บ้านผือ เป็นที่ราบสูงเชิงเขาภูพาน (ปลายด้านตะวันตก) มีภูเขาเตี้ยๆ กระจัดกระจายทั่วไป จึงมีหลักแหล่งของคนอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว (ยุคเดียวกับบ้านเชียง) ต่อเนื่องถึง จ. หนองบัวลำภู และ จ. หนองคาย

[ผือ เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง ภาคกลางเรียก ปรือ เป็นไม้เกิดในที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ต้นสามเหลี่ยม นิยมใช้ทำสาด (ทอเสื่อ) เรียกสาดผือ]

ทิวเขาภูพานเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เช่น สมุนไพร, น้ำ ฯลฯ เป็นต้นน้ำโมง ไหลขึ้นทางเหนือ ผ่าน อ. ท่าบ่อ จ. หนองคาย ลงแม่น้ำโขง
อ. บ้านผือ เป็นแอ่งอารยธรรมสำคัญของชาวสยามดึกดำบรรพ์ เช่น ภูพระบาท (ที่ไทยกำลังส่งข้อมูลขอเป็นมรดกโลก แต่ยังไม่ผ่านการรับรอง)

ภูพระบาทเป็นชื่อภูเขาเตี้ยๆ ในเขต อ. บ้านผือ มีรอยพระพุทธบาท 2 แห่ง คือ พระบาทบัวบาน กับ พระบาทบัวบก
มีผู้คนตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยโดยรอบบริเวณภูพระบาท ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีหลักฐานโบราณคดีสำคัญคือ หินตั้ง เป็นแท่งหินปักบอกเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี
ราวหลัง พ.ศ. 1000 พุทธศาสนาแพร่หลายมาถึงบริเวณนี้ หินตั้งก็ถูกปรับเปลี่ยนจากศาสนาผี ให้เป็นเสมาหินในศาสนาพุทธ

Advertisement

เขตภูพระบาท (อ. บ้านผือ จ. อุดรฯ) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐเวียงจัน ซึ่งเดินทางติดต่อโดยลำน้ำโมง
[เวียงจันเป็นรัฐเก่าแก่ยุคทวารวดี ร่วมสมัยกับรัฐหลั่งยะสิว (นครปรามโบราณ) เป็นศูนย์กลางของขบวนแห่ชาวสยาม (เสียมกุก) ที่ปราสาทนครวัด]

บริเวณเชิงเขาโดยรอบภูพระบาท เคยเป็นหลักแหล่งของเชื้อวงศ์ล้านช้างเวียงจัน มีนิทานตำนานเรื่องเจ้าปางคำกับพระครูโพนสะเม็กยอดแก้ว (ยาคูขี้หอม)
ปัจจุบันบริเวณรอบเชิงภูพระบาท เป็นชุมชนชาวพวน (จากเชียงขวาง) ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่ยุคปลายอยุธยา ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image