ภาพเก่า..เล่าตำนาน : กระสุนนัดนั้น…ดังสนั่นทั่วโลก : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

วินาทีที่โดนกระสุนนัดแรกที่ลำคอ

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 เวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ เดลีย์พลาซา เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประธานาธิบดีเคนเนดี้ ถูกลอบยิงเสียชีวิตระหว่างที่นั่งรถเปิดประทุน ประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก เดินทางไปกับภรรยาแสนสวย สตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ นางแจ๊กเกอลีน เคนเนดี้

เหตุการณ์การลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ประธานาธิบดีหนุ่มหล่อ ผิวขาว ผมสีทอง ขวัญใจคนอเมริกัน เกิดขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดี ได้เดินทางไปยังเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เพื่อหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้าของเขา

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ขอย้อนอดีตไปปี พ.ศ.2505 ในเหตุการณ์สะท้านโลก “การลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐ”

จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี้ (John Fitzgerald Kennedy) เกิดเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2460 ที่เมืองบรู๊คลิน รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่ออายุได้ 10 ปี ครอบครัวก็ย้ายเข้าไปอยู่นิวยอร์ก เป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก

Advertisement

จอห์น เป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวน 9 คน ของโจเซฟ แพทริก เคนเนดี้ คหบดีใหญ่ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศอังกฤษ

จบจากโรงเรียนมัธยมในรัฐคอนเนคทิกัต ไปเข้าเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science) ที่อังกฤษ เป็นเวลา 1 ปี

เคนเนดี้กลับไปลงทะเบียนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน แต่ต้องลาออกเสียก่อนเพราะป่วยเป็นโรคดีซ่าน เมื่อรักษาตัวหายแล้ว จึงสมัครไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มีชื่อเสียงระดับโลกสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำเร็จในปี พ.ศ.2481

Advertisement

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หนุ่มหล่อ รวย สมองปราดเปรื่อง ชื่อ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ไปสมัครเป็นทหารในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ได้เป็นผู้บังคับการเรือตอร์ปิโด PT 59 รับราชการในกองทัพเรือจนได้ยศเรือเอก

ปี พ.ศ.2486 วันหนึ่ง ในขณะปฏิบัติหน้าที่ในทะเล เคนเนดี้ประกอบวีรกรรมช่วยเพื่อนทหารด้วยกันขณะที่เรือ PT 59 ของเขากำลังจะเข้าโจมตีญี่ปุ่นในตอนกลางคืน แต่ถูกเรือพิฆาตของญี่ปุ่นเข้าโจมตีเสียก่อน เคนเนดี้ ได้รับบาดเจ็บที่หลัง แต่เขาสามารถช่วยชีวิตลูกน้องหลายคนให้รอดตายจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น โดยการประคับประคองซากเรือไปถึงเกาะและได้รับการช่วยเหลือในเวลาต่อมา เขาได้รับเหรียญกล้าหาญ ก่อนปลดประจำการในปีที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม

อาวุธที่ใช้ยิง

เรือเอก จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี้ (John Fitzgerald Kennedy) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เจเอฟเค (JFK ย่อจากชื่อภาษาอังกฤษ) ลาออกจากกองทัพเรือด้วยความสง่างาม แล้วหันไปลงสนามการเมือง ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกรัฐบ้านเกิด

ปี พ.ศ.2494 นักการเมืองหนุ่ม JFK ได้พบกับสาวสวยเฉียบชาวนิวยอร์ก ผู้ทำงานเป็นนักข่าวและช่างภาพจากหนังสือพิมพ์วอชิงตัน ไทม์ส-เฮอร์รัลด์ ชื่อว่า แจ๊คเกอลีน ลี บูวิเออร์ ที่เดินทางมาสัมภาษณ์นักการเมืองในวอชิงตัน ดี.ซี. ทั้งคู่ตกหลุมรักกันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

กระสุนที่ใช้สังหาร

ปี พ.ศ.2496 แจ๊คกี้ แต่งงานกับ เคนเนดี้ มีลูกด้วยกัน 4 คน ด้วยอายุเพียง 31 ปี แจ๊คกี้ ได้ชื่อว่าเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ที่มีเสน่ห์ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และนำสีสันมาสู่ทำเนียบขาวในช่วงที่เคนเนดี้เป็นประธานาธิบดี

ในปี พ.ศ.2499 เคนเนดี้ เสนอตัวเพื่อเป็นตัวแทนของพรรคเดโมเเครตในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่พ่ายแพ้

ต่อมาในปี พ.ศ.2503 เคนเนดี้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในวัย 43 ปี โดยการเฉือนเอาชนะ นายริชาร์ด นิกสัน ของพรรครีพับลิกันด้วยคะแนนที่หวุดหวิดที่สุดในประวัติศาสตร์

20 มกราคม 2504 เคนเนดี้ สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และได้กล่าวคำปราศรัย พร้อมกับวลีที่จะเป็นอมตะคือ “Ask not what your country can do for you, ask what you can do for your country”

“จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ”

นอกจากนี้ เคนเนดี้ยังเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ร่วมใจกันต่อสู้กับศัตรูตัวจริงของมนุษยชาตินั่นคือ ความยากจน โรคภัยและสงคราม

ถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีที่หนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพราะคนอเมริกันนับถือนิกายโปรเตสแตนต์กันเป็นส่วนใหญ่

JFK เป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา บริหารประเทศด้วยพลังงานความเป็นหนุ่ม สดใส และมองโลกในแง่ดี

เคนเนดี้ เป็นกลุ่มขวาจัด เป็นผู้จัดตั้งองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USAID เพื่อให้การสนับสนุนประเทศประชาธิปไตยในการป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์

ชาวอเมริกันชื่นชมความเป็นผู้นำของเคนเนดี้ ที่สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่ ร่ำรวย เป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก

วันที่ 25 พฤษภาคม 2504 เคนเนดี้ แถลงต่อสภาคองเกรสว่าอเมริกากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ไม่ธรรมดา ขอให้สภาอนุมัติงบประมาณเพื่ออเมริกาจะเป็นชาติแรกในโลก ที่ขอส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ และเดินทางกลับอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ลึกๆ ในใจนั้นอเมริกา เพื่อต้องการแข่งขันความเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศกับโซเวียต และอเมริกาก็ชนะในที่สุด

ภาพจำลองเหตุการณ์ลอบสังหาร

ลำดับเหตุการณ์ลอบสังหาร ตามผลการสอบสวน

06.30 น. นายลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald) ออกจากบ้านเพื่อไปที่โรงเรียนเท็กซัส

07.50 น. ออสวอลด์ เข้าไปในบริเวณโรงเรียน ตรงไปที่ห้องเก็บหนังสือ ของโรงเรียนเท็กซัส (Texas School Book Depository) ณ ห้องนี้จะสามารถมองเห็นขบวนรถของประธานาธิบดี วิ่งผ่าน ในมือถือถุงแบบยาว โดยบอกกับผู้พบเห็นว่าเป็น “ราวผ้าม่าน”

11.40 น. ประชาชนต้อนรับประธานาธิบดี จากสนามบินสู่ตัวเมือง ประธานาธิบดีนั่งรถลิมูซีนเปิดประทุน รถมี 3 ตอน ประกอบด้วยประธานาธิบดีอยู่ด้านหลังสุดตอนที่ 3 โดยมีภรรยานั่งอยู่เคียงข้าง และช่วงที่ 2 มี นายจอห์น บี. คอนนอลลี (John B. Connally) ผู้ว่ารัฐเท็กซัสและภรรยา ตอนหน้ามีนายบิล เกรเออร์ (Bill Greer) คนขับรถ และนายรอย เคลเลอร์แมน (Roy Kellerman) ตัวแทนพิเศษของทำเนียบขาว ซึ่งสองข้างทางมีประชาชนชาวดัลลัสมาต้อนรับประธานาธิบดีอย่างล้นหลาม

11.55 น. ออสวอลด์ ประกอบปืนไรเฟิล บนชั้น 6 ของอาคารที่สามารถตรวจการณ์เห็นพื้นที่เดลีย์พลาซา (Dealey Plaza)

12.18 น. นายเบรนแนน (Howard Brennan) ซึ่งเป็นประชาชนคนดูเดินมาพบเห็นนายออสวอลด์ ที่หน้าต่างชั้น 6 พร้อมอาวุธ นายเบรนแนนคิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี (Secret Service) ที่ขึ้นมาวางตัว ทำหน้าที่คุ้มกันขบวนของประธานาธิบดี เคนเนดี้

12.30 น. ขบวนรถเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเอล์ม มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด กระสุนวิ่งตรงไปที่ลำคอประธานาธิบดี กระสุนนัดนั้นยังกระดอนไปโดนผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ที่บริเวณแผ่นหลัง ทุกคนเข้าใจว่าเป็นเสียงประทัดที่ประชาชนจุดต้อนรับขบวน

เสียงปืนก็ดังขึ้นตามมาอีก 1 นัด กระสุนแหวกอากาศพุ่งเข้าศีรษะประธานาธิบดี ประชาชนที่อยู่ 2 ข้างทางต่างพากันแตกตื่น บางคนหมอบลงกับพื้น บางคนวิ่งหนี เพื่อหลบลูกกระสุนที่อาจเกิดการยิง

13.00 น. ประธานาธิบดีทนพิษบาดแผลไม่ไหวและได้เสียชีวิต ผลชันสูตรพบว่าประธานาธิบดีเสียชีวิตจากกระสุนนัดที่ยิงเข้าศีรษะ กระสุนได้เข้าทำลายเนื้อสมอง ทำให้ท่านเสียชีวิต

เคนเนดี้ เกลียดคอมมิวนิสต์แบบเข้ากระดูกดำ

ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม พ.ศ.2505 โซเวียตแอบทยอยส่งขีปนาวุธและระบบป้องกันทางอากาศไปติดตั้งให้คิวบา

15 ตุลาคม 2505 มีภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินสอดแนม U-2 ของอเมริกันถ่ายภาพชัดแจ๋วว่า คิวบากำลังสร้างฐานยิงขีปนาวุธ SS-4 ที่มีระยะทำการราว 2,000 กม. แถมมีระบบป้องกันทางอากาศที่ถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่ออเมริกา

บรรดาอเมริกัน สายเหยี่ยว เสนอให้ส่งทหารบุกคิวบา เคนเนดี้ยื่นคำขาดให้สหภาพโซเวียตถอนฐานยิงขีปนาวุธออกจากประเทศคิวบา ซึ่งหวุดหวิดจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก เคนเนดี้ส่งเรือรบไปสกัดกั้นเรือรบของโซเวียต มีการเจรจาในทางลับ

เคนเนดี้ตัดสินใจรับข้อเสนอสัญญาว่าจะไม่บุกคิวบา สหรัฐ-โซเวียตพูดกันรู้เรื่องกันเกิดการประนีประนอมได้ในวันที่ 28 ต.ค.2505 เป็นอันสิ้นสุดวิกฤต 13 วันอันตรายที่โลกเฉียดใกล้สงครามนิวเคลียร์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

สังคมอเมริกันส่วนหนึ่งไม่พอใจเคนเนดี้ ที่ไม่บุกคิวบาให้สิ้นซาก ปล่อยให้เป็นหอกข้างแคร่ จ่ออยู่แค่ปลายจมูกของอเมริกา

หากแต่สังคมโลกยกย่องว่าทั้ง เคนเนดี้และครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตในขณะนั้น คือ ผู้หยุดยั้งสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก

ความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือ สนธิสัญญาระหว่างประเทศในการห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ที่เคนเนดี้ ริเริ่มและผลักดันเพื่อยุติการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์

นโยบายที่ “ผิดมหันต์” ของรัฐบาลเคนเนดี้ คือ การที่สหรัฐตัดสินใจให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศเวียดนามใต้เพื่อ ต่อสู้ ยับยั้ง และทำลายคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นจุดเริ่มต้น “สงครามเวียดนาม” ที่ทำเอาสหรัฐติดหล่ม จมปลักในสงครามราว 10 ปี เด็กหนุ่มอเมริกันเสียชีวิตในสงครามเวียดนามราว 56,000 นาย

กลับมาเรื่องของการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ครับ

เวลา 13.12 น. ตำรวจไล่ล่า ควานหาตัวมือปืนที่ลั่นกระสุนสังหารประธานาธิบดี และเมื่อเข้าไปค้นที่ชั้น 6 ของอาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส จึงพบปลอกกระสุนปืนไรเฟิลที่ยิงแล้ว 3 ปลอก เมื่อค้นไปอีกจึงพบปืนไรเฟิล ที่ซุกซ่อนอยู่หลังแนวกล่องที่ถูกวางเรียงรายอยู่ภายในห้องดังกล่าว เมื่อตรวจสอบลายนิ้วมือ จึงพบว่าเป็นของ นายลี ฮาร์วี ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald)

ปืนยมทูต คือ ปืนแมนลิเชอร์-คาร์กาโน รุ่น M 91/38 ขนาด 6.5×52 มม. เป็นการซุ่มยิงแบบสไนเปอร์

ถัดมาในเวลา 13.15 น. มีพลเมืองดีแจ้งตำรวจว่า พบเห็นชายคนหนึ่งเพิ่งยิงตำรวจเสียชีวิต จากนั้นได้หลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในโรงภาพยนตร์เท็กซัส

13.50 น. ตำรวจแห่กันมารวบตัวนายลี ฮาร์วี ออสวอลด์ ขณะที่เขานั่งอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากในโรงหนังได้แบบทันควัน เพราะมีพยานนำพาเข้าไปชี้ตัวเขาได้ในทันที

หลังจากกระสุนพุ่งออกมาจากรังเพลิง ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายได้ ใช้เวลาไปเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที

นี่คือปมปริศนา ที่ชาวอเมริกันพากันปฏิเสธข้อมูลมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เชื่อผลการสอบสวนจับกุม

ยังมีเรื่องที่เป็นเงื่อนงำ-ดำมืดไปกว่านี้อีกครับ….

24 พ.ย.2506 หรือเพียง 2 วัน หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร JFK ขณะที่ตำรวจกำลังคุ้มกันนายออสวอลด์ เพื่อนำตัวจากที่คุมขังสถานีตำรวจดัลลัส เพื่อไปยังเรือนจำรัฐเท็กซัส.. โลกต้องตะลึงอีกครั้ง..

นายแจ๊ค รูบี้ (Jack Ruby) เดินสวนเข้ามาในขบวนตำรวจแบบไม่มีใครสังเกต มือกำปืนพกแน่น พุ่งตัวฝ่าการคุ้มกัน บุกเข้าลั่นกระสุนใส่นายออสวอลด์ ที่อยู่ในอ้อมกอดของตำรวจได้แบบหน้าตาเฉย แถมการกระทำอันอุกอาจนั้นอยู่ภายใต้สายตาของอเมริกันชน ที่กำลังเฝ้าติดตามการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

แจ๊ค รูบี้ ลั่นกระสุนใส่ออสวอลด์

นายออสวอลด์ ตายคาที่ ข้อมูลทุกอย่างมืดบอด

ตำรวจรวบตัวนายแจ๊ค รูบี้ โดยเขาสารภาพว่าการลงมือครั้งนี้เป็นเพราะเจ็บแค้นที่นายออสวอลด์ พรากประธานาธิบดีหนุ่มที่แสนรักไป

14 มีนาคม พ.ศ.2507 มือปืน แจ๊ค รูบี้ ถูกพิพากษาว่ามีความผิด รูบี้อุทธรณ์คำตัดสินและโทษประหารชีวิต ก่อนจะมีกำหนดไต่สวนคดีครั้งใหม่ แจ๊ค รูบี้ เกิดป่วยและเสียชีวิตในคุก ด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2510

สังคมอเมริกันชนมึนตึ้บ มืดแปดด้านต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพลิกผันไปอย่างต่อไม่ติด

ประธานาธิบดีคนใหม่ ลินดอน บี. จอห์นสัน ซึ่งได้ก้าวขึ้นจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี เป็น ผู้นำสหรัฐคนที่ 36 หลังมรณกรรมของเคนเนดี้ จึงได้ตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจชื่อ Warren Commission เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในคดีนี้

แต่แล้วบทสรุป ในรายงานของ Warren commission ที่ใช้เวลาราว 10 เดือนระหว่าง พ.ศ.2506-2507 กลับเพิ่มเติมความสงสัยของสาธารณชนหนักเข้าไปอีก เนื่องจากผลการสอบสวน ระบุเอาไว้ว่า ผู้ที่ลงมือลั่นไกสังหาร JFK ในครั้งนี้ มีเพียงคนเดียวคือ ลี ฮาร์วีย์
ออสวอลด์ โดยลั่นกระสุนสังหารไปทั้งหมดเพียง 3 นัด จากหน้าต่างชั้นที่ 6 ของอาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส

โดยนัดที่ 1 ยิงโดนทั้ง JFK และผู้ว่าการรัฐเท็กซัส นัดที่ 2 พลาดไปชนขอบถนน จนทำให้คนที่ยืนดูบริเวณสะพานลอยได้รับบาดเจ็บ นัดที่ 3 โดนเข้าที่หลังศีรษะของประธานาธิบดี ซึ่งรายงานข้อสรุปนี้ ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐ

สรุปแล้ว… มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวน 3 คณะ การสืบสวนของ Warren Commission ซึ่งกินเวลา 10 เดือน การสืบสวนของคณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี (HSCA) ระหว่าง พ.ศ.2519-2522 และการสืบสวนของรัฐบาล

สรุปตรงกันหมดว่า ประธานาธิบดี เคนเนดี้ ถูกลอบสังหารโดย ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์

ความลึกลับซับซ้อน ค้างคาใจสังคมอเมริกันแบบไม่เลิกรา ภายหลังผลสำรวจที่มีการจัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ.2509-2547 เปิดเผยว่า ชาวอเมริกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ “ไม่เชื่อ” ข้อสรุปที่ได้จากการสืบสวนดังกล่าว

การลอบสังหารนี้ยังคงเป็นประเด็นการอภิปรายในวงกว้าง และก่อให้เกิดประเด็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิดและการจัดฉาก

ความลับสุดยอดของบรรดาเอกสารนับพันชิ้นในอดีต สภาคองเกรสของสหรัฐ ได้เคยมีคำสั่งเมื่อปี พ.ศ.2535 ว่า “..เอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ที่ถูกปิดเป็นความลับ ควรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนทั้งหมดภายใน 25 ปีหลังจากนั้น คือตรงกับปี พ.ศ.2560 โดยกองจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดจะเปิดเผยเอกสารดังกล่าวในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เว้นแต่ประธานาธิบดีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น…”

21 ตุลาคม 2560 ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ยืนยันมาตลอดว่า เขาจะอนุญาตให้เปิดเผยเอกสารเกี่ยวข้องในคดีลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้

แต่ขณะที่กำหนดเส้นตายใกล้มาถึงรัฐบาลทรัมป์ ได้ตัดสินใจนาทีสุดท้ายที่จะขอระงับการเผยแพร่เอกสารที่เหลือออกไป ตามคำแนะนำของ FBI และ CIA เพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลตรวจสอบว่าเอกสารที่เหลือเหล่านี้เป็นอันตรายต่อการปฏิบัติการด้านข่าวกรอง ความมั่นคงของชาติหรือไม่

ส่วนเอกสารในคดีลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ กว่า 2,800 ฉบับ ได้ถูกนำมาเปิดเผยทางหน้าเว็บไซต์ของกองจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา…

ผ่านมาแล้ว 55 ปี ยังเป็นปริศนาค้างคาใจคนทั้งโลก…

แปลและเรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
https://www.ap.org/explore/jfk-assassination

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image