เรื่องของ‘สันดาน’ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

กรณีหนุ่มส่งเอกสารขับขี่รถจักรยานยนต์ชนเด็กนักเรียนหญิงบนทางเท้าใกล้ปากซอยลาดพร้าว 69 เขตวังทองหลาง กลายเป็นประเด็นที่วิจารณ์กันมากมาย นักเรียนหรือประชาชนแถวปากซอยดังกล่าวมักเห็นพวกมักง่ายขี่รถบนทางเท้ากันเป็นประจำ ยังไม่นับที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ เราจะเห็นจนชินตา เอาเร็วเข้าว่า เอาอะไรที่ง่ายๆ โดยไม่สนใจสิทธิของคนอื่น

หลายคนอาจเคยเจอบีบแตรขอทางด้วยซ้ำ ต้องหลบให้รถวิ่ง ราวกับเป็นถนนทางลัดของพวกนี้ ทางเท้าที่ว่าปลอดภัยที่สุด กลับเป็นจุดเสี่ยงที่อันตรายพอๆ กับบนท้องถนน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดแรงๆ ว่า ขับขี่บนทางเท้าก็ผิดกฎหมายแล้ว ส่วนการเบียดเบียนคนเดินที่ใช้ทางเท้าก็เอาเปรียบสังคม พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่อยากพูดว่าต้องแก้สันดาน สันดอนยังพอขุดได้ ต้องขัดเกลาด้วยจริยธรรม

เมื่อพูดกันถึง “สันดาน” กับ “สันดอน” และพูดเรื่อง “จริยธรรม” เป็นเรื่องที่คิดแทนหรือสำนึกแทนกันไม่ได้ อยู่ที่แต่ละบุคคล กทม.ได้ปรับเพิ่มอัตราค่าปรับผู้ขับขี่บนทางเท้าจากต่ำสุด 500 บาท เป็น 1,000 บาท แม้ผู้ว่าฯกทม.จะบอกว่าค่าปรับเดิมก็หนักแล้ว เข้าใจเรื่องปากท้องประชาชนส่วนใหญ่รายได้ไม่มาก แต่ก็ต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม.อ้างถึงที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการอย่างเข้มงวด ตามโครงการจับจริง ปรับจริง ยอดผู้กระทำผิดในรอบ 4 เดือน จับกว่า 10,000 ราย ได้เงินค่าปรับกว่า 4 ล้านบาท เชื่อว่าถ้าเพิ่มค่าปรับน่าจะแก้ปัญหาได้บ้าง

ยังมีอีกจำนวนมากที่พ้นหูพ้นตาเจ้าหน้าที่เทศกิจและตำรวจ ไม่นับกรณีขับขี่รถย้อนศรทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ไม่ยอม
ยูเทิร์นแต่ขอขับสวนเลน เบียดเป็นเลนพิเศษ หวังจะเข้าซอยแค่เอื้อมหรือเข้าปั๊มน้ำมัน ก็มีให้เห็น

วันเดียวกันที่นักเรียนหญิงถูกชนตรงจุดดังกล่าว ทีวีช่องอมรินทร์ตั้งกล้องทีวีแช่จับภาพช่วงกลางคืน ก็ยังมีรถจักรยานยนต์อีกนับสิบคัน ทั้งของวินและชาวบ้านทั่วไปขี่กันระรื่นบนทางเท้าอย่างคุ้นเคย บางจังหวะคนต้องเดินหลบให้

Advertisement

หลายคนแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์อย่างหลากหลาย บ้างก็อยากให้ปรับหนักกว่าเดิม บ้างก็อยากให้ยึดใบขับขี่ ยึดรถสักเดือน บ้างก็อยากให้ กทม.เอากล้องซีซีทีวีดักภาพแล้วปรับให้เข็ด และหลายคนก็ไม่อยากให้เป็นแค่วัวหายแล้วล้อมคอก

ไม่ว่าจะเสนออะไรออกมาก็ตาม คงต้องย้อนกลับไปที่คำพูดของผู้ว่าฯกทม.ที่ว่า จะจับปรับแค่ไหนก็ยังมีคนกระทำผิดวันยังค่ำ ต้องมาแก้กันเรื่องพฤติกรรมและจริยธรรม กรณีของน้องนักเรียนรายนี้ที่ถูกชนยังโชคดีในความโชคร้ายที่บาดเจ็บ ถ้าเป็นเคสของคนท้อง คนชรา และเด็กเล็ก อาจจะมีใครต้องมาสังเวยชีวิตหรือไม่

การเน้นย้ำสำนึกของทุกคนควบคู่ไปกับการใช้กฎระเบียบในสังคมตามที่รองผู้ว่าฯกทม.บอกว่า กำลังหารือใช้กล้อง
ซีซีทีวีที่ กทม.ติดตั้งไปทั่วพื้นที่แล้วกว่า 5 หมื่นตัวก็จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

ย้อนกลับไปเดือน พ.ย.57 นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กลุ่มหนึ่งเคยรณรงค์ทวงคืนทางเท้า ในชื่อโครงการ “รณรงค์ไม่ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า” มีการทำคลิปวิดีโอ “พบกันคนละครึ่งทาง” หากจะเอารถจักรยานยนต์ขึ้นทางเท้าก็ต้องเข็น นอกจากขับขี่ผิดที่ผิดทางเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ยังไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่ทุกคนที่เดิน ต่างอยู่ในที่ที่ควรจะปลอดภัย น้องๆ กลุ่มนี้ยังบอกว่าตอนไปถ่ายทำวิดีโอที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย ยังเจอพวกขี่บนทางเท้าไล่บีบแตรตลอดเวลา เพราะดันไปเกะกะพวกนี้?

สิ่งที่กลุ่มนิสิตเหล่านี้รณรงค์ไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ใครจะคิดว่าวันนี้จะเป็นเคสใหญ่ที่กล่าวกันมากมาย ที่ผ่านมาเคยเกิดอุบัติเหตุบนทางเท้าจากกรณีเดียวกันมาก่อนแล้ว แต่ไม่เป็นข่าวเท่ากับสมัยนี้ที่เผยแพร่ทางสังคมออนไลน์

ทั้งๆ ที่บนทางเท้าคนใช้เดิน ไม่ควรเกิดเรื่องแย่ๆ อย่างนี้แม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image