ความซับซ้อนของปัญหามอเตอร์ไซค์รับจ้าง : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขับขี่ขึ้นฟุตปาธแล้วไปชนเด็กนักเรียนซึ่งเดินอยู่ก่อให้เกิดกระแสดราม่าในหน้าสื่อ โดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างตกเป็นจำเลยของสังคมว่าฝ่าฝืนกฎหมาย และความผิดกฎหมายในระดับนี้เป็นสิ่งที่รุนแรง จนเกิดความพยายามในการเพิ่มโทษการขับขี่บนฟุตปาธ เปิดให้มีการแจ้งการกระทำผิดของมอเตอร์ไซค์รวมไปถึงการพยายามให้มอเตอร์ไซค์เข้ามามีส่วนเป็นหูเป็นตากับตำรวจ

คำถามสำคัญก็คือ ปัญหาเรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีปัญหาเรื่องของการฝ่าฝืนกฎหมายเหล่านี้จะหมดไปได้ไหม และปัญหาอะไรที่ใหญ่กว่านั้น

เรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยากว่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการคมนาคมขนส่งในเมือง โดยเฉพาะในกรณีของกรุงเทพฯ แต่ความสัมพันธ์ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับประชาชนในกรุงเทพฯนั้นก็เป็นความสัมพันธ์ประเภท Love-Hate คือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เลิกไม่ได้ แต่เต็มไปด้วยความตึงเครียดเหมือนกัน

ตัวเลขที่ได้ยินจากคำสัมภาษณ์ของนายกสมาคมมอเตอร์ไซค์รับจ้างชี้ว่า ตัวเลขมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯมีประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นคัน และขนส่งผู้คนประมาณสี่ถึงหกล้านคนต่อวัน

Advertisement

ขณะที่ตัวเลขด้านสุขภาพก็ชี้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้นมีปริมาณที่สูงมากต่อปี

เรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องเห็นจะเป็นเรื่องราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง (ทั้งที่โดยทั่วไปแล้วมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีทักษะในการขี่สูงกว่ามอเตอร์ไซค์ทั่วไปนะครับ แต่ที่มีอุบัติเหตุเยอะส่วนหนึ่งอาจเพราะว่ามีความถี่ในการเดินทางอยู่มาก)

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นฟุตปาธนั้นผิดแน่นอน แต่การขึ้นฟุตปาธของมอเตอร์ไซค์มันสะท้อนถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นหลายเรื่อง

Advertisement

เรื่องแรกคือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้นอาจขึ้นฟุตปาธด้วยความเร่งด่วนเพื่อไปรับผู้โดยสารที่รออยู่ที่วินรายต่อไป

เรื่องที่สองคือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างในหลายกรณีจำต้องขึ้นฟุตปาธเพราะต้องรีบทำเวลาไปส่งลูกค้า

เรื่องที่สามคือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างตั้งวินบนฟุตปาธเพราะไม่มีที่ตั้งวินตรงอื่น

ประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่มันก็สะท้อนให้เห็นเรื่องของปัญหาการออกแบบเมืองด้วย เราไม่มีเลนมอเตอร์ไซค์ การให้มอเตอร์ไซค์วิ่งซ้ายนั้นต้องไปเจอกับรถเมล์ และรถเลี้ยวซ้าย

บางครั้งการกลับรถก็ไกลมาก ไม่ทันกับเวลาของผู้โดยสาร

เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาหนึ่งที่เรามักละเลย กล่าวคือ เรามักชอบโทษปัญหารถติดว่าเกิดจากสองสามเรื่อง อาทิ การไม่บังคับใช้กฎหมาย คนใช้รถไม่มีสำนึกจราจรที่ดี และผังเมืองไม่ดี

แต่สิ่งที่ยังขาดไปอยู่มากคือ เราออกแบบเมืองและการขนส่งไม่ดีในระดับย่อยๆ ด้วย เช่น เราไม่มีเลนมอเตอร์ไซค์ ไม่เผื่อเลนให้มอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานและลอดอุโมงค์อย่างปลอดภัย เราปล่อยให้เจ้าของสำนักงานและห้างสรรพสินค้ากั้นทางบนถนนเพื่อให้รถบนตึกออกมาบนถนนทั้งที่การกระทำดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง และบางครั้งทำมากกว่าหนึ่งเลน เราออกแบบการขึ้นทางด่วนที่ทำให้รถใหญ่ขึ้นทุกเลนไม่ได้ แล้วก็ต้องเบียดเลน

รวมทั้งการมีซอยมากเกินไปที่ทำให้รถติดเพราะรถออกจากซอย

เรื่องต่อมาที่เราไม่ค่อยได้คิดกันก็คือ เราปล่อยให้การตั้งวินและจัดระเบียบวินเป็นของมาเฟีย (แม้ว่าปัจจุบันจะกล่าวกันว่ามาเฟียนั้นหมดไป เพราะมีทหารเข้ามาแก้ปัญหาให้ แต่ในอนาคตเมื่อทหารถอยออกไปเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นมาอีก) ตำรวจและเขต ทั้งที่เรื่องที่สำคัญที่เราละเลยก็คืออำนาจการจัดตั้งวินควรจะเกี่ยวพันกับคณะกรรมการชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องมาจากคนในพื้นที่เองที่ยึดโยงกับประชาชนและชุมชน

ประชาชนในพื้นที่ควรจะเป็นเจ้าของวิน และรู้รายละเอียดว่ามีใครขี่วินตรงนั้น คนเหล่านั้นเป็นคนในชุมชน หรือคนที่ไหนไม่รู้ที่ลงทะเบียนกับเขตและสถานีตำรวจในพื้นที่ที่ประชาชนไม่รู้เลยว่าผู้อำนวยการเขตเป็นใครมาจากไหน ผู้กำกับของตำรวจในพื้นที่เป็นใครมาและไปอย่างไร

ประชาชนในพื้นที่ควรจะต้องรู้และตัดสินใจได้ว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่ควรจะมีจำนวนแค่ไหน มีรายจ่ายอะไรบ้าง ค่าเสื้อวินใครเก็บ ความมั่งคั่งของรายได้จากวินจะถูกส่งกลับมาพัฒนาพื้นที่อย่างไร

นี่คือหัวใจของการทำให้เรื่องของมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นของชุมชน ท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นตรวจสอบได้ ประโยชน์ตกกับท้องถิ่นไม่ใช่ตกกับหน่วยงานท้องถิ่น

การปล่อยให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมาอ้างเอาเองว่าพวกเขามีส่วนร่วมในท้องถิ่น เพราะเป็นหูเป็นตาให้กับท้องถิ่น คอยให้บริการคนในท้องถิ่น แต่ขึ้นตรงกับหน่วยงานนอกชุมชน และชุมชนประเมินผลการทำงานไม่ได้ เว้นแต่จะอยู่ในลักษณะการร้องเรียนที่ไม่ค่อยจะแน่นอนว่าข้อร้องเรียนจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ข้ออ้างเหล่านี้เป็นการอ้างฝ่ายเดียวของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะประชาชนในท้องถิ่นก็ไม่เคยรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มีบ้านเรือนอยู่ในชุมชนไหม ถ้าเป็นคนนอกใครอนุญาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

รัฐและมอเตอร์ไซค์รับจ้างมักมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์กัน รัฐอ้างว่าจะจัดการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่แตกแถวและดึงพวกที่ไม่แตกแถวมาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ส่วนมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เรียกร้องการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐ ล่าสุด เช่น เรื่องของการขอสิทธิประโยชน์ด้านน้ำมัน เป็นต้น (ใครขอหรือใครอยากให้ก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง)

รวมไปถึงเวลาที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างทะเลาะกับแกร็บไบค์ มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะอ้างว่าพวกเขาถูกกฎหมาย และได้รับอนุญาติจากรัฐให้ดำเนินกิจการได้ ทั้งที่เรื่องราวส่วนใหญ่เห็นมาตลอดว่าประชาชนไม่ค่อยได้ประโยชน์ตรงมากนักจากความขัดแย้งระหว่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับแกร็บไบค์

ถ้าประชาชนไม่รวมตัวกันเป็นสมาคมพิทักษ์สิทธิในเรื่องของการรับบริการจากมอเตอร์ไซค์รับจ้างเสียบ้าง ดุลอำนาจและการผลักดันให้เกิดการเจรจาต่อรองที่เท่าเทียมและเป็นธรรมก็จะไม่เกิด

เป็นเรื่องประหลาดที่ความพยายามในเรื่องของการติดมิเตอร์ค่าโดยสารของมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่คืบหน้า ทั้งในระบบแบบเดียวกับแท็กซี่ หรือการใช้แอพพลิเคชั่น ขณะที่ของแท็กซี่ทำได้อย่างรวดเร็ว (ส่วนแท็กซี่จะได้ประโยชน์หรือเดือดร้อนมากขึ้นก็อีกเรื่องหนึ่ง)

อะไรคือปัญหาที่การผลักดันเรื่องนี้ไม่คืบหน้า? คำตอบจากรัฐไม่มี จากมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่มี จากสื่อก็ไม่มี

ในภาพรวมแล้ว การเกิดมอเตอร์ไซค์รับจ้างสะท้อนทั้งปัญหาในการพัฒนาเมืองและโอกาสในความร่วมมือกันของคนในเมือง เพราะที่แรกๆ นั้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเกิดจากการรวมตัวของชุมชนในการแก้ปัญหาที่ลูกหลานเขาต้องออกจากซอยลึกไปที่ถนนใหญ่ อาทิ กรณีของแฟลตทหารเรือย่านเย็นอากาศ-งามดูพลี

นอกจากนั้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างยังสะท้อนภาพของความซับซ้อนในการเชื่อมต่อในเมืองเพราะรูปแบบหลักของการจราจรขนส่งแบบสาธารณะทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์นั้นจะผ่านแต่จุดใหญ่ การเชื่อมต่อจากจุดใหญ่ไปสู่เครือข่ายถนนย่อยนั้นกระทำผ่านเครือข่ายมอเตอร์ไซค์และสองแถว หรือสามล้อถีบที่มีหลายรูปแบบ

ในอีกมุมหนึ่ง มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นการสร้างโอกาสและอาชีพในเมือง และแม้ว่ารายได้อาจจะไม่น้อยแต่ความมั่นคงและปลอดภัยก็ไม่ได้มีมากนัก พวกเขาต้องการระบบการคุ้มครองดูแลที่ดี เช่นเดียวกับแรงงานและผู้ประกอบการอื่น ไม่ใช่ต้องการสิทธิพิเศษที่รัฐต้องมอบให้เฉพาะกลุ่ม ในฐานะลูกน้อง พรรคพวก หรือฐานคะแนน ที่จะต้องตอบแทนกัน

ชุมชนไม่เข้มแข็ง ผู้บริโภคไม่ลุกขึ้นทวงสิทธิ ตัวมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่เห็นว่าตนเป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่มีสิทธิเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ประเด็นปัญหาเรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะไม่ได้รับการแก้ไขร่วมกันอย่างง่ายๆ ครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image