สัญญาณเตือนของอนาคต ที่ส่งผ่านมาจากอดีตกาล : โดย กล้า สมุทวณิช

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในเอกภพเดียวกัน บนพิกัดเดียวกับเราบนโลกมนุษย์ ช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าครึ่งหนึ่งของพุทธสมัยแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม ปีพุทธศักราช 2500

ยุคสมัยอันโลดโผนของเหล่าอัศวินแหวนเพชร กองกำลังส่วนตัวของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจผู้ค้ำบัลลังก์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดจนนักเลงอันธพาลรุ่นแดง ไบเล่ ปุ๊ ระเบิดขวด ดำ เอสโซ่ ที่เราอาจจะรู้จักตำนานเหล่านี้ผ่านภาพยนตร์อย่าง 2499 อันธพาลครองเมือง

ในยุคที่ตำรวจมีกองกำลังขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับทหาร มีทั้งตำรวจรถถัง รถหุ้มเกราะ และกองบินตำรวจ เหมือนเป็นอีกกองทัพหนึ่ง ข้อมูลจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” (A History of Thailand) โดย คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร บอกว่าในขณะนั้นตำรวจมีกำลังถึง 48,000 นาย ส่วนทหารมีเพียง 45,000 ซึ่งเรียกได้ว่าสูสีกัน

อำนาจของตำรวจในยุคนั้น เป็นที่มาของศัพท์การเมืองที่ล้าสมัยหรือเป็นอดีตไปแล้ว เช่น การ “พาไปบางเขน” ซึ่งมาจากการสังหารอดีตสี่รัฐมนตรีที่ย่านบางเขนโดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเครื่องแบบและในขณะปฏิบัติราชการ โดยอ้างกันดื้อๆ ว่าเกิดจากการต่อสู้กับคนร้ายโจรมลายูที่จะมาชิงตัวผู้ต้องหา สถานที่เกิดเหตุมีผู้เทียบว่าอยู่ประมาณแยกรัชโยธินใกล้ถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน

Advertisement

อาจกล่าวได้ว่ายุคนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากการรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ในปี 2490 และสิ้นสุดลงด้วยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 หลังเหตุการณ์ที่อาจจะถือว่าเป็นจุดจบของการสิ้นยุค คือการเลือกตั้งกึ่งพุทธกาล

ตามสมมุติฐานในหนังสือที่เพิ่งอ้างนั้น จอมพล ป.นั้นให้มีการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยมีเจตนาภายในเพื่อการคานอำนาจของทุนและกองกำลังทางทหารและตำรวจ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเหมือน “ฐานอำนาจ” ที่แข็งแกร่ง แต่ก็ไม่อาจจะไว้ใจได้เสียทีเดียว

ดังได้กล่าวไปในคอลัมน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ฐานที่มาแห่งอำนาจทางการเมืองที่แข็งแกร่งและชอบธรรมที่สุด คือการได้ชื่อว่ามีที่มาจากฉันทามติหรือความเห็นชอบจากเสียงของประชาชน ท่านจอมพลจึงเริ่มชิมลางให้มีการ “ไฮด์ปาร์ก” หรือการปราศรัยทางการเมืองโดยเสรีที่ท้องสนามหลวง เพื่อปลุกบรรยากาศทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

Advertisement

เป็นเวลาร่วมสองปี จึงให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่เป็นการชิงชัยระหว่าง “พรรครัฐบาล” คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. และพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนาย (หรือพันตรี) ควง อภัยวงศ์

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งดังกล่าวได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ (แต่มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยได้ให้น้ำหนักเรื่องนี้แบบก้ำกึ่ง ด้วยการใช้คำว่า “ถูกกล่าวหาว่าทุจริตการเลือกตั้ง”)

โดยการ “โกง” ของพรรครัฐบาลนั้นหากมองด้วยแว่นตาของยุคสมัยปัจจุบันนั้นอาจเรียกว่าเป็นการ “โกงแบบดิบเถื่อน” ตรงไปตรงมา เช่น การใช้บรรดานักเลงอันธพาลซึ่งเป็นเหมือนกองกำลังด้านมืดของผู้มีอำนาจไปข่มขู่ประชาชน หัวคะแนน และผู้สมัคร รวมถึงใช้กลไกของราชการ ด้วยอำนาจและอิทธิพลบีบบังคับให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนต้องช่วยพรรครัฐบาลอย่างเต็มกำลัง แต่ที่เป็นตำนาน คือการใช้ “พลร่ม” และ “ไพ่ไฟ” ในการเพิ่มคะแนนให้พรรครัฐบาล

“พลร่ม” นั้นได้แก่ การย้ายผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นหัวคะแนนของรัฐบาลมาจากเขตอื่น ซึ่งมีทั้งด้วยวิธีการย้ายชื่อลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายรัฐบาล มาไว้ในสถานประกอบการนั้นทั้งหมด เพื่อให้เป็น “ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง” ในเขตที่กำหนดไว้ หรือในเขตไหนที่มีหน่วยกองกำลังทหารหรือหน่วยราชการ ก็ชี้ให้กองพลหรือข้าราชการออกเสียงเลือกตั้งแบบซ้ายหันขวาหันได้

ส่วน “ไพ่ไฟ” นั้นเป็นการโกงการเลือกตั้งแบบกำปั้นทุบดินยิ่งกว่า คือ เตรียมบัตรเลือกตั้งที่กาลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว เทหรือยัดลงในหีบเลือกตั้งเสียดื้อๆ ในตอนที่ไม่มีใครเห็น หรือในตอนที่ปิดหีบไปแล้ว หรือที่ยังเกรงใจอยู่บ้าง ก็ใช้วิธีการเวียนเทียน ให้คนที่ลงคะแนนไปแล้วกลับมาลงคะแนนได้อีก กล่าวกันว่าบัตรเลือกตั้งในบางหน่วยมีจำนวนมากกว่าผู้มีสิทธิในหน่วยนั้นเสียอีก

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. ชนะการเลือกตั้งไป 85 จาก 160 ที่นั่ง ชนะพรรคที่ได้ที่สอง คือพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ 31 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นพรรคอื่นๆ รวมกันได้ 75 ที่นั่ง

แม้จะชนะการเลือกตั้ง แทนที่จอมพล ป. จะกระชับอำนาจได้สมใจด้วยฐานความชอบธรรมว่ามาจากเสียงของประชาชน กลายเป็นคะแนนนิยมตกต่ำลงเหมือนร่วงลงสู่หุบเหวแห่งความไม่ไว้วางใจ มีการต่อต้านโดยนิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปสู่การเดินขบวนประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในวันที่ 2 มีนาคม ปีเดียวกัน

เหตุการณ์นี้ทำให้บุรุษผู้หนึ่งฉายแสงแห่งบารมีขึ้น ผู้ประกาศว่าทหารนั้นเป็นพวกเดียวกับประชาชน และเปิดทางให้มวลชนเข้าเจรจากับนายกรัฐมนตรี

อัศวินม้าขาวหรือวีรบุรุษท่านที่ว่า คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้ทำรัฐประหารจอมพล ป. ลงในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ที่อาจถือเป็นการเริ่มยุคต่อมาของการเมืองไทย ซึ่งกินระยะเวลายาวนานเกือบ 16 ปี จนมาถึงจุดพลิกผันสั้นๆ ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 และกินยาวต่อมาจนคลี่คลายลงเป็นระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่ทางฝ่ายทหารค่อยๆ ปล่อยรามือลงเรื่อยๆ มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอกที่มีความสัมพันธ์กับทางกองทัพ ยุคสมัยนี้จบลงเมื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวว่า “ผมพอแล้ว” ในปี 2531

ประวัติศาสตร์การเมืองหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยแบบครึ่งใบมาเป็นเต็มใบขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษที่ 30 แม้จะมีการกลับเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองสั้นๆ ของฝ่ายกองทัพในปี 2534-2535 แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจด้วยกองกำลังติดอาวุธรู้ว่า การสืบทอดอำนาจแบบยึดแล้วนั่งยาวส่งผ่านอำนาจกันตามใจชอบแบบคนนี้ไม่เอาสละเก้าอี้ให้คนโน้นเช่นในยุคของท่านจอมพลนั้นจบไปแล้ว

การปฏิรูปการเมืองในปี 2540 ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมั่นคงขึ้น แม้ในภายหลังจะมีการรัฐประหารในปี 2549 ก็ยังเป็นการเข้ามาแทรกแซงแบบ 2534 โมเดล คือการเข้าสู่อำนาจระยะสั้น เพื่อกดปุ่มรีเซตขั้วอำนาจ ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีการเลือกตั้ง ก่อนที่จะพบว่าการกดปุ่มสลายอำนาจของฝ่ายการเมืองที่ไม่ชอบใจนั้นไม่อาจทำได้โดยง่าย ก่อนจะเกิดการรัฐประหารในครั้งล่าสุด และกินยาวมาจนถึงปัจจุบันในปี 2557

โดยระบอบรัฐประหารในรอบนี้ ก็มีวิวัฒนาการในแบบของมันเองที่ผู้กระทำการยึดอำนาจนั้นเลือกจะนั่งบนเก้าอี้ผู้บริหารประเทศสูงสุดด้วยตัวเอง มีการใช้อำนาจทั้งผ่านกลไกทางอำนาจแบบปกติ ผ่านสถาบันนิติบัญญัติและบริหาร และการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จที่หุ้มห่อความชอบด้วยกฎหมาย นั่นเป็นการปรับตัวประการสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบรัฐประหารในปัจจุบัน ที่ตระหนักว่าการใช้อำนาจห้วนๆ ด้วยอำนาจในทางความเป็นจริงจากกำลังและอาวุธนั้นกระทำไม่ได้โดยง่ายเสียแล้วในโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องหาความชอบธรรมทาง “กฎหมาย” มาหุ้มห่อไว้ และนอกจากนั้น การครองอำนาจที่ยั่งยืนก็ต้องอาศัยการยอมรับของประชาชนแม้สักส่วนหนึ่ง และพอจะมีความเกรงใจในกระแสความนิยมในระดับหนึ่ง

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้เอง การนั่งยาวอย่างสมัยท่านจอมพลโดยอำนาจพิเศษนั้นยากที่กระทำได้ ไม่ว่าด้วยจุดประสงค์หรือเจตนาใด การที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปในระยะยาว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียกขอฐานอำนาจจากความเห็นชอบหรือฉันทามติของประชาชน ผ่านกระบวนการการเลือกตั้งทั่วไป และสภาผู้แทนราษฎรที่มีที่มาจากประชาชน ซึ่งไม่ว่าจะเลื่อนขึงดึงไว้สักกี่ครั้ง มันก็จะต้องเกิดขึ้นโดยแน่แท้

ข้อความหนึ่งซึ่งผู้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ Auschwitz-Birkenau อดีตค่ายกักกันและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีจะต้องได้เห็นด้วยป้ายนั้นถูกติดเด่น คือข้อความว่า “ผู้ใดไม่รู้จดจำประวัติศาสตร์ ท่านก็อาจมีวันพลันซ้ำรอย” (The one who does not remember history is bound to live through it again.)

แม้ว่าการเลือกตั้งสกปรกในครั้งกึ่งพุทธกาลนั้นคงจะไม่ย้อนคืนมาแบบตรงไปตรงมา กลโกงแบบพลร่ม ไพ่ไฟนั้นยากที่จะทำได้ด้วยการจับตามองของประชาชนผู้ตื่นรู้ทางการเมือง ที่หากทำเรื่องอะไรผิดปกติระดับนั้นจะให้ผู้คนเงียบนั้นก็ยาก ส่วนการใช้อิทธิพลในทางเชิงอำนาจราชการนั้นอาจจะมีบ้าง แต่ก็ไม่อาจกระทำได้โจ๋งครึ่มจนเกินไป

แต่กระนั้นก็หมายความว่า หากจะมีการโกงหรือบิดเบือนผลการเลือกตั้งแล้ว ก็น่าจะต้องใช้วิธีที่ละเอียดลออแยบคาย และก้ำกึ่งฟันธงว่าโกงหรือตุกติกได้ยาก เช่น ใช้เทคโนโลยีของฝรั่งต่างชาติ อย่างการทำ Gerrymandering ที่เล่ากันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือการใช้กลไกทางกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ หรือการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่บังคับว่าเป็นความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเอาเปรียบคู่แข่งกันดื้อๆ

ประวัติศาสตร์จะกลับมาเล่นซ้ำย้อนคืนอย่างไรเป็นเรื่องที่ยากต่อการคาดเดา หากสิ่งที่เสียงแห่งอดีตกาลจะร้องเตือนมา จากห้วงเวลาอันไกลโพ้น พยากรณ์ให้เราหลีกเลี่ยงอนาคตอันจมปลักที่เราอาจจะต้องจดจำกันให้ดี หากไม่อยากหมุนซ้ำในกำกงทรงจำของทรงจำ

ข้อความจาก 60 ปีที่แล้ว อาจจะบอกเราว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงอย่าไว้ใจอัศวินม้าขาว หรือวีรบุรุษที่ไหน หากเขาไม่ได้เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการอันชอบธรรม

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image