3 ยุคสมัย”การสาธารณสุขไทย” โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการดูแลด้านสุขภาพของประชาชนคนไทยอย่างต่อเนื่องร่วม 100 ปี จากงานโรคติดต่อ โรคระบาดรุนแรง พัฒนาระบบงานมาสู่งาน “สาธารณสุขมูลฐาน” มีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่ร่วมผลักดัน ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์หมอฝน แสงสิงแก้ว อาจารย์หมอประเมิน จันทร์วิมล อาจารย์หมอกำธร สุวรรณกิจ อาจารย์หมอสมบูรณ์ วัชโรทัย อาจารย์หมอประกอบ ตู้จินดา อาจารย์หมออมร นนทสุต และท่านอื่นๆ ที่ไม่อาจกล่าวถึงได้ทั้งหมด

โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล “Patient Oriented” ได้รับการแปลงพัฒนาลงมาสู่งานชุมชน “Community Oriented” หรือเรียกอีกอย่างว่า “Academic base to Community base” จากงานดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น สู่งานบริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Care to Primary Health Care) ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เรียกว่า “หมออนามัย” และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health For All) มาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี (Quality of life) ด้วยกระบวนการสำรวจ จปฐ.(ความจำเป็นพื้นฐาน)

จากการเปลี่ยนแปลงตามภาวะกระแสโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยได้ริเริ่มมีแผนพัฒนาสุขภาพ หรือสาธารณสุขแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) ถึงฉบับที่ 11 (2555-2559) ในปัจจุบัน และในปี พ.ศ.2560-2564 จะเข้าสู่แผนฉบับที่ 12 แล้ว การปฏิรูปสุขภาพของไทยในปัจจุบันมุ่งเน้นมาสู่ “การสร้างสุขภาพแนวใหม่” (Paradigm of New Health Promotion era) โดยน้อมนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการพัฒนา “สุขภาพ” ของคนไทย ทั้งระบบทุกมิติ โดยบูรณาการทุกพื้นที่ ทุกภาคีเครือข่ายด้วยวิถีไทย ทุกรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

หากผู้เขียนแบ่งยุคสมัย โดยอิงระบบบริการตามภารกิจต่างๆ แบ่งเป็น “ยุคสมัย” ผนวกกับแผนการสาธารณสุขแห่งชาติฉบับที่ 1-11 ซึ่งเรามีภารกิจที่เป็น “แก่นชัดเจน” คือ ยุคโรคระบาด โรคติดต่อ ยุคงานสาธารณสุขมูลฐาน และยุคสร้างสุขภาพแนวใหม่ เพื่อให้กระชับและเข้าใจตรงกันใน…ระบบบริการ เนื้อหา และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตามพัฒนาการสาธารณสุขของกระแสโลก โดยเฉพาะ…”องค์การอนามัยโลก” (World Health Organization : WHO) ซึ่งเป็นองค์กรหลักของโลกด้านสุขภาพ โดยแบ่ง3 ยุค กล่าวคือ

Advertisement

ยุคที่ 1 : ยุคโรคระบาด โรคติดต่อ (พ.ศ.2461-2520) : Paradigm of Communicable Diseases era

กระทรวงสาธารณสุขได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2461 นับเป็นเวลา 94 ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็น “อธิบดีสาธารณสุข” คนแรก และได้เริ่มงานสาธารณสุขมูลฐานมา 60 ปี ตั้งแต่ยุค “นายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัย” อดีตอธิบดีกรมอนามัยและกรมควบคุมโรคติดต่อ เป็นผู้จุดประกาย “แสงเทียนเล่มแรกเพื่อสุขภาพดีถ้วนหน้า” ก่อนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะมีการประชุมงานสาธารณสุขมูลฐานที่เมือง Almata ประเทศรัสเซีย ปี พ.ศ.2519 และก่อนแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) มีการสั่งการจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค (Top down) ถึงปี 2520 ขณะนั้นโรคระบาดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคอุจจาระร่วง โรคโปลิโอ บาดทะยัก อัตราตายแม่และเด็กสูง อัตราการเพิ่มประชากรสูง (ลูกมาก) โรคติดต่อในระบบบริการสาธารณสุข รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานส่งเสริมสุขภาพใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มเด็กวัยเรียน และขยายเพิ่มขึ้นจนครอบคลุม ทุกกลุ่มอายุ

ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510-2514) มีนโยบายประชากร ประกาศงานวางแผนครอบครัวเป็นนโยบายแห่งชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2513 ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม รณรงค์ “มีลูกมากยากจน” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 3 (พ.ศ.2515-2519) เน้นงานอนามัยแม่และเด็ก และงานวางแผนครอบครัว ควบคุมโรคติดต่อและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อลดอัตราการตายแม่และเด็ก และรณรงค์วางแผนครอบครัวทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข เน้นการวางแผนครอบครัวชั่วคราว กึ่งถาวร และการวางแผนแบบถาวร และเริ่มมีการดูแลสิ่งแวดล้อมด้านน้ำดื่ม น้ำใช้ ขยะ และสิ่งปฏิกูลมากขึ้น

Advertisement

งานรากฐานและการบริการ

ในปี 2511 สถานบริการระดับล่างสุด ใช้ชื่อ “สำนักงานผดุงครรภ์” เพื่อให้บริการขั้นพื้นฐาน นอกจากโรคติดต่อแล้ว รัฐบาลขณะนั้นเน้นเรื่องการดูแลอนามัยแม่และเด็ก โดยส่งบุคลากรไปอบรมผดุงครรภ์ 6 เดือน เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์กลับมาดูแลการคลอดบุตร… “อนามัยแม่และเด็ก” อย่างถูกวิธี เพื่อลดอัตราตายของแม่และเด็ก และมีการรณรงค์ว่า “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย”

ในปี 2517 ใช้ชื่อ “สุขศาลา” เพื่อดูแลผู้เจ็บป่วยเล็กน้อย รักษาพยาบาลเบื้องต้น ฉีดวัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค ปลูกฝี ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน โปลิโอ บาดทะยัก

ในปี 2518 รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศนโยบาย “รักษาฟรี ผู้มีรายได้น้อย” เป็นครั้งแรกเพื่อแก้ปัญหาการเจ็บป่วย และให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น

ยุคที่ 2 ยุคงานสาธารณสุขมูลฐาน (พ.ศ.2521-2545) : Paradigm of Primary Health Care era

อาจารย์นายแพทย์อมร นนทสุต ได้ประชุมร่วมกับองค์การอนามัยโลกที่ Alma-Ata ประเทศรัสเซีย เรื่องงานสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ปี 2519 เริ่มนำงานสาธารณสุขมูลฐานมาใช้ในประเทศไทยในปี 2521 (แผนพัฒนาฯฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524) เป็นต้นมา และมีประกาศนโยบายให้ประเทศไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ปี 2543 (ค.ศ.2000) นอกจากอบรม ผสส./อสม. ทั่วประเทศแล้ว ยังมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ ในชุมชน เช่น กองทุนอนามัยแม่และเด็กกองทุนโภชนาการ กองทุนสุขาภิบาล กองทุนยาฯ เน้นรูปแบบการบริหารจัดการด้วย “3ก” กรรมการ การจัดการ กองทุน เริ่มงานครั้งแรก มี 8 เรื่อง คือ NEWSITEM (Nutrition, Education, Water supply, Sanitation, Immunization, Treatment, Essential Drug, Maternal and child health) และเพิ่มงานต่างๆ เช่น ทันตสาธารณสุข จิตเวช คุ้มครองผู้บริโภค จนครบ 16 เรื่อง

นอกจากนี้ ปี 2527 กำหนดเป็นปี “สาธารณสุขมูลฐานแห่งชาติ” ประกาศสู่เป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้าปี 2543 ปี พ.ศ.2528-2530 กำหนดให้เป็นปี “แห่งการรณรงค์คุณภาพชีวิตแห่งชาติ” มีขบวนการพัฒนาจากล่างสู่บน (Bottom up) โดยใช้เครื่องมือ “จปฐ.” เป็นเครื่องมือสำรวจบ้านชุมชนในการพัฒนาระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ อย่างเป็นระบบเพื่อให้คนไทยมี “คุณภาพชีวิตที่ดี”

แผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) เป็นแผนที่เน้น “คน” เป็นศูนย์กลางการพัฒนา น้อมนำ “เศรษฐกิจ พอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตะวันตกเป็นจุดมุ่งหมายหลัก ให้มีการดูแลทุกกลุ่มอายุ (People Oriented) กลุ่มแม่และเด็ก วัยเรียน เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ดูแลสิ่งแวดล้อมทุกสถานที่ (Place Oriented = Setting) ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน รวมการมีส่วนร่วม (Partnership) เป็นช่วงเริ่มต้นในการนำเอาการส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ ตาม Ottawa Charter มาดำเนินการ ขณะนั้นประเทศเริ่มมีองค์กรเกิดขึ้นมาใหม่ คือสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ “สสส.” และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “สปสช.” และเริ่มมีหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคปี 2544

ปี 2527 : สถานบริการระดับล่างสุด เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีอนามัย” ให้บริการรักษาคนไข้ “เจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน” ง่ายๆ ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอ) และโรงพยาบาลจังหวัด ปี 2535 : เป็นปีเริ่มต้น “ทศวรรษแห่งการพัฒนาสถานีอนามัย” ในช่วง 10 ปี มีการพัฒนาปรับสถานีอนามัยขนาดใหญ่ รณรงค์ทำความสะอาด ทาสี จัดระบบงานธุรการ สารบัญ และแฟ้มระบบดูแลสุขภาพครอบครัว และตามกลุ่มอายุ

รวมถึงมีการสร้างสถานีอนามัยขนาดใหญ่ และยกระดับสถานีอนามัย จังหวัดละ 1 แห่ง 75 จังหวัด เป็นสถานีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี

ยุคที่ 3 : ยุคส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ (ปี 2546 ถึงปัจจุบัน) : Paradigm of New Health Promotion era

เป็นช่วงเริ่มเข้าสู่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) นอกจากดู “คน” เป็นศูนย์กลางแล้ว ยังมีการดูแลแบบองค์รวม ครบ 4 มิติ กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ นอกจากนี้ ยังได้น้อมนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” นำทางการพัฒนาสุขภาพคนไทยทั้งระบบอย่างบูรณาการด้วยวิถีไทยเป็นต้นมา

ปัญหาสุขภาพในยุคนี้จะเป็นเรื่องโรคไม่ติดต่อส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ ขาดการออกกำลังกาย อาหารกินไม่ถูกต้อง อารมณ์เครียด ภาวะอ้วน เสพเหล้า บุหรี่ และยาเสพติดเป็นหลัก โรคที่พบ ได้แก่ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต โรคไตวาย โรคจิต โรคมะเร็ง และที่สำคัญคือ อุบัติเหตุ อุบัติภัย และ Emerging Disease ที่พบใหม่ๆ แปลกๆ ได้ ที่พบนั้น เช่น ไข้หวัดนก ซาร์ส และวินาศภัยต่างๆ เช่น คลื่นสึนามิ แผ่นดินไหว ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น

ปี 2544 : รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้เริ่มนโยบาย “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาท รักษาทุกโรค” มาใช้ โดยเริ่มต้น ที่โรงพยาบาลทั่วไป 6 แห่ง ได้รับการตอบรับอย่างมาก ส่งผลให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล เข้าสู่ภาวการณ์ “ติดกับดัก” เรื่อง “การรักษา” หรือ “การซ่อมสุขภาพ” เพราะประชาชนจะมุ่งไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาและรับยา รัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดกับดัก โดยการริเริ่ม “งานสร้างสุขภาพ” โดยประกาศรณรงค์การสร้างสุขภาพทั่วประเทศ เน้น “สร้างสุขภาพนำซ่อมสุขภาพ” ในรูปแบบการรณรงค์ “คนไทยแข็งแรง เมืองไทยแข็งแรง” หรือ “Healthy Thailand”

งานฐานรากและการบริการ

ปี 2546 : สถานบริการระดับล่างสุด ยกระดับจากสถานีอนามัยเป็น “ศูนย์สุขภาพชุมชน” หรือ PCU (Primary Care Unit) มีการแบ่งระบบบริการสุขภาพตามลำดับความสามารถ เป็นปฐมภูมิ (Primary Care Unit) ทุติยภูมิ (Secondary Care Unit) และตติยภูมิ (Tertiary Care Unit) เป็นการพัฒนางานบริการเชิงระบบเครือข่ายและการส่งต่อเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ

ปี 2553 : ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ “สถานีอนามัย” ทั่วประเทศ ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งในคำจำกัดความที่ชาวสาธารณสุขต้องตระหนักคือ สถานบริการซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เน้น “การสร้างเสริมสุขภาพ” เป็นหลัก ส่วนงานรักษาพยาบาลนั้น ยังต้องดำเนินการทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ โดยเฉพาะงาน Home Health Care ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้พิการที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

จะเห็นว่า 3 ยุคสมัยที่ผ่านมา ด้วยคุณงามความดีของ “แพทย์รุ่นอาจารย์” ของเรา ซึ่งเป็น “ปูชนียบุคคล” ได้ธำรงรักษาและพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างจริงจัง ตั้งใจ เสียสละอย่างต่อเนื่องตลอดมา ยังผลให้สุขภาพของคนไทยในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยดูจากตัวชี้วัดอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (Life expectancy rate at birth) ของคนไทยเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ขณะนี้คนไทยผู้หญิงอายุขัยเฉลี่ย 76.9 ปี ผู้ชาย 69.9 ปี (สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับปีที่ 25 มกราคม 2559) เชื่อว่าในปี 2565 คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 80 ในภาพรวมของประเทศ…หญิงชายไทยสุขภาพแข็งแรงทั้งกาย ใจ ไม่ป่วย ไม่ไข้ แก่ช้า ตายช้า อายุยืนและมี “คุณภาพชีวิตที่ดี” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image