บทนำ..แก้ประกาศป.ป.ช.

ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่ง ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการต่างๆ ลาออกจำนวนมาก อ้างว่า ทำให้เสียเวลา ไม่คุ้มค่า และยังอาจเป็นคดีได้อีก ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าว และได้ยืดการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวออกไปถึงวันที่ 31 ม.ค.2562 ขณะที่มีเสียงวิจารณ์ว่า หากสังคมไทยต้องการความโปร่งใส สุจริต ก็ควรจะเดินหน้า แทนที่มุ่งหน้าตรวจสอบเฉพาะนักการเมือง ข้าราชการการเมือง เพราะที่ผ่านมา พบว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการต่างๆ เกิดขึ้นมากไม่แพ้หรืออาจจะมากกว่านักการเมือง หรือข้าราชการการเมือง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า ป.ป.ช.รู้ปัญหาหมดแล้ว และไปคิดว่าจะออกประกาศอย่างไร ซึ่งมีหลายทางออก จะดูว่าทางไหนดีที่สุดและยืนอยู่บนหลักธรรมาภิบาล คือ ตำแหน่งที่สุ่มเสี่ยงจะต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ต้องเข้าใจว่า แม้บางตำแหน่งจะไม่ต้องยื่น ก็ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่ง ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบได้อยู่ดี ป.ป.ช.จะดูว่าตำแหน่งใดที่สุ่มเสี่ยง มีโอกาสทำให้เกิดปัญหา แต่ที่แล้วมาไม่ได้ดู กวาดไปหมดทุกตำแหน่ง ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าอาจจะมีการยกเลิกบางตำแหน่งที่อยู่ในประกาศ ป.ป.ช. ให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว นายวิษณุกล่าวว่า ถูกต้อง เป็นไปได้ ตรงนี้เป็นข้อเสนอของ ป.ป.ช.เอง ไม่มีใครไปบังคับอะไรทั้งนั้น

ที่ผ่านมา สังคมไทยมีปัญหาเรื่องสองมาตรฐานรวมถึงในการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น มักพุ่งเป้าไปที่นักการเมือง แต่ผ่อนปรนหากแนบแน่นกับขั้วอำนาจ ส่วนข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจมักไม่กล้าแตะต้อง ดังที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ การให้บุคคลต่างๆ แสดงทรัพย์สินหนี้สินเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสทั้งระบบ แต่กลับถูกต่อต้านอย่างหนัก จากบุคคลในแวดวงรัฐบาลเองด้วย ทำให้ ป.ป.ช.ต้องยืดเวลาบังคับใช้ระเบียบและอาจจะต้องแก้ไขระเบียบ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปราบ
ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังยังคงอยู่อีกไกล และมีแนวโน้มที่จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองดังที่เป็นมาตลอดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image