มงคลเมือง 5 : โดย ทวี ผลสมภพ

ขอย้อนกลับไปพูดถึงความหมายของคำว่ามงคลเมือง เพื่อให้ความต่อเนื่องกัน กับมงคลเมือง 5 คำว่ามงคลเมือง หมายถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่เขาวงพระจันทร์ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่งสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จมา มีนามว่าเขาสัจพันธ์ แต่พระพุทธบาทที่ลพบุรีต้องถูกลืมไป แล้วถูกอ้างไปที่สระบุรี ก็เพราะพระเจ้าทรงธรรมเข้าใจผิด ตรงที่เมื่อพรานบุญพาพระองค์ไปทอดพระเนตรหลุมมหัศจรรย์บนยอดเขาวงพระจันทร์แล้ว ไม่พบลายวิจิตร 108 มีจักรรัตนะกลางฝ่าพระบาท เป็นต้น จึงสงสัยไม่เชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง พระองค์จึงไปสร้างรอยพระพุทธบาทใหม่ มีลายวิจิตร 108 ครบ ที่สระบุรี ความเป็นมงคลเมืองของเมืองลพบุรีจึงหายไป และกลับกลายเป็นเมืองของฮินดูในเรื่องรามเกียรติ์ เพราะเจตนาของขอม นำลิงมาเลี้ยงที่ศาลพระกาฬ เพื่อให้คนคิดว่าเป็นทหารพระราม คนจะได้เชื่อสนิทใจว่าลพบุรีเป็นเมืองพระรามจริงๆ

นี่คือแผนทำลายเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ให้เป็นเมืองของฮินดู ซึ่งแผนดังกล่าวพวกพราหมณ์ทำสำเร็จแล้วที่อินเดีย จนทุกวันนี้ชาวอินเดียวรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ และวรรณะพ่อค้า ต่างก็ภาวนาแต่คำว่าสีดารามๆๆๆๆ แต่เชื่อว่าทุกวันนี้ พวกศูทรและจัณฑาล อันเป็นคนส่วนใหญ่ของอินเดีย เขาเปลี่ยนไปนับถือพุทธแล้ว เพราะขืนอยู่นับถือฮินดู เขาก็ถูกหยามเหยียดเป็นเหมือนเขาไม่ใช่คน

หลักฐานการเปลี่ยนแปลงเห็นได้ ขณะนี้คือ นายนเรนทรา โมตี นายกฯอินเดีย เป็นคนวรรณะศูทร ได้เป็นนายกฯจากการชนะการเลือกตั้ง การเขียนเรื่องรามเกียรติ์ของฤษี วารมิกิ เพื่อทำลายศาสนาพุทธในอินเดีย กำลังจะหมดความขลัง เมื่อชนวรรณะศูทรและจัณฑาล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศรวมตัวกันได้เพราะการเมือง ต่างจะหันไปนับถือศาสนาพุทธเหมือนเดิม เพราะขณะนี้ มีคลิปชาวฮินดู ในอุตรประเทศของอินเดีย ประกาศปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ ว่อนไปทั่วโลก

เรื่องรามเกียรติ์โดยเฉพาะยักษ์กกขนากที่พระรามมาปราบ ที่พวกขอมสร้างเรื่องขึ้น เพื่อทำลายมงคลเมืองที่ลพบุรี คือรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับไว้ที่เขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี ก็กำลังจะถูกเปิดเผย ความจริงรอยพระพุทธบาทองค์จริงที่ลพบุรี ได้ถูกเปิดเผยมาแล้วเมื่อปี 2496 โดยหลวงพ่อโอภาสี ได้บอกความจริงนี้แก่เจ้าอาวาสองค์เก่า คือ พระภาวนาวิกรม ว่ารอยพระพุทธบาทองค์จริงอยู่ที่เขาวงพระจันทร์ แต่เจ้าอาวาสท่านไม่กล้าเปิดเผย เพราะหาหลักฐานไม่ได้ บัดนี้รอยพระพุทธบาทองค์จริงที่ลพบุรีเปิดเผยแล้ว โดยภาพถ่าย พร้อมหลักฐานความน่าสงสัยว่า หนึ่ง ทำไมประวัติรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี จึงเหมือนกันกับลพบุรี สอง ความผิดพลาดที่กล่าวไว้ในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา สาม รอยพระบาททั้งสองแห่งแตกต่างกัน คือรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรี เหมือนรอยเท้าคนธรรมดาที่เท้าเปื้อนแล้วเหยียบลงบนพื้น รอยเปื้อนจึงปรากฏที่พื้น

Advertisement

ส่วนพระพุทธบาทที่สระบุรี เห็นชัดว่าไม่ใช่รอยพระบาท แต่เป็นพระบาทจำลองที่สร้างด้วยทองคำ ความสงสัยดังกล่าวชวนให้หาความจริง ซึ่งในมงคลเมือง 5 นี้ จะได้พูดถึงประเด็นนี้ต่อไป

รอยพระพุทธบาทที่ลพบุรี ตรงกับลักษณะของมหาบุรุษที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่ามหาปุริสลักขณะของพระพุทธเจ้า 32 ประการ ที่ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกที่ชื่อ พระสูตรและอรรถกถา เล่ม 16 หน้า 7 ว่า หนึ่ง พวกพราหมณ์ผู้ทำนายพระลักษณะประชุมกันแล้ว พยากรณ์ว่า พระราชกุมาร มีพื้นพระบาท ราบเรียบเสมอกัน ถ้าครองฆราวาส จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จะเป็นพระพุทธเจ้า สอง พวกพราหมณ์ผู้ทำนายพระลักษณะประชุมกันแล้ว พยากรณ์ว่า ใต้พื้นพระบาทของพระกุมาร มีจักรแก้วเกิดขึ้น กลางฝ่าพระบาท ถ้าพระองค์ครองฆราวาส จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า สาม พวกพราหมณ์ผู้ทำนายพระลักษณะ ประชุมกันแล้ว พยากรณ์ว่า พระกุมารมีพระองคุลียาว เสมอกัน ถ้าอยู่ครองฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ในพระลักษณะดังกล่าวมานั้น

ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ ในพระลักษณะที่หนึ่งนั้น เราจะเห็นรอยเปื้อนพระบาทที่ลพบุรี เต็มพื้นพระบาท แต่ถ้าเป็นคนธรรมดา ฝ่าเท้าจะแหว่ง เวลาเหยียบพื้น รอยเปื้อนหรือรอยน้ำ จะแหว่งไม่เต็มฝ่าเท้า ข้อสอง จะไม่ปรากฏลายจักรแก้วกลางฝ่าพระบาท สามพระองคุลีทั้งพระหัตถ์และพระบาทยาวเสมอกัน คือมีนิ้วมือยาวเท่ากันสี่นิ้ว ส่วนนิ้วโป้งสั้นกว่านิ้วอื่นๆ ส่วนนิ้วพระบาทของพระพุทธองค์ยาวเสมอกันทั้ง 5 นิ้ว ขอให้ดูภาพข้างบน

Advertisement

ดังนั้น จึงขอให้สังเกตการสร้างพระพุทธรูป ถ้าพระพุทธรูปองค์ไหน สร้างมีนิ้วสั้นยาวไม่เท่ากัน นั่นเป็นการสร้างไม่ถูกลักษณะของมหาบุรุษ แต่ถ้าองค์ไหน สร้างมีนิ้วทั้ง 4 นิ้ว ยาวเท่ากัน แล้วนิ้วโป้งสั้น นั่นเป็นการสร้างถูกลักษณะของมหาบุรุษ

ขออธิบายเพิ่มเติมในพระลักษณะที่สองให้ชัดเจนอีกครั้ง คือจักรรัตนะ หรือจักรแก้ว ไม่ปรากฏให้เห็น เพราะลายวิจิตร 108 ที่ฝ่าพระพุทธบาท จะไม่มีใครเห็น นอกจากผู้ที่พระพุทธองค์จะให้เห็นเท่านั้น เพื่อคัดค้านความในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวว่า กลางฝ่าพระบาทมีกงจักร ซึ่งผิดอย่างมหันต์ จึงขอระบุความตรงนี้ ที่ตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก ชื่อ พระสูตรและอรรถกถา เล่ม 16 หน้า 2 ว่า-พื้นภายใต้ฝ่าพระบาทของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ครบทุกประการ-ขอให้สังเกตว่า ถ้ามีการกล่าวไว้เพียงว่ามีจักรเกิดขึ้น เราอาจจะตีความว่ากงจักรได้ แต่เมื่อตรัสไว้ว่ามีกง เราจะไปตีความว่ากงจักรได้อย่างไร เพราะกงนั้นมันคือชิ้นส่วน ที่ประกบปลายซี่กำมิให้เห็นความแหลมคมของซี่กำ สภาพที่เป็นกงจักรจึงไม่เกิดขึ้น

นี่คือการยืนยันว่า การกล่าวของพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ว่า กลางฝ่าพระบาทมีกงจักรเกิดขึ้น ผิดแน่นอน ความผิดมิได้มีเฉพาะการบันทึก เป็นตัวอักษรในพงศาวดารเท่านั้น แต่ความผิดยังปรากฏ ในรอยพระพุทธบาทจำลองที่สระบุรีอีกด้วย

ขอให้สังเกตในรอยพระพุทธบาทจำลองที่สระบุรี ณ กลางลายจักร จะปรากฏซี่แหลมคม นั่นคือส่อความว่าเป็นกงจักร ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารสมัยพระเจ้าทรงธรรม

เป็นที่น่ายินดีว่า พอถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อันเป็นช่วงปลายของอยุธยา การจำลองพระพุทธบาทได้เปลี่ยนไป คือ สภาพกงจักรได้หายไป ลายจักรกลับมีกงอยู่รอบนอก หลักฐานเรื่องนี้ดูได้ที่พระพุทธบาทไม้ประดับมุก ที่วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี การเปลี่ยนแปลงการสร้างจากกงจักร เป็นจักรรัตนะ หรือธรรมจักร หรือมีกงกำกับซี่ มิให้ปรากฏความแหลมคม อันส่อไปทางเป็นอาวุธ แสดงว่าสมัยพระเจ้าบรมโกศทรงทราบความจริงแล้วว่า กลางฝ่าพระพุทธบาทมิไช่กงจักร ตามที่เชื่อกันมาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่เป็นพระธรรมจักรต่างหาก

มีหลักฐานอะไรยืนยันว่า ความเข้าใจในเรื่องกงจักร และธรรมจักรถูกต้อง ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอบว่า ในพิพิธภัณฑ์ในเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา มีรอยพระพุทธบาทจำลองที่เขียนลงในแผ่นผ้า ซึ่งแผ่นผ้ารอยพระพุทธบาทนั้น เป็นเครื่องบรรณาการที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศส่งไปถวายพระเจ้าสิงหราชแห่งประเทศศรีลังกา และรอยพระพุทธบาทผ้าที่เมืองแคนดีนั้น ตรงกันกับรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏอยู่ที่วัดพระแท่นดงรังทุกวันนี้

ความนี้จึงสันนิษฐานว่า รอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุก ที่วัดพระแท่นดงรัง น่าจะเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อีกทั้งส่อความไปถึงว่ายุคนี้ เข้าใจเรื่องจักรรัตนะถูกต้องแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นก่อนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ได้ ความที่ควรสังเกตอีกประการหนึ่ง คือในประวัติศาสตร์ เราก็รับรู้กันว่าพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ทรงให้จำลองรอยพระพุทธบาทที่ภูเขาสมนกูฏประเทศลังกาที่พระพุทธเจ้าประทับไว้ นำมาประดิษฐานไว้ที่ภูเขาสมนกูฏที่สุโขทัย

แต่ทุกวันนี้ รอยพระพุทธบาทองค์นี้ ทางการได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัยแล้ว รอยพระพุทธบาทที่จำลองมาจากศรีลังกา มีส่วนละม้ายคล้ายกันกับรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏที่วัดพระแท่นดงรัง ความนี้จึงชวนให้สันนิษฐานว่า ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องพระธรรมจักร เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ก็เพราะสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้ส่งพระไทยไปทำการบวชสามเณร สรณังกร เพราะไม่มีพระจะบวชให้

ความสัมพันธ์กันดังกล่าว ทำให้ทางลังกาแจ้งว่า รอยพระพุทธบาทที่สุโขทัยจำลองมานั้นถูกต้องแล้ว ช่างหลวงสมัยพระเจ้าบรมโกศ จึงจำลองรอยพระพุทธบาทละม้ายคล้ายกันกับรอยพระพุทธบาทที่พระมหาธรรมราชาลิไทให้จำลองมา ความจริงจะเป็นอย่างไร ช่วยกันพิจารณา

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือรอยพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ที่ลพบุรี แต่เมื่อหันไปดูพระพุทธบาทที่สระบุรี พบความจริงว่ามิใช่รอยเท้าคน คือมิใช่รอยเปื้อนฝ่าเท้าที่เมื่อเท้าเหยียบแล้ว รอยเปื้อนนั้นจะติดอยู่ที่พื้น แต่กลับเป็นการนำเอาทองคำมาจำลองฝ่าพระพุทธบาทไว้ ดังนั้นเมื่อมีคนมาดู จึงตัดสินได้ว่ามิใช่รอยเท้าคน เป็นแต่สร้างฝ่าพระบาทไว้เท่านั้นความเชื่อจึงไม่สนิท ซี่งต่างจากรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรี เพราะที่ลพบุรีเป็นรอยเท้าชัดๆ และเป็นรอยเท้าที่เกิดจากรอยเปื้อนที่ติดฝ่าพระบาทอยู่ นอกจากนั้นยังมีความแปลกอยู่ คือ ณ บริเวณฝ่าเท้า ทำไมมีลักษณะเป็นสีทอง ความแปลกจุดนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์สำนักศิลปากรเขตลพบุรี เป็นผู้เสนอต่อผู้เขียน ผู้เขียนจึงตอบไปว่า หินตรงนั้นน่าจะเป็นสีทอง เพราะคำพระบาลีที่ระบุว่า สุวัณณปัพพเต แปลว่าพระพุทธองค์ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ภูเขาทอง แต่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นก็คือ นิ้วกลางของรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรี มีการเคลื่อนไหว ให้เห็นชัดๆ

โปรดสังเกตให้ดี จุดนี้เป็นการเคลื่อนไหวให้ชาวพุทธรุ่นหลังรับทราบว่า ภาพนี้มิใช่การแกะสลัก แต่เป็นเจตนาเหยียบโดยกระดิกนิ้วกลางให้เห็นหรือไม่ ขอผู้อ่านช่วยพิจารณา

ความแตกต่างระหว่างรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรีกับฝ่าพระบาทที่สร้างด้วยทองคำที่สระบุรี ทำให้เกิดความสงสัย จนต้องค้นหาความจริง แล้วก็ได้ความจริงในมุมของผู้เขียนว่า รอยพระพุทธบาทที่ลพบุรี ตรงกับมหาปุริสลักขณะของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ส่วนพระพุทธบาทที่สระบุรีจะพิจารณาอย่างไร ก็มองไม่เห็นว่าเป็นรอยเท้าคน เหมือนที่ลพบุรี แต่กลับมองเห็นความจริงว่า นำทองคำมาสร้างฝ่าพระบาทไว้ให้คนบูชา ความเป็นรอยเท้าคนจึงไม่มี ความเชื่อของผู้ไปเห็นจึงเสื่อมไปเรื่อยๆ รัชกาลที่สาม จึงทรงปรารภในหมู่พระราชวงศ์ ว่า “ฉันไม่เชื่อพระพุทธบาทที่สระบุรี พระพุทธเจ้าเองพระองค์ก็ตรัสไว้ว่า รอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าที่ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์อื่นทั้งหมด พระพุทธองค์เป็นมนุษย์ ทำไมรอยเท้าจึงใหญ่กว่าช้าง”

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องไม่แปลก ที่ชาวพุทธเราจะจำลอง ฝ่าพระบาทไว้บูชา เพียงแต่เราไม่ไปอ้างว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระองค์มาประทับไว้ แม้รอยพระพุทธบาทที่ลพบุรี จะเป็นองค์จริง แต่ชาวพุทธเรารุ่นหลัง หามีใครได้เห็นลายวิจิตร 108 ในฝ่าพระพุทธบาทไม่ การที่มีรอยพระพุทธบาทจำลองพร้อมลายวิจิตร 108 ไว้ที่สระบุรี จะมีประโยชน์ตรงที่ได้เห็นรอยพระพุทธบาทองค์จริงแล้ว มาดูลายวิจิตรอันเกิดจากบุญที่สระบุรี ยกเว้นเฉพาะกงจักรกลางพระบาท ให้รู้ว่าตรงนี้ ต้องเป็นจักรแก้ว หรือธรรมจักรเท่านั้น เราจะเกิดความเลื่อมใส

ผู้เขียนคิดว่า จะมีผู้อ่านบางท่านอยากค้นหาความจริง จึงขอแนะนำว่า หนึ่ง ไปอ่านพงศาวดาร สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม สอง อ่านพระสูตรและอรรถกถา 16 หน้า 2-7 สาม ไปไหว้พระพุทธบาทไม้ประดับมุกที่วัดพระแท่นดงรัง หรือที่วัดตระพังทอง ในเมืองสุโขทัย

สี่ ขอให้สังเกตว่าระหว่างรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรีกับสระบุรี องค์ไหนจะมีลักษณะเป็นรอยเท้าคนมากกว่ากัน การไปไหว้รอยพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ คนสูงอายุคงหมดหวังที่จะขึ้น เพราะสูงถึง 3,000 กว่าขั้น แต่ทางวัดมีคานหามขึ้นไว้บริการ ราคาน่าจะประมาณ 3,800

ผู้เขียนไปใช้บริการมาแล้ว น่าชื่นใจนัก ที่ได้พบความเงียบสงัดบนยอดเขา บางขณะก็น้ำตาคลอ เพราะความน้อมนึกว่า เราได้มาพบสถานที่ที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมาเหยียบย่ำแล้วหนอ!

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image