บทความ : เมื่อสภามหาวิทยาลัย มีกรรมการสภาเป็น‘สภาตรายาง’ : โดย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ผมเข้าใจว่า นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการสรรหาโดยอิสระจากคณะ สำนักต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และปราศจากการแทรกแซงของผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่น อธิการบดี รองอธิการบดี หรือผู้มีอิทธิพลในมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยนั้นได้นายกสภาและกรรมการสภาที่มีอิสระ มีความคิดเป็นของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการได้มาโดยเลือกจากผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ตามความเชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดผลดีและเกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยมากมายที่จะช่วยกำหนดทิศทางเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ตลอดจนจะสร้างความโดดเด่นให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์กรรมการเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ติดยึดในตำแหน่ง และเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯ เมื่อกรรมการแต่ละท่านพิจารณาแล้วว่าเป็นการทำให้ยุ่งยาก

กรรมการสภาเหล่านั้นจึงไม่ค่อยลังเลใจที่จะลาออก จึงเห็นว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งคณะกรรมการในองค์กรต่างๆ ที่ถูกตีความให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯ จึงยื่นใบลาออกอยู่เรื่อยๆ และถือว่ายังไหลออกไม่หยุด

ผมเข้าใจว่า “การตีความให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารระดับสูง” จึงเป็นที่มาของปัญหา ซึ่งทำให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯ เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดยตรง ไม่มีบุคลากรที่มีลักษณะสายบังคับบัญชา ไม่มีงบประมาณที่ต้องดำเนินการเพื่อจัดซื้อจัดจ้างของตนเองเหมือนกับอธิการบดี รองอธิการบดี

ในทางกลับกันกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกประเภทหนึ่ง ที่ถูกค่อนขอดว่ามีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่น อธิการบดี รองอธิการบดี และผู้มีอิทธิพลในมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนใหญ่กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทนี้มาโดยเส้นสาย มาโดยกลุ่มพวกอธิการบดี รองอธิการบดี หรือวิ่งเต้นเพื่อจะเข้ามาเป็นหรือเป็นเด็กฝาก หรือเข้ามาโดยระบบเส้นสายบุคคล จึงทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ภายใต้อาณัติของอธิการบดี “เป็นสภามหาวิทยาลัยตรายาง” เพราะอย่าลืมว่านายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้เลือกอธิการบดี และคณบดีคณะต่างๆ จึงทำให้กรรมการสภาประเภท “ตรายาง” และมีการแต่งตั้งเข้ามามีวัตถุประสงค์เพื่อยกมือให้ฝ่ายบริหาร และไม่ได้กำกับดูแลเชิงนโยบายของมหาวิทยาลัย แต่ก็ปล่อยปละละเลยจนทำให้อธิการบดี และฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยบริหารงานโดยพลการ เพราะกรรมการสภากลายเป็นเครื่องมือของผู้บริหารมหาวิทยาลัยไปในที่สุด

Advertisement

ผมเข้าใจว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทหลังนี้มีอยู่หลายแห่ง จนดูเหมือนว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ในการกำหนดนโยบาย กำหนดเป้าหมายทางการศึกษา โดยเฉพาะการกำกับคุณภาพการศึกษาในแง่หลักสูตรต่างๆ หรือเปิดหลักสูตร การกำกับวุฒิการศึกษาของอาจารย์ และตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวในเชิงการให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯของ ป.ป.ช. กรรมการสภามหาวิทยาลัย

ดังกล่าวอาจจะถูกขอร้องจากอธิการบดีหรือฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยให้อยู่ต่อไปก็อาจจะเป็นไปได้
ดังนั้น การลาออกของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิประเภทแรกที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งมีที่มาโดยอิสระ มาโดยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของตนเองที่ได้ยื่นใบลาออกไป และกำลังจะลาออกอีกหลายระลอกนั้น “ก็จะยิ่งเป็นการทำให้เข้าทางฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย” เพื่อจะทำอะไรในแง่ของแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยอย่างสะดวกมากขึ้นโดยเฉพาะการจะแต่งตั้งกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่เพื่อมาแทนคนที่ลาออกไป ก็จะทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยอาจจะล้วนแล้วแต่เป็นพวกของกลุ่มอธิการบดี รองอธิการบดี หรือกลุ่มของผู้มีอิทธิพลในมหาวิทยาลัย

ซึ่งจะทำให้เวลามาประชุมสภามหาวิทยาลัยก็จะขาดการถ่วงดุลจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยไปโดยสิ้นเชิง

Advertisement

ผมจึงไม่แน่ใจนักว่า ที่มีอาจารย์กลุ่มหนึ่งพยายามจะบอกว่าไม่แคร์กรรมการสภามหาวิทยาลัย จะลาออกก็ลาออกไปและพยายามกดดันว่า ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ประกอบกับทาง ป.ป.ช.เอง ก็อาจจะมองว่า การลาออกของนายกสภาและสภามหาวิทยาลัยสามารถแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยคนใหม่ทดแทนได้ แต่อาจจะไม่ได้มองถึงประเด็นที่มีผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการทำให้เข้าทางของฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จ้องเสนอตั้งคนของตนเองเข้ามาทดแทนเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

ส่วนผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ ก็คือ การที่กรรมการสภาลาออกมากๆ จะทำให้การประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่ครบองค์ประชุม จะทำให้การพิจารณาอนุมัติปริญญาให้แก่นักศึกษาก็ทำไม่ได้ จะทำการอนุมัติหลักสูตร ปรับปรุงหลักสูตร หรือจะแต่งตั้งคณบดี หรืออนุมัติตำแหน่งทางวิชาการก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เป็นต้น นอกจากนี้ แล้วกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการเป็นอย่างดีและมีประสบการณ์ ถ้าเขาร่วมกันลาออกมากๆ มหาวิทยาลัยจะเสียโอกาสและเสียประโยชน์ไปมาก

ดังนั้น การสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยใหม่ แทนคนที่ลาออกไป มองได้หลายประเด็น ประเด็นที่น่า
ห่วงก็คือ การสรรหากรรมการสภาใหม่ ถ้าได้กรรมการสภาที่เป็นกลุ่มเดียวกับอธิการบดีหรือกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย ยังจะทำให้งานมหาวิทยาลัยหมิ่นเหม่ต่อการ “ฮั้ว” กันระหว่างกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยง่ายขึ้นกว่าเดิม จึงไม่แน่ใจนักว่าจะไปสัมพันธ์เพื่อตอบโจทย์อะไรกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่

ผมจึงเข้าใจว่า อาจมีสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับนโยบาย เป้าหมายของมหาวิทยาลัย เพราะส่วนหนึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาโดยระบบอุปถัมภ์ของอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงทำให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยทำอะไรได้อย่างสะดวกใจ

ผมจึงเห็นว่า นี่คือที่มาของการแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นตรายางของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยที่ ป.ป.ช.สาวไปไม่ถึง ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ได้หรือไม่อย่างไร หรือจะป้องกันการทุจริตในมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ และเห็นว่าถ้ากรรมการสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นสภาตรายางถึงยื่นบัญชีทรัพย์สินก็ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นอะไรไม่ได้

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image