อย่ากลับมาอีกเลย : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ถูกต้องแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดกับพรรคเพื่อไทยไม่ยอมก้มหัวให้หัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่เรียกไปประชุมเพื่อรับทราบข้อกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งคงจะเลื่อนไปไม่ได้อีกแล้ว หลังจากผิดคำพูดเลื่อนการเลือกตั้งมาถึง 3 ครั้ง 3 ครา

เมื่อมีการทำรัฐประหารใหม่ๆ ผู้คนรวมทั้งพรรคพวกที่เกลียดพรรคเพื่อไทย เกลียดคนเสื้อแดง ซึ่งตนเองดูถูกว่าเป็นคนชั้นต่ำ ไร้การศึกษา ถูกหลอกได้ง่ายๆ ด้วยเงินเพียง 200-500 บาท พวกนี้ควรจะเป็นประชาชนชั้นสองที่ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองเหมือนคนในเมือง คนเสื้อเหลืองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นผู้สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ออกมาแก้ต่างให้กับคณะรัฐประหารว่าจะเข้ามาปัดกวาดบ้านช่องให้เรียบร้อย เพราะเหตุจากรัฐบาลที่แล้วกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างโจ๋งครึ่ม โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา 15,000 บาทต่อเกวียน ความจริงไม่ใช่การจำนำเพราะการจำนำต้องรับจำนำในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อให้ผู้จำนำมาไถ่ถอน ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล เพราะนอกจากรับจำนำในราคาตลาดแล้ว ยังนำข้าวมาเก็บเอาไว้นานข้ามปี ทำให้ข้าวเสียหายกลายเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ ตอนประมูลขายก็เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอีก ในที่สุดรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณทยอยจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยกว่า 4-5 แสนล้านบาท ส่วนชาวนาที่ขายข้าวได้ในราคารับจำนำก็มีเพียงกลุ่มที่เป็นหัวคะแนนเท่านั้นเอง

การกระทำเช่นว่า จึงเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องให้ทหารเข้ามาดำเนินการกวาดล้าง จึงเป็นเหตุให้ไม่มีใครต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นซึ่งจ้องหาโอกาสที่จะทำรัฐประหารอยู่แล้ว เกิดได้ใจและลงมือกระทำการโดยไม่มีการต่อต้าน ทั้งจากประชาชนและสื่อมวลชน และได้รับการสนับสนุนจากผู้คนที่เกลียดชังรัฐบาลเก่า

กระทำการยึดอำนาจแล้วสถาปนาตนเองเป็นผู้ปกครอง ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอง ตั้งคณะรัฐมนตรีเอง โดยไม่มีการตรวจสอบ ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการทหาร

Advertisement

การประพฤติปฏิบัติต่อประเทศชาติ สำหรับรัฐบาลเผด็จการทหารที่จะโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยมาสู่ประชาชน จะแตกต่างกันอย่างมากถ้าหากคนจัดการเลือกตั้งโดยการถอยออกห่าง และประกาศว่าจะไม่ขอรับเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีก แต่ถ้าหากตนยังมีกิเลส ยังอยากจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีก ขณะเดียวกันตนก็ยังมีฐานะเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาล “รักษาการ” ที่รอการเลือกตั้ง เหมือนกรณียุบสภาหรือหัวหน้ารัฐบาลลาออก หรือครบอายุสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกฎหมายจะจำกัดอำนาจของรัฐบาลชั่วคราว เพื่อไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายค้านหรือพรรคการเมืองอื่นทั่วไป

แต่ในกรณีนี้ ถึงแม้พรรครัฐบาลจะชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่เสียงคัดค้านผลของการเลือกตั้งก็คงมีตลอดไป เพราะการเอารัดเอาเปรียบเริ่มขึ้นแล้ว ทั้งกรณีผู้สนับสนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่พรรคการเมืองอื่นทำไม่ได้ เมื่อ กกต.กำหนดเขตเลือกตั้งไม่เป็นที่ตรงใจเพราะพรรคพวกที่จะสนับสนุนตนจะเสียเปรียบ ก็ใช้มาตรา 44 สั่งแก้ไขทั้งๆ ที่กำลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาอยู่แล้ว เมื่อผู้สื่อข่าวไปเหยียบตาปลาเข้าก็เกิดอารมณ์ กล่าวคำผรุสวาท “จะตายห่ากันรึไง” ซึ่งแสดงถึงวุฒิภาวะที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ ไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้สถาปนาตนเองมาเป็นผู้นำประเทศ ถ้าเป็นผู้นำที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตยก็คงจะถูกเล่นงาน เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ทำให้เกิดความเสียหายเช่นกรณีโครงการจำนำข้าวแล้ว

กรณีอย่างนี้ก็ควรจะคล้ายๆ กัน คือผู้นำที่ทำให้เกิดความเสียหายก็ไม่ควรมีโอกาสกลับมาเป็นผู้นำอีก ผู้ที่กระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การส่งออกและการลงทุน ที่สำคัญก็คือได้อยู่มากว่า 4 ปีแล้วแต่ยังไม่เห็นว่ามีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีอะไรใหม่ ทั้งยังถูกเหยียดหยามจากนานาอารยประเทศว่าประเทศเราเป็นประเทศล้าหลังทางการเมืองมากยิ่งกว่าพม่า ประเทศซึ่งเราเคยดูถูกเหยียดหยามเสียอีก

Advertisement

ถ้าหากพยายามจะต่ออำนาจต่อไปอีกหลังเลือกตั้ง พฤติกรรมก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ อดไม่ได้ที่จะต้องใช้อำนาจรัฐและกลไกของรัฐซึ่งตนยังมีอำนาจอยู่เต็ม กระทำการอย่างไรก็ได้เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่ชนะการเลือกตั้ง จะอาศัยเสียงจากวุฒิสภา 250 คนมาลงคะแนนเสียงก็คงจะปกครองไม่ได้ ในกรณีนี้ถ้านับตัวเลขจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่เป็นตัวแปรที่สำคัญ แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะแตกออกไปเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่กลายพันธุ์มาจาก กปปส. และเป็นพวกเดียวกันกับ คสช. ที่เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเนื่องจากราคายางพาราตกต่ำ

หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ตั้งพรรคการเมืองแล้วต่อท่ออำนาจ ที่เคยเห็นก็เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตอนจบมักจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมทุกรัฐบาล เพราะอยู่ในอำนาจนานเกินไปหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ในครั้งนี้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดหรือไม่รอดของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร หรือแปลงโฉมมาจากการเลือกตั้ง

ราคาสินค้า ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องมาจากการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด สับปะรด มะพร้าว มันสำปะหลัง ยางพารา การประมง สภาพที่ราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้เกิดความกดดันในสังคมและมักจะลามมาเป็นปัญหาการเมือง

การเกิดความแตกแยกกันระหว่างพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่ปัญหาสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินหลังจากยุบสภาหรือหัวหน้ารัฐบาลลาออก แต่ความแตกแยกกันระหว่างรัฐบาลที่มีพื้นฐานที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร อันเป็นการกระทำไม่ชอบธรรม เพราะการทำปฏิวัติรัฐประหารเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำอันมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ถ้าทำการสำเร็จแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ตัวเองจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็ยังคงเป็นความผิดต่อบ้านเมือง เป็นการฉุดรั้งบ้านเมืองให้คงล้าหลังในการพัฒนาประชาธิปไตย หันกลับไปสู่รัฐเผด็จการอันเป็นระบอบการปกครองที่ล้าหลัง ทั่วโลกมีไม่กี่ประเทศ เห็นแต่ในทวีปแอฟริกาที่ประชาชนยังยอมก้มหัวให้รัฐบาลเผด็จการอยู่

อยู่มาเกิน 4 ปีแล้ว ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างที่คุยไว้เมื่อตอนทำรัฐประหาร ก็ควรจะถึงเวลาที่จะต้องถอยออกไป ปล่อยให้ประชาชนปกครองกันเอง เพราะไม่มีประเทศใดที่ประชาธิปไตยจะพัฒนาได้โดยรัฐบาลเผด็จการ การพัฒนาประเทศในยุคใหม่นั้นระบอบการปกครองมีความสำคัญอย่างมาก การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกซึ่งเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ย่อมมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าประเทศเราถูกตั้งเงื่อนไขในการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน เราย่อมจะเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่เป็นคู่แข่งของเราอย่างมหาศาล ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของการส่งออกของเราที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งของเราขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น

การที่จะต่อท่ออำนาจของคณะรัฐประหารโดยการก่อตั้งพรรคการเมือง ย่อมทำให้การเมืองบิดเบี้ยว เพราะจะแพ้การเลือกตั้งไม่ได้ การเมืองไม่เป็นไปตามธรรมชาติของการเมืองที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและยุติธรรม หรือที่ฝรั่งพูดติดปากว่า “free and fair”

เป็นที่น่าสงสัยคลางแคลงใจเป็นอย่างมากว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างเสรีและบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เพราะมีพรรคที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีลงแข่งขันด้วย และก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการเสียด้วย ต่างชาติจะขอมาสังเกตการณ์ก็ไม่ได้ ส่ออาการพิรุธมากๆ

อย่ากลับมาอีกเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image