สุจิตต์ วงษ์เทศ : ฟ้าผ่าเจดีย์เมืองเชียงราย พบพระแก้วมรกตในเจดีย์

วัดพระแก้ว ตั้งอยู่บนถนนไตรรัตน์ ต. เวียง อ. เมือง จ. เชียงราย เดิมชื่อวัดป่าเยี๊ยะ หรือวัดป่าญะ (ไม้เยี๊ยะ เป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่ง ชาวบ้านนิยมนำไม้ชนิดนี้ไปทำหน้าไม้หรือขาธนู) จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 1977 ได้ค้นพบพระแก้วมรกต ชาวบ้านจึงขนานนามใหม่ว่าวัดพระแก้ว (ภาพจากหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมแช่ม กฤดากร ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2494)

ฟ้าผ่าเจดีย์ราย วัดภูเขาทอง ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา วันพายุร้อนฝนถล่ม ช่วงปลายเมษายน ต้นพฤษภาคม
ฟ้าผ่าเจดีย์เมื่อฝนตก เคยเกิดขึ้นเสมอ จึงมีบันทึกในตำนานพงศาวดารบ่อยๆ
แต่ครั้งสำคัญราว 600 ปีมาแล้ว ฟ้าผ่าเจดีย์วัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงราย (จ.เชียงราย) เจดีย์พัง พบพระแก้วมรกตซ่อนในเจดีย์ ร.4 เคยมีพระราชนิพนธ์เล่าไว้ จะเชิญตอนสำคัญมา โดยจัดย่อหน้าใหม่ ดังนี้

“พระแก้วมรกตองค์นี้อยู่ในพระสถูปใหญ่เก่าองค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ครั้นพระสถูปเจดีย์นั้นต้องอสนีบาตพังลงมาแล้ว ชาวเมืองเชียงรายได้เห็นเป็นองค์พระพุทธรูปปิดทองคำทึบทั่วทั้งองค์ ก็สำคัญว่าพระพุทธรูปศิลาสามัญ จึงเชิญไปไว้ในวิหารที่ไว้พระพุทธรูปในวัดแห่งหนึ่ง แต่นั้นไป 2 เดือน 3 เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มทั่วพระองค์นั้น กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เจ้าอธิการในอารามนั้นได้เห็นเป็นแก้วสีเขียวงาม จึงแกะต่อออกไปทั้งพระองค์ คนทั้งปวงจึงได้เห็น และทราบว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วแท่งทึบทั้งแท่งบริสุทธิ์ดีไม่บุบสลาย
คนชาวเชียงรายและเมืองลาวอื่นๆ ก็ตื่นกันไปบูชานมัสการมากมาย”

พระเจดีย์วัดพระแก้ว (ก่อนบูรณปฏิสังขรณ์) ถูกอสนีบาต (ฟ้าผ่า) เมื่อ พ.ศ. 1977 เมื่อพระเจดีย์พังทลายลงจึงได้ค้นพบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ต่อมาชำรุดทรุดโทรมลง เช่น ตอนบนและตอนกลางมีต้นโพธิ์เถาวัลย์และหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด ตอนล่างอิฐปูนที่โบกไว้ก็หักและพังลง จึงซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์โดยรักษาทรวดทรงเดิมไว้ทุกประการ เสร็จและสมโภชเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2497 [รูปและคำอธิบายจากหนังสือพระแก้วมรกต สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546 หน้า 220]
พระเจดีย์วัดพระแก้ว (ก่อนบูรณปฏิสังขรณ์) ถูกอสนีบาต (ฟ้าผ่า) เมื่อ พ.ศ.1977 เมื่อพระเจดีย์พังทลายลงจึงได้ค้นพบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
ต่อมาชำรุดทรุดโทรมลง เช่น ตอนบนและตอนกลางมีต้นโพธิ์เถาวัลย์และหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด ตอนล่างอิฐปูนที่โบกไว้ก็หักและพังลง จึงซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์โดยรักษาทรวดทรงเดิมไว้ทุกประการ เสร็จและสมโภชเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2497
[รูปและคำอธิบายจากหนังสือพระแก้วมรกต สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 หน้า 220]
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image