ไทยพบพม่า อู ถั่นในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ ชาวเอเชียคนแรก (3) โดย : ลลิตา หาญวงษ์

อู ถั่น และประธานาธิบดีกามาล อับเดล นัสเซอร์ แห่งอียิปต์, พฤษภาคม 1967

นอกจากการทำหน้าที่เลขาธิการสหประชาชาติของ อู ถั่น จะเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากระหว่างวิกฤตการณ์คิวบาดังที่ได้กล่าวถึงไปในสัปดาห์ที่แล้ว อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างชื่อให้เลขาธิการสหประชาชาติที่เป็นชาวเอเชียคนแรกคนนี้ คือท่าทีของเขากับวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางในปี 1967 (พ.ศ.2510) ในกลางปีนั้น อิสราเอลเผชิญหน้ากับซีเรีย และ จอร์แดน เลวี เอชโคล (Levi Eshkol) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้นกล่าวหาว่าซีเรียอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางทหารกับอิสราเอล เอชโคลขู่ว่าหากอิสราเอลถูกโจมตีอีก (ทั้งจากผู้ก่อการร้ายในปาเลสไตน์หรือจากรัฐบาลซีเรีย) อิสราเอลจะเปิดฉากโจมตีซีเรียทันที ท่าทีที่แข็งกร้าวของอิสราเอลในครั้งนั้นทำให้ทั้งสหประชาชาติเริ่มกังวลเพราะเกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้นในตะวันออกกลาง ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดนี้ ประธานาธิบดีนัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) แห่งอียิปต์ ซึ่งถือเป็นชาติมุสลิมใหญ่ในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางได้รับการร้องขอให้สหประชาชาติส่งกองทัพไปช่วยซีเรียและจอร์แดน

เมื่ออิสราเอลเริ่มใช้อาวุธหนักและกองกำลังจำนวนมากเพื่อโจมตีซีเรีย โลกอาหรับทั้งหมดรวมทั้งประเทศพันธมิตรของอียิปต์อย่างสหภาพโซเวียตจึงร่วมกันกดดัน ในที่สุดนัสเซอร์ยอมส่งกองทัพเข้าไปในคาบสมุทรซินาย (Sinai) ในเดือนพฤษภาคม 1967 และเรียกร้องให้สหประชาชาติถอนกองกำลัง UNEF จากที่มั่นบนชายแดนอิสราเอล-อียิปต์ ซึ่งเป็นพื้นที่แถบฉนวนกาซ่า โดยเชื่อว่าจะทำให้อิสราเอลขาดความเชื่อมั่นและยอมยกเลิกแผนการโจมตีซีเรียไปเองและเพื่อเปิดโอกาสให้กองทัพอียิปต์ยกทัพเข้าไปช่วยซีเรียรบได้โดยสะดวก ในการตัดสินใจครั้งนั้น นัสเซอร์เชื่อว่าเขาจะได้รับความเชื่อมั่นจากชาติอาหรับกลับคืนมาอีกทั้งมองว่ากลุ่มพันธมิตรของชาติอาหรับหรือ United Arab Republic นั้นเข้มแข็งพอที่จะป้องกันตนเองจากอิสราเอล และยังเชื่อว่าสหประชาชาติจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นในตะวันออกกลาง

ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดทั่วทั้งตะวันออกกลาง อู ถั่นในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติก็ตกอยู่ในสภาวะที่ลำบากไม่ต่างกัน เพราะการเผชิญหน้าในตะวันออกกลางสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนอิสราเอลมาตั้งแต่ต้น กับสหภาพโซเวียตซึ่งสนับสนุนชาติอาหรับเป็นอย่างดี การพูดคุยนอกรอบระหว่างชาติสมาชิกในสหประชาชาติว่าด้วยปัญหาในตะวันออกกลางยังเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง เพราะประธานสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNEF) ในขณะนั้นมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสมาชิก 9 จาก 15 ประเทศ (รวมสมาชิกถาวร 3 ประเทศ) ให้การยอมรับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน (ในขณะที่ชาติอื่น ๆ มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์) อู ถั่นจึงมองว่าการเจรจากันภายในกลุ่มประเทศสมาชิกในสหประชาชาติคงไม่ใช่ทางออกของวิกฤตนี้อย่างแน่นอน

ในท้ายที่สุด เมื่อรัฐบาลอียิปต์ร้องขอ อู ถั่นจึงจัดการประชุมกับกับผู้แทนจากประเทศที่ส่งทหารเข้าร่วมกับ UNEF แต่ก็เกิดเสียงแตกขึ้นอีก ในขณะที่ประเทศสมาชิกส่วนหนึ่งมองว่าการถอนกองกำลังของ UNEF ออกจากพื้นที่พิพาทนั้นเป็นเรื่องอันตราย ประเทศอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองว่าประเทศในกลุ่ม United Arab Republic มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะขอให้สหประชาชาติถอน UNEF ออกไปได้ อู ถั่นตัดสินใจทำตามคำร้องขอของอียิปต์เพราะเชื่อว่าอียิปต์มีสิทธิเรียกร้องให้ UNEF ถอนทหารออกไปจริง และในขณะเดียวกันก็คาดการณ์ว่าหากสหประชาชาติยังไม่ยินยอมถอนกองกำลังตามคำขอของอียิปต์ อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายอื่นๆ ตามมา

Advertisement

อย่างไรก็ดี เมื่อประธานาธิบดีนัสเซอร์ตัดสินใจให้ UNEF ถอนกองกำลังของตนออกไปอย่างเป็นทางการ ตัวแทนอิสราเอลในสหประชาชาติเริ่มเป็นกังวลใจแต่ก็ไม่ยอมรับข้อเสนอของอู ถั่นที่ให้เคลื่อนกองกำลังของ UNEF เข้าไปประจำการในเขตแดนของอิสราเอลแทน ภายใต้สถานการณ์บีบบังคับและความขัดแย้งกันเองของตัวแทนจากประเทศสมาชิกในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อู ถั่นมองว่าการถอนกองกำลังออกไปนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ได้ย้ำเตือนกับอียิปต์และอิสราเอลเป็นครั้งสุดท้ายว่าการกระทำนี้จะมี “ผลกระทบรุนแรงต่อสันติภาพ” หลังจากกองกำลังของ UNEF ค่อยๆ ถอนกองกำลังออกไปตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ความตึงเครียดและการเผชิญหน้าระหว่างอียิปต์และอิสราเอลก็ปะทุขึ้นในทันที ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากความเกลียดชังซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย การนำกองกำลัง UNEF เข้าไปประจำอยู่ในเขตปลอดทหาร หรือชายแดนอียิปต์-อิสราเอลนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว อู ถั่นชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลนั้นไม่สามารถทำได้เพียงการนำกองกำลังเข้าไปเป็น “กันชน” ป้องกันการสู้รบ ระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น แต่ทางออกของปัญหาที่แท้จริงคือการเจรจาและกระตุ้นให้อิสราเอลกลับเข้าร่วมการเจรจาสงบศึกกับอียิปต์โดยเร็ว

ในฐานะคนกลางเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ อู ถั่นเดินทางไปไคโรเพื่อเข้าพบประธานาธิบดีนัสเซอร์ เพื่อร้องขอให้นัสเซอร์เปลี่ยนใจและนำ UNEF กลับเข้าไปพร้อมทั้งยกเลิกการปิดอ่าวอาคาบา (Gulf of Aqaba) ไม่ให้เรือสินค้าของอิสราเอลเข้าไปด้วย แต่นัสเซอร์กลับบ่ายเบี่ยงและกล่าวว่าการตัดสินใจของเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจรจาและยังป้องกันอิสราเอลไม่ให้โจมตีซีเรียอีกด้วย สำหรับอิสราเอล การกระทำของอียิปต์คือการท้าทายและคุกคามตนโดยตรงแต่นายกรัฐมนตรีเอชโคลก็กำลังช่างใจว่าจะยับยั้งการโจมตีอียิปต์ซึ่งเป็นข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐ หรือจะเปิดฉากโจมตีตะวันออกกลางซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองฝ่ายชาตินิยมและประชาชนอิสราเอลอีกบางส่วนต้องการ แต่ในท้ายที่สุดเอชโคลก็เลือกที่จะเดินรอยตามฝ่ายชาตินิยมและเตรียมพร้อมโจมตีอียิปต์

ความขัดแย้งภายในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดในยุคสงครามเย็นทำให้การจัดการกับความขัดแย้งระหว่างประเทศที่แต่ละฝ่ายมีกลุ่มสนับสนุนของตนยากขึ้นไป อู ถั่นกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงว่าหนทางเดียวที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางคือทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าเจรจากัน หลีกเลี่ยงการยั่วยุที่จะทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดมากขึ้นและปล่อยให้บทบาทการเจรจาและการรักษาสันติภาพเป็นหน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงเพียงผู้เดียว สหรัฐอเมริกาและชาติต่างๆ ในตะวันออกกลางเห็นด้วยกับข้อเสนอของอู ถั่นพร้อมทั้งเรียกร้องให้อียิปต์ยกเลิกการปิดอ่าวอาคาบา

Advertisement

อย่างไรก็ดี อิสราเอลปฏิเสธข้อเสนอทุกข้อของอู ถั่น สหรัฐอเมริกาและชาติอาหรับ และยื่นคำขาดว่าสหประชาชาติต้องไม่ก้าวก่ายในสิ่งที่อิสราเอลมองว่าเป็น “กิจการภายใน” ของตนเอง ความตึงเครียดที่เหมือนเป็นความขัดแย้งภายในตะวันออกกลางบานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต ทำให้กลไกการบริหารความขัดแย้งของสหประชาชาติเป็นอัมพาต ชาติสมาชิกขนาดใหญ่เองก็เกรงว่าข้อตกลงใดๆ จะทำให้สหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียตไม่พอใจ ท่าทีหวาดระแวงของคณะมนตรีความมั่นคงจึงไม่เอื้อให้เกิดกระบวนการประสานความขัดแย้งระหว่างประเทศและยังมีการเลื่อนการประชุมเพื่ออภิปรายปัญหาอิสราเอล-อียิปต์ออกไปเรื่อย ๆ

ในระหว่างที่เกิดความสับสนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขึ้นนั้น อิสราเอลก็ถือโอกาสโจมตีอียิปต์ในวันที่ 5 มิถุนายน จากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ อู ถั่นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการถอนกองกำลังแห่งสหประชาชาติออกจากชายแดนอียิปต์-อิสราเองเร็วเกินไป คำวิจารณ์นี้ส่วนใหญ่มาจากฟากฝั่งของสหรัฐอเมริกาที่ไม่พอใจท่าทีของอู ถั่นที่ไม่สนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามอยู่เป็นทุนเดิม และยังเกิดจากความไม่พอใจที่อู ถั่นยอมทำตามคำร้องขอของอียิปต์ (ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหภาพโซเวียต) ให้ถอนกองกำลัง UNEF ออกจากตะเข็บชายแดนอียิปต์-อิสราเอลด้วย

แต่สำหรับอู ถั่น เขายังคงยืนยันในเจตนารมณ์เดิมว่าการถอนกองกำลัง UNEF ออกไปนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และอียิปต์สามารถเรียกร้องให้มีการถอนกองกำลังออกไปได้อย่างชอบธรรม โดยให้เหตุผลหลักๆ สองประการ ประการแรกคำวิจารณ์ที่อ้างว่าเลขาธิการใหญ่ควรนำเรื่องการถอนทหารเข้าในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ก่อนนั้นไม่เคยมีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบกับทั้งอียิปต์ และ UNEF ไม่เคยรับรู้ถึง “หลักปฏิบัติ” ข้อนี้ และประการที่สอง การเข้าไปประจำการของ UNEF เกิดขึ้นเพราะวิกฤตการณ์สุเอซในปี 1956 (พ.ศ.2499) เท่านั้น UNEF จึงไม่มีสิทธิก้าวก่ายในเขตอธิปไตยของอียิปต์ และชาติที่ส่งกองทัพเข้าไป เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ อินเดียและอินโดนีเซีย ก็เข้าใจเป็นอย่างดีว่ากองกำลัง UNEF มีจุดประสงค์หลักเพื่อการรักษาสันติภาพในวิกฤตการณ์คลองสุเอซและไม่มีเป้าหมายประจำการในอียิปต์ต่อหากไม่จำเป็น

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image