ภาพเก่าเล่าตำนาน : ถ้ำขุนตาน…แม่น้ำยังหลีกทาง..ภูเขาต้องโค้งคำนับ : โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

ดูข่าวเรื่องราวในประเทศจีนไปสร้างทางรถไฟโลดโผน โจนทะยาน ผ่านหุบเหว ไต่หน้าผา รถไฟไปได้ทุกที่ เจาะเจอภูเขายาวแค่ไหน ก็ลงมือเจาะภูเขาทำอุโมงค์ …ง่ายเหมือนเอาไม้ไปเสียบลูกชิ้น เรียงทีละลูก…..

สยามประเทศของเรา เริ่มการสำรวจภูมิประเทศเหนือจรดใต้ จ้างชาวต่างประเทศมากินนอน เดินท่องไปตามป่าเขาลำเนาไพร หาข้อมูลดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อคิดจะสร้างเส้นทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งเมื่อ ปี พ.ศ.2431 ในสมัยในหลวง ร.5

9 มีนาคม 2435 เวลา 10.00 น. ในหลวง ร.5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธี เปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักรสยาม ทรงตรึงตะปูหมุด รางทอง รางเงิน ในด้านเหนือให้ติดกับไม้หมอน

ส่วนด้านใต้ได้โปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ช่วยกันตรึงหมุดต่อไปจนเสร็จตลอด 2 ช่วงราง

Advertisement

กรมรถไฟหลวง วางแผนการก่อสร้างทางรถไฟ จะวางรางมุ่งสู่อีสานเป็นปฐมบทและตามด้วยวางรางขึ้นไปสายเหนือ

พ.ศ.2415 ญี่ปุ่นสั่งซื้อหัวรถจักรไอน้ำของ Vulcan Foundry มาเดินรถเป็นครั้งแรก ระหว่าง โตเกียว-โยโกฮามา

พ.ศ.2436 สยามเปิดเดินทางรถไฟครั้งแรก ระหว่างสถานีรถไฟ กรุงเทพฯ-สถานีรถไฟปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นระยะทาง 21.3 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟสายแรก เป็นกิจการของเอกชน เจ้าของกิจการเป็นชาวเดนมาร์ก ก่อตั้งขึ้นก่อนการเดินรถของรถไฟหลวงสายกรุงเทพฯ-อยุธยาถึง 3 ปี ครับ

Advertisement

กิจการรถไฟของสยาม ออกสตาร์ตไม่ทิ้งห่างจากกิจการรถไฟของญี่ปุ่นเท่าไหร่ เรียกได้ว่าพอฟัดพอเหวี่ยง หายใจรดต้นคอกันเลย

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ขอชวนคุยตำนาน “การขุดเจาะอุโมงค์ถ้ำขุนตาน” ที่ชนรุ่นหลัง ต้องชื่นชมพระวิสัยทัศน์ในหลวง ร.5 ความมุ่งมั่น วิเทโศบาย ประสบพบเจอกับความสูญเสีย ความขาดแคลนแสนลำบาก แต่กัดฟันสู้จนสามารถ เปิดประตูสู่ภาคเหนือสุดของสยามอย่างเอิกเกริก

ขอรวบรัดตัดตอน นำเข้าสู่การสร้างทางรถไฟสายเหนือ…

พ.ศ.2448 สยามวางราง เปิดการเดินรถไฟจากกรุงเทพฯถึงปากน้ำโพ การสร้างทางรถไฟขึ้นเหนือคืบหน้าเป็นช่วงๆ ตามแผนงาน ปลายทางคือเมืองเชียงใหม่

นายช่างผู้ทำการสำรวจในครั้งนั้นได้พิจารณาแล้วทุกแง่ทุกมุมว่าถ้าจะไปถึงเชียงใหม่ จะต้องเจาะอุโมงค์ลอดใต้ภูเขายาวประมาณ 1,300 เมตรเศษ อย่างที่ในยุโรปทำกัน แต่การขุดอุโมงค์ลอดใต้ภูเขายาวเป็นกิโลเมตร นับเป็นเรื่องที่ชาวสยามทั่วไปยังไม่เคยรับทราบ

ในช่วงสมัยในหลวง ร.5 สังคมไทยมีความศรัทธาเชื่อถือในวิชาวิศวกรรม และวิศวกรเยอรมัน คนไทยชื่นชมเยอรมันมาก เพราะชนชาติเยอรมันไม่มีนโยบายแสวงหาอาณานิคมในย่านนี้ ผิดกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่แฝงด้วยแผนการที่จะยึดครองสยามให้ได้

ชื่อ “ดอยขุนตาน” เป็นพื้นที่ระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ทะลุไปยังอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

พื้นที่บ้านขุนตานในอดีต (ปัจจุบันเป็นอุทยานแห่งชาติ ดอยขุนตาน) เป็นพื้นที่ทุรกันดาร ป่าไม้รกทึบ การขนส่งลำเลียงวัสดุก่อสร้าง ต้องใช้ช้างลาก บรรทุกเกวียน ใช้เชือกชักรอก เครื่องจักรทุ่นแรงไม่ต้องพูดถึง

จะยากลำบากแค่ไหน ก็ต้องเดินหน้าต่อไป ต้องเจาะ ต้องขุด หยุดไม่ได้ สมัยก่อนการเดินทางจากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ ต้องล่องเรือมาตามลำน้ำปิงเท่านั้น ใช้เวลาแรมเดือน

ผู้เขียนได้ข้อมูลบางส่วนจากเอกสารของ คุณเทพชู ทับทอง และบางส่วนจาก “ภาพเก่า เล่าสนุก” ครับ

มร.เอมิล ไฮเซน โฮเฟอร์

ถ้ำขุนตานเป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ยาว 1,362.15 เมตร ออกแบบ ควบคุมการเจาะโดยวิศวกรชาวเยอรมัน ชื่อ มร.เอมิล ไฮเซน โฮเฟอร์ ซึ่งได้เข้ารับราชการใน “กรมรถไฟหลวง” เมื่อปลายสมัย ร.5

ข่าวการเจาะภูเขาให้รถไฟลอด นับเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสยาม ทั้งประเทศ ซึ่งต้องใช้วิทยาการและความอุตสาหะอย่างมาก ต้องใช้แรงคนตอกหินทีละก้อน ทั้งการเดินทางเข้าไปทำงานก็ยากลำบาก ต้องบุกป่าฝ่าดงแบกอุปกรณ์เข้าไป

ในช่วงนั้น กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ได้ว่าจ้างชาวเยอรมันทำงานเป็นช่างเทคนิค และงานในหน้าที่อื่นๆ เพื่อทำงานมหาโหด และเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่สุดในปฐพีสยามประมาณ 250 คน

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเป็น พระราชโอรสองค์ที่ 35 ของในหลวง ร.5 กับเจ้าจอมมารดาวาด ประสูติ เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2424 ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร”

เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2436 เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการที่ฝรั่งเศส และไปศึกษาโรงเรียนแฮร์โรว์ในอังกฤษ ต่อมาได้ทรงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ทรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) แล้วทรงศึกษาวิชาทหารช่างต่อที่โรงเรียนวิศวกรรมทหาร ที่แชทแธม

หลังสำเร็จการศึกษาทรงได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยตรี นอกกองประจำ กองทหารอินยิเนียร์ (กรมทหารช่าง) ของสยาม

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 ไปทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ประทับทอดพระเนตรงาน และทรงศึกษาหาความชำนาญอยู่ในประเทศอังกฤษ กับได้เป็นสมาชิกสถาบันวิศวกรรมช่างโยธาแห่งประเทศอังกฤษ M.I.C.E.(Member of the Institute of Civil Engineers)

นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสถาบันนี้ (เทียบเท่าวิศวกรรมสถาน)

พระองค์ทรงเป็นต้นราชตระกูล “ฉัตรไชย”

ส่วน มร.โฮเฟอร์ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคที่ มิวนิก เยอรมัน เคยมีประสบการณ์ก่อสร้างทางรถไฟในเยอรมัน และการสร้างอุโมงค์ในเวสปาเลีย เคยเป็นวิศวกรคุมงานก่อสร้างประตูน้ำ และทำนบในแม่น้ำที่ แฟรงก์เฟิร์ตมาแล้ว นับเป็นวิศวกรมืออาชีพ

ผู้เขียนยังคงรำลึกได้ว่า ในสังคมไทยโดยเฉพาะแวดวงการศึกษาเมืองไทยในอดีต เรามักจะกล่าวขวัญกันว่า ถ้าเรื่องการศึกษาด้านวิศวกรรมต้องไปเรียนจากเยอรมัน

การเจาะอุโมงค์ขุนตาน เริ่มต้นในปี 2450 ซึ่งยังอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยวิศวกรวางแผนขุดทั้ง 2 ด้านของภูเขาให้มาบรรจบกันพอดี ซึ่งต้องใช้การคำนวณที่แม่นยำมาก

จุดเริ่มต้นขุดอุโมงค์ทั้ง 2 ด้าน อยู่ในบริเวณทุรกันดารที่การเดินทางต้องใช้เดินเท้าหรือขี่ม้าเข้าไป ส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ในการก่อสร้างและสัมภาระทั้งหลายต้องใช้ช้างและเกวียนบรรทุก บางตอนที่เป็นภูเขาชันก็ต้องใช้รอกกว้านขึ้นไป โดยฐานหัวงานอยู่ที่ลำปาง

มร.โฮเฟอร์ บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง GERMAN RAILROAD MAN IN SIAM โดยพรรณนาการสร้างรถไฟสายเหนือและเจาะอุโมงค์ขุนตานว่า

“…เนื่องจากทางสายนี้วางทอดไปตามป่าดงดิบ คนงานจึงเป็นไข้มาลาเรียและอหิวาต์ตายเป็นจำนวนพันคน ซึ่งร้อยละเก้าสิบที่ตายเป็นคนจีน แม้แต่ชาวเยอรมันโดยเฉพาะ มร.โฮเฟอร์ ก็เป็นไข้มาลาเรียด้วยเช่นกัน

ใช้คนงานจีนทำงานดิน ส่วนขุดเจาะภูเขาใช้คนงานจากภาคอิสาน เนื่องจากคนจีนไม่ยอมเข้าไปทำงานในอุโมงค์ เพราะคนจีนเหล่านั้นเชื่อว่าในอุโมงค์มีภูตผีปีศาจสิงอยู่จึงมีความกลัว

นอกจากอุปสรรคดังกล่าวแล้ว ยังมีอุปสรรคอื่นๆ อีก เช่น เสือมาคาบเอาคนงานไปกินตลอด แม้กระทั่งม้าและล่อที่เอาไว้ขี่ใช้งาน ซึ่งเอาไปขังไว้ในคอก ในเวลากลางคืน ก็ได้ถูกเสือมาขโมยเอาไปด้วย ถึงกับต้องขัดห้างบนต้นไม้ดักยิงเสือในเวลากลางคืน…”

มร.โฮเฟอร์เล่าในหนังสือต่ออีกว่า… ครั้งหนึ่งวิศวกรเยอรมัน 2 คน กับตำรวจไทยคนหนึ่งได้ยิงเสือ แล้วตามรอยเลือดไป เสือจู่โจมเข้ากัดวิศวกรเยอรมัน ชื่อ มร.เบรนเนอร์ ซึ่งเดินนำหน้า จึงยิงด้วยปืนพกถึง 6 นัด แต่ไม่สามารถจะสกัดหรือยับยั้งมันได้เลย เขาถูกเสือกัดอาการสาหัส ต้องหามไปรักษาที่ จ.แพร่ แล้วต่อมาก็ได้ส่งมาทางรถไฟมาพักรักษาที่บางกอกเนิร์สซิ่งโฮม

ในการนี้ ร.6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชองครักษ์มาเยี่ยมหลายครั้ง

ในช่วงที่เจาะถ้ำวางรางรถไฟอยู่นั้น กลุ่มวิศวกรเยอรมันได้ปลูกบ้านจำนวน 20 หลัง อยู่ในป่าตามเนินเขา ซึ่งบ้านเหล่านี้ได้กลายเป็นบ้านรับรองเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่มาดูการเจาะอุโมงค์หลายครั้งเช่น เมื่อ พ.ศ.2452 ร.6 เมื่อครั้งทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ก็ได้เสด็จทอดพระเนตรการขุดเจาะอุโมงค์

วิธีการขุดเจาะในสมัยนั้น ใช้แรงคนเจาะภูเขาหิน ฝังระเบิดเป็นช่วงๆ ใช้เวลา 8 ปี ในการเจาะและขนดินออกมาอุโมงค์ทั้ง 2 ด้านก็ทะลุถึงกันตรงตามที่คำนวณไว้ และใช้เวลาอีก 3 ปีสำหรับการผูกเหล็ก เทคอนกรีต ทำผนัง บุหลังคาถ้ำ กันน้ำรั่วซึม

ตัวอุโมงค์ที่เจาะแล้วมีความกว้าง 5.20 เมตร สูง 5.50 เมตร

ในการสร้างทางรถไฟสายเหนือของสยาม ทำกันไป สอนกันไป ลองผิด ลองถูก คนงานที่ทำ ก็ไม่เคยเห็นอุโมงค์มาก่อน

ยิ่งขุดลึกเข้าไป งานก็ยิ่งยากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะต้องขนเศษหินออกมาทิ้งนอกอุโมงค์ ซึ่งหินที่เจาะออกมาจากอุโมงค์ขุนตานมีปริมาณถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตร การใช้แรงงานคนขนออกจากถ้ำ จึงเป็นงานที่แสนสาหัสยิ่ง

คนงานที่สมัครขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานนี้ ส่วนใหญ่เป็น พวก “ไม่มีที่ไป” เป็นพวกร่อนเร่เผชิญโชค พวกขี้เหล้าและขี้ยา ซึ่งขี้ยาในยุคนั้นก็คือพวกสูบฝิ่น ปรากฏว่าพวกที่ทำงานได้ดีที่สุดก็คือพวกขี้ยาสูบฝิ่น ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างมีร่างกายผอมแห้ง

ไอ้ที่ขยันขนหิน ก็หวังจะได้เงินมาสูบฝิ่น ทั้งยังไม่มีความกลัวควันพิษต่างๆ ในอุโมงค์ที่เกิดจากฝุ่นหิน

ขั้นตอนต่อจากการขุดเจาะคือ การผูกเหล็กและเทคอนกรีต กรรมกรในขั้นตอนหลังนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ (มักถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่าเงี้ยว) และคนอีสาน เนื่องจากยุคนั้นมีทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราชแล้ว ทำให้แรงงานอีสานหลั่งไหลเข้ามาสมัครทำงานเพื่อแลกค่าตัวไปไถ่อิสรภาพให้พ้นจากความเป็นทาส

การเลิกทาส แม้จะมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่สำหรับชนบทรอบนอกดังเช่นภาคเหนือ เพิ่งจะเริ่มมีในสมัย ร.6 ด้วยการออก “พระราชบัญญัติลักษณะทาษศก 124” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2455 เป็นต้นไป

ผลของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้ทาสที่มีอยู่จะลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท จนหมดค่าตัว และค่อยๆ หมดไป เห็นได้ว่าปี 2455 เป็นปีเดียวกันกับที่เริ่มต้นเอาทาสมาสร้างอุโมงค์ขุนตาน

การเจาะถ้ำขุนตาน ก้าวย่างเข้ามาถึงในรัชสมัยในหลวง ร.6

เรื่องตลกร้าย ก็บังเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง…

หลังจากเริ่มเจาะถ้ำขุนตานมาได้ 4 ปี สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่รบกันในยุโรป เยอรมัน คือ ตัวแสดงหลักในสงคราม ฝรั่งในยุโรปแบ่งข้าง รบกันเลือดเดือด สยามประกาศวางตัวเป็นกลาง รอดูท่าทีอยู่ราว 3 ปี จึงตัดสินใจประกาศสงครามกับเยอรมัน

ในหลวง ร.6 ทรงคำนึงถึงงานเจาะอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิศวกรชาวเยอรมันทั้งสิ้น ทั้งนี้ วิศวกรเยอรมันที่เจาะอุโมงค์ ต่างก็มีความดีความชอบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ โดย มร.เอฟ ชะแนร์ ได้เป็น พระอำนวยรถกิจ มร.แอร์วิล มูลเลอร์ ได้เป็น พระปฏิบัติราชประสงค์ มร.ยี เอฟ เวเลอร์ ได้รับพระราชทานนามสกุล “เวลานนท์”

ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อประกาศสงครามกับเยอรมันแล้ว คนเยอรมันจะต้องถูกจับเป็นเชลยศึกทันทีเพราะเป็นชาติคู่สงคราม

ดังนั้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2460 ก่อนสยามจะประกาศสงคราม 25 วัน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารบก เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟทั้งหมด

22 กรกฎาคม 2460 รัฐบาลสยามประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน

วิศวกรชาวเยอรมัน ที่กำลังควบคุมการขุดอุโมงค์ขุนตานถูกจับ ถูกถอดบรรดาศักดิ์ และถูกคุมตัวส่งลงมากรุงเทพฯ ตามกติกา

มีชาวเยอรมันที่อยู่ในกรมรถไฟและกรมไปรษณีย์รวมกันถึง 178 คน ถูกจับทั้งหมด แต่ก็เป็นการปฏิบัติพอเป็นพิธี

ชาวเยอรมันได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ใช้โรงพยาบาลทหารบกที่ถนนอุณากรรณ ซึ่งทันสมัยเหมือนโรงแรมชั้น 1 เป็นที่ควบคุม และยังมีหมอและพยาบาลดูแลสุขภาพด้วย ส่วนครอบครัวที่มีเด็กก็ใช้สโมสรของชาวเยอรมันเองที่ถนนสุรวงศ์เป็นที่กักกัน

กลุ่มวิศวกรชาวเยอรมันที่รับราชการในกรมรถไฟทั้งหมด รวมทั้ง มร.โฮเฟอร์ ถูกควบคุมตัวในฐานะชนชาติศัตรู

ถูกคุมขังอยู่ในประเทศไทย 6 เดือน แล้วจึงถูกส่งต่อไปยังประเทศอินเดียอีก 2 ปี จึงได้ถูกส่งกลับเยอรมนีใน พ.ศ.2463

สงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันแพ้สงคราม ยุติเมื่อ 11 พ.ย.2461

ต่อมาในปี พ.ศ.2472 มร.โฮเฟอร์ ที่ผูกพัน แสนรักงานก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน จึงได้ขอกลับมาสยามเพื่อขอมาทำงานต่อไป และจากนั้นก็ไม่ได้กลับประเทศเยอรมันอีกเลย จนกระทั่งถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ.2505 ในประเทศไทย

เนื่องจาก มร.โฮเฟอร์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจาะถ้ำขุนตาน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ทำการบรรจุอัฐิไว้ที่หน้าผาถ้ำขุนตานทางด้านเหนือเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงชื่อเสียงเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ชั่วนิจนิรันดร์

ตัวเลขที่ชาวไทยควรสนใจ คือ การก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน เริ่มเมื่อ พ.ศ.2450 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2461 รวมใช้เวลา 11 ปี ใช้งบประมาณแผ่นดิน 1,362,050 บาท ครับ ขอย้ำว่า 1 ล้าน 3 แสน 6 หมื่นบาทเศษ ซึ่งก็นับว่ามหาศาล คุ้มค่า สำหรับลูกหลาน

อุโมงค์ขุนตานแล้วเสร็จสมบูรณ์ เปิดให้ขบวนรถไฟผ่านเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม 2468 ในสมัยในหลวง ร.7

ผู้เขียนเชื่อว่า คงเป็นความตื่นเต้นของคนไทยที่อยากจะนั่งรถไฟลอดอุโมงค์ขุนตานสักครั้งในชีวิต สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ชวนกันนั่งรถไฟขึ้นเหนือไปเที่ยวถ้ำขุนตาน กันหน่อย ทัศนียภาพระหว่างทางก็เพลิดเพลินไม่น้อย

กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าลงมือทำ ทำเพื่อบ้านเมือง ยังประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง จะมีแต่คนสรรเสริญ

คนไทยทั้งผองขอยกย่อง สรรเสริญ บูชา พระวิสัยทัศน์ ของพระมหากษัตริย์ไทย กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินฯ มร.เอมิล ไอเซน โฮเฟอร์ และบรรพบุรุษทั้งปวงที่สร้างสรรค์ ยังประโยชน์สุขแก่ลูกหลาน-บ้านเมืองตราบชั่วนิรันดร์….

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image