จากมติครม.อานันท์ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กัน สำหรับปัญหาคดี 7 ตุลาคม 2551 ที่ ป.ป.ช.ชุดเดิม ชี้มูลความผิดกับผู้นำรัฐบาลและตำรวจในขณะนั้น แล้วยังไปจ้างทนายฟ้องร้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เพราะในแง่ของคนรักสิทธิประชาธิปไตย เริ่มห่วงใยว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับรัฐบาลในอนาคต ต่อการตัดสินใจใช้มาตรการสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน

เพราะถ้าหากรัฐบาลและตำรวจที่ใช้ตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา ถูก ป.ป.ช.ชี้ว่ามีความผิด

ขณะที่ในการสลายการชุมนุมเมื่อ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ของอีกรัฐบาล ใช้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธจริงและกระสุนจริง อ้างว่ามีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุม ลงเอยฝ่ายผู้ชุมนุมที่ไม่เกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายตายไปด้วยกระสุนความเร็วสูงถึง 99 ศพ สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ชี้ว่ารัฐบาลไม่ผิด ตีตกไปเลยไม่ต้องส่งอัยการส่งศาล

Advertisement

เช่นนี้แล้ว ต่อไปเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติ ไปจนถึงรัฐบาลผู้ออกคำสั่งในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วง จะใช้แนวทางไหนควบคุมสถานการณ์

ถ้าหากมีคดีตัวอย่างเป็นบรรทัดฐานเอาไว้แล้ว

เกิดรัฐบาลในอนาคตเห็นว่าวิธีการที่ ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่ผิด ปลอดภัยสำหรับผู้ออกคำสั่ง ทำไปแล้วไม่ต้องถูกดำเนินคดี เลยพากันหันไปเลือกแนววิธีดังกล่าวกันหมด

ส่วนวิธีใช้ตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา ที่เป็นมาตรฐานสากล ใช้กันทั่วโลกนั้น แต่ในประเทศไทยเรา ป.ป.ช.ชี้ว่าผิด

อย่างนี้รัฐบาลในวันหน้า อาจไม่กล้ายึดถือแนวทางไม่ใช้อาวุธจริง

ถ้าหากแนวโน้มกลายเป็นเช่นนี้

อนาคตของประชาชนที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในภายภาคหน้าจะเป็นเช่นไร จะสยองกว่า 99 ศพหรือไม่

จึงบอกว่าในสายตาของผู้รักเสรีภาพประชาธิปไตย จึงเริ่มห่วงใยถึงบรรทัดฐานของคดีสลายการชุมนุมทางการเมือง อาจจะมีผลสร้างความสับสนต่อการปฏิบัติในภายภาคหน้าของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ

แม้ว่าบ้านเมืองเราในวันนี้อยู่ภายใต้การคุมอำนาจของรัฐบาล คสช. ไม่สามารถใช้สิทธิชุมนุมได้ตามปกติ

แต่เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง การเมืองเข้าสู่ความเป็นปกติ ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงควรได้รับการคุ้มครองชีวิตด้วย

อันที่จริง แนวทางการใช้ตำรวจปราบจลาจล ไม่มีอาวุธจริง มีเพียงกระสุนยาง แก๊สน้ำตานั้น เริ่มต้นด้วยมติของคณะรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

รัฐบาลนายอานันท์มีหน้าที่สอบสวนค้นหาต้นตอความรุนแรงในเหตุการณ์นองเลือด 17 พฤษภาคม 2535 ก่อนได้ข้อสรุปว่า นับจากนี้ไปประเทศไทยต้องไม่มีการสลายม็อบด้วยกระสุนจริงจนล้มตายเลือดนองกลางเมืองหลวงอีก

อันเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งตำรวจปราบจลาจล และจัดหาเสื้อเกราะ โล่ กระบอง กระสุนยาง แก๊สน้ำตาครั้งใหญ่ เพื่อสร้างหลักประกันคุ้มครองชีวิตของประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการประท้วง

คำถามคือ ในยุคต่อๆ มา รัฐบาลไหนที่ปฏิบัติโดยยึดแนวทางจากรัฐบาลของนายอานันท์ และรัฐบาลไหนไม่ปฏิบัติตามในการสลายการชุมนุม

แล้วบรรทัดฐานของ ป.ป.ช.ชุดเดิมเป็นเช่นไร ระหว่างการใช้แก๊สน้ำตา กับการใช้กระสุนจริง

อย่างนี้แล้ว ควรจะมีทางออกอย่างไร เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องล้มตายนองเลือดกลางเมืองหลวงอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image