อำนาจรัฐ กฎหมาย และหลักการของผู้คนแบบหนอนครึ่งตัว : โดย กล้า สมุทวณิช

เมื่อมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพขึ้นมา ข้อเถียงยอดฮิตของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นนั้น คือการอ้างว่า “หากประเทศนี้เป็นเผด็จการจริง ก็ยังเห็นพวกคุณๆ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือท่านผู้นำกันสนุกปาก ไม่เห็นว่าจะโดนจับไปทำอะไร”

สิ่งที่ผู้ยกข้อโต้แย้งนี้พยายามชี้นำ คือการที่อีกฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือออกความเห็นทางการเมืองแบบแตะนิดต้องหน่อยแล้วยังรอดพ้นไม่ถูกอำนาจรัฐใดมาล่วงล้ำกล้ำกราย นั่นหมายถึงว่ารัฐนี้ให้เสรีหาใช่เผด็จการอย่างที่บางฝั่งบางฝ่ายพยายามร้องป่าว

แต่ผู้ยกข้อโต้แย้งก็อาจจะไม่รู้ หรือรู้แต่ก็แกล้งลืมว่า แอดมินเพจล้อเลียนนายกรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่งถูกทหารตามไปอุ้มตัวถึงบ้าน ดำเนินคดีร้ายแรงด้วยข้อหาความมั่นคง ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องการเลือกตั้ง หรือเคลื่อนไหวใช้สิทธิในทางการเมืองก็มีคดีติดตัวกันคนละข้อหาสองข้อหา ทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน

ดังนั้น ที่แท้แล้วคำว่า “ไม่เห็นว่าจะโดนจับ” จึงมีความหมายถึง “ยังไม่เห็นว่าโดนจับ” และจะโดนจับหรือได้รับผลร้ายจากอำนาจรัฐหรือไม่ก็มิอาจทราบได้

Advertisement

ผู้นำเผด็จการที่เราเคยรู้จักในภาพยนตร์หรือนิยาย อาจจะเป็นเผด็จการใจร้ายที่ใครกล่าวอ้างถึงหรือล้อเลียนจะต้องถูกจับลงโทษอย่างรุนแรงหนักหนาถ้วนหน้ากัน ประเทศอยู่ในระบอบแห่งความหวาดกลัวที่ไม่มีใครกล้าหืออือหรือเงยหน้า (หากเป็นภาษาภาพยนตร์หรือวรรณกรรมดิสโทเปีย ก็จะสื่อให้เห็นว่าผู้คนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเดียวกัน และมีสีหน้าไร้ความคิดความฝัน)

เผด็จการเช่นนั้นน่ากลัวและชวนอึดอัด แต่ที่แท้แล้วเผด็จการที่ร้ายกาจฉลาดยิ่งกว่าจะเป็นเผด็จการผู้ใช้อำนาจอย่างลักปิดลักเปิด

ก่อนอื่น ลองจินตนาการว่าระหว่างการไร้ซึ่งหลักการใด หรือการมีหลักการครึ่งๆ กลางๆ ไม่คงเส้นคงวา ระหว่างสภาวะไร้กฎหมายไม่มีขื่อมีแป กับสภาพที่มีกฎหมายแต่ไม่ใช้บังคับอย่างสม่ำเสมอ สภาพไหนแบบใดจะแย่กว่ากัน

Advertisement

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก อาจจะลองจินตนาการถึงประเทศเผด็จการในหนังหรือนิยายที่ว่าไปข้างต้น ที่หากคุณทำความผิดฐานหมิ่นหยามหรือต่อต้านอำนาจรัฐของท่านผู้นำให้ถูกจับได้แล้ว มีโทษถึงประหารลากไปยิงเป้าในที่สาธารณะให้ตายตกไปโดยถ้วนหน้า กับอีกประเทศหนึ่งที่มีทัณฑ์สถานเบากว่า อาจจะแสร้งว่ามีกระบวนยุติธรรม มีโทษจำคุกที่ตัดสินโดยศาล

แต่ปัญหาสำคัญคือไม่ใช่ทุกครั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์ท่านผู้นำหรืออำนาจรัฐแล้วจะถูกจับกุม หรือถึงจับกุมแล้วก็ใช่ว่าจะถูกลงโทษเช่นนั้นทุกกรณีไป จนไม่อาจคาดเดาได้ว่ากรณีไหนอย่างไรจึงจะถูกลงโทษตามกบิลเมืองนั้น

เราไม่ได้พูดถึงกรณี “สองมาตรฐาน” หรือการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ความไม่คงเส้นคงวาของหลักการที่กล่าวไปนั้นไม่มีหลักการใดว่าเมื่อไรที่หลักการนั้นจะถูกงัดขึ้นมาใช้ ในขณะที่การเลือกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน อย่างน้อยมันก็ยังมี “มาตรฐาน” อยู่บ้าง หรือมีกฎเกณฑ์บางอย่างให้เราสามารถวางแผนหรือคาดเดาได้บ้าง เช่น รัฐประเทศที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อสตรี ผู้ที่มีผิวสี
ศาสนา หรือความเชื่ออุดมการณ์เป็นมาตรฐานทั้งทางกฎหมายและสังคม แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย แต่กระนั้นมันก็ยังคงมีหลักการแห่งความอยุติธรรมนั้นว่า ด้วยสถานะเพศภาพ ผิวสี ศาสนา ความเชื่อเช่นนี้ คุณจะได้รับการปฏิบัติหรือมองเห็นจากรัฐนั้นอย่างไร แต่ในระบบที่ไม่คงเส้นคงวา คุณเห็นผู้หญิงคนหนึ่งใส่กางเกงขาสั้นก็เข้าไปขอรับบริการทางราชการได้ แต่คุณซึ่งเป็นผู้หญิงและแต่งตัวแบบเดียวกัน ก็อาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าสถานที่ ด้วยเหตุว่าแต่งกายไม่เหมาะสมก็ได้

ความยุติธรรมหรือสิทธิเสรีภาพที่ไม่คงเส้นคงวา อาจจะแย่กว่าการไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่เลย

ในระดับรองลงมา การบังคับใช้กฎหมายหรือบริหารอำนาจรัฐแบบไม่มีความชัดเจนแน่นอน ก็อาจจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คนได้ยิ่งกว่าการไม่มีกฎเกณฑ์ใดเลย เช่น ในสภาวะโกลาหลไร้กฎหมาย อำนาจรัฐไม่อาจทำงานได้ ผู้คนมีปืนกันคนละกระบอกไว้ตัดสินปัญหาข้อพิพาทหรือต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรและปกป้องสิทธิของตนเอาเองตามกำลัง ใครอ่อนแอก็แพ้ไป โลกแบบนี้อาจจะอยู่ได้ง่ายกว่า โลกที่มีกฎหมายห้ามลักทรัพย์หรือละเมิดทางเพศ รวมถึงห้ามพกหรือมีไว้ซึ่งอาวุธปืนด้วย แต่เมื่อถึงเวลาที่ใครสักคนมายกเค้าที่บ้านหรือล่วงเกินคนที่เรารักแล้ว ก็ต้องมาลุ้นว่ารัฐจะช่วยกรุณามาเป็นธุระบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขเยียวยาลงโทษคนผิดให้หรือไม่ หรือในทางกลับกัน ถ้าเราจะยิงสวนผู้มาประทุษร้ายนั้นไปสักนัดสักเปรี้ยง เราจะถูกรัฐนั้นบังคับใช้กฎหมายกับเราหรือไม่

อาจเห็นได้ว่าในโลกอันป่าเถื่อนแบบแรกนั้น ยังมีความมั่นคงชัดเจนบางอย่างอยู่

หรือในภาพเล็กกว่านั้น คือกรณีที่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ไม่เคยมีการใช้บังคับมานานแล้ว แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าเป็นเรื่องผิด แต่ใครๆ ก็ทำกันจนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ว่าเรื่องนี้เป็น “ความผิด” ที่ “รัฐไม่เอาเรื่อง” กระทั่งวันหนึ่งที่คุณทำสิ่งนั้นแล้วถูกดำเนินคดีลงโทษ ทั้งๆ ที่คนอื่นที่ทำแบบเดียวกับคุณนั้นไม่ถูกลงโทษ และยังทำสิ่งนั้นได้อย่างเป็นเรื่องปกติ

จริงอยู่ว่าสำหรับบางเรื่องแล้ว ไม่ว่าคนอื่นจะทำสิ่งนั้นด้วยหรือไม่ ทำแล้วถูกลงโทษหรือเปล่า หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดถือเป็นความผิดแล้วใครสักคนได้ทำลงไป เขาก็ควรได้รับโทษโดยไม่ต้องคำนึงว่าคนอื่นจะรับโทษเช่นเดียวกันหรือไม่ เหมือนใครขับรถฝ่าไฟแดงก็ควรเสียค่าปรับต่อทางกันไปเสียโดยดี อย่างชี้ไม้ชี้มือเกี่ยงให้ไปจับคนอื่นก่อน แต่หากคิดในแง่มุมของความเป็นธรรมอีกด้านหนึ่งว่า การที่คนเราจะตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำอะไรนั้น มาจากการชั่งน้ำหนักผลดีร้ายได้เสีย หากเห็นว่าคนอื่นนั้นสามารถทำอะไรบางเรื่องได้ เราก็อาจจะเชื่อโดยสุจริตว่าเราทำได้เช่นกัน

แม้มันจะเป็นตรรกะวิบัติแบบ Ad populum แต่มันก็สมเหตุสมผลในแง่หนึ่ง หากเรามองในแง่มุมของความมั่นคงทางนิติฐานะ

หรืออย่างในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้คนในทางอาญาก็ด้วย ในสมัยก่อน หากผู้กระทำความผิดนั้นเคยรับราชการ หรืออยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งพอจะมีผู้รู้จักอยู่บ้าง หากเมื่อใดที่พวกเขามีเหตุจะต้องถูกลงโทษตามกบิลเมือง เกียรติประวัติเหล่านั้นก็อาจนำมาเป็นเหตุควรปรานีได้บ้าง ว่าเคยทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่สมควรถูกลงโทษสถานหนัก แต่วันร้ายคืนร้าย หรือคนโชคร้ายบางคน ในบางยุคสมัยที่สายลมเปลี่ยนไป การที่เคยรับราชการหรือมีตำแหน่งแห่งที่เช่นนั้น กลายกลับเป็นเหตุไม่พึงปรานี เนื่องจากผู้นั้นควรจะรู้ดีรู้ชั่วมากกว่าคนอื่น สมควรลงโทษขนาดหนัก

จากนั้น คุณก็ไม่มีทางรู้ว่า สถานะเดียวกันนั้นจะทำให้คุณถูกมองว่าเป็นคนดีที่ผิดพลาดผู้ควรได้รับการปรานี หรือมองว่าเหตุนั้นสถานะนั้นทำให้คุณควรถูกลงโทษอย่างรุนแรงเพราะเป็นคนดีแต่ดันไม่รักดี

ไม่เฉพาะแต่ความไม่คงเส้นคงวาของอำนาจรัฐ แม้แต่ในระดับปัจเจกชนก็มีความไม่คงเส้นคงวาอยู่ อย่างที่ให้จับแหกแหวกประจานกันถึงความไม่คงเส้นคงวาของผู้รักชาติจนตัวสั่นเทิ้มและรังเกียจรังชังความฉ้อฉลคดโกง ก็มีมหาศาลอย่างที่ล้อกันได้ไม่หยุดหย่อน ต้องขอบคุณโลกที่ทุกอย่างบันทึกไว้ได้ด้วยคลื่นดิจิทัล และสามารถเรียกกลับค้นคืนได้อย่างสะดวกสบาย ทำให้เราได้มีข้อพิสูจน์ถึงมนุษย์ผู้มีหลักการแบบหนอนครึ่งตัวได้ คนที่มองว่าการมีหลักประกันทางสุขภาพให้แก่ประชาชนโดยถ้วนหน้าเป็นความสิ้นเปลือง การจัดตั้งกองทุนของรัฐเพื่อให้ชุมชนกู้ไปสร้างวิสาหกิจคือการหาเสียงล่วงหน้า โครงการจำนำข้าวคือความเสียหายต่องบประมาณและเศรษฐกิจจนประเทศเสียหายยับเยิน เอาแบงก์พันมาต่อกันเป็นทำอินโฟกราฟิกกันด้วยความคิดสร้างสรรค์เต็มเปี่ยมว่าเงินของรัฐเอามาพันรอบโลกได้กี่รอบ

หากพลเมืองผู้แข็งขันเหล่านั้นกลับเงียบกริบให้กับการเอาเงินมาหว่านโปรยแจกจ่าย โอนลงไปในบัญชีให้กดใช้ได้โดยตรง หรือถ้าจะมีบ้าง ก็เป็นการก่นว่าผู้ไปรับเงินนั้นมาใช้ โดยไม่แตะต้องสนใจฝ่ายรัฐที่เอาเงินแผ่นดิน (ที่ตีความเสียกว้างเป็นทะเลหากฝ่ายรัฐผู้ดูแลเงินนั้นเป็นฝั่งฝ่ายที่ตนไม่ชอบหน้า) ไปหว่านโปรย

ในสำนวนไทยนั้น มีคำกล่าวเรียกมนุษย์ที่ขาดความคงเส้นคงวาไม่ว่ากับเรื่องใดๆ ก็ตามว่า เป็นพวก “ผีเข้าผีออก” นั่นคือถ้าผีเข้าก็อย่างหนึ่ง ผีออกก็อีกอย่างหนึ่ง ตอนผีเข้าก็อดรนทนไม่ได้เอาเสียเลยกับความทุจริตไม่โปร่งใสทุกรูปแบบ หวงแหนทรัพย์สินเงินแผ่นดินเช่นสมบัติของเหง้าตระกูล เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมต่อสู้อย่างเต็มที่

พอผีออกเมื่อไร ก็กลายเป็นคนไม่สนใจใฝ่คิดในเรื่องการบ้านการเมืองไปเสียอย่างนั้น โลกภายนอกไม่สำคัญเท่าโลกภายใน เอาเวลาไปพัฒนาตัวเองให้ดีสร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็งเสียดีกว่า

บางครั้ง “ผี” แท้ๆ ที่โผล่มาหลอกหลอนเป็นเวลา สิงสู่ในสถานที่อันห้ามหวง ก็ยังดีกว่ามนุษย์ผีเข้าผีออก ที่เราไม่รู้ว่าในตอนที่คุยด้วยนั้นเป็นช่วงที่เขาเป็นคนหรือเป็นผี ความไร้ขื่อไร้แปก็อาจจะไม่ร้ายแรงเท่าขื่อแปที่มีสวิตช์ปิดเปิดได้ตามใจ

หากสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าการเจอหนอนหนึ่งตัวในจานอาหาร คือการพบหนอนครึ่งตัว เรื่องน่าพิพักพิพ่วนของกระบวนยุติธรรมที่ไม่คงเส้นคงวา ผู้คนที่รักความเป็นธรรม ตื่นตัวทางการเมือง หรือมีหลักการแบบผีเข้าผีออก ในรัฐประเทศเผด็จการลักปิดลักเปิด ก็คล้ายกับหนอนครึ่งตัวที่น่าขยะแขยงเช่นนี้เอง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image