กล่องแมวในห้องปิดตาย โดย กล้า สมุทวณิช

มีทฤษฎีในวิชากลศาสตร์ควอนตัมที่โด่งดังและเป็นที่รู้จัดมากเรื่องหนึ่ง ถูกกล่าวถึงอ้างอิงแม้แต่ในวัฒนธรรมร่วมสมัย คือ ทฤษฎีแมวของชโรดิงเงอร์ (Schrdinger”s cat)

ทฤษฎีนี้เป็นการทดลองเชิงเปรียบเปรยในจินตนาการ ให้เรานึกภาพแมวตัวหนึ่งในกล่องปิดทึบ ในกล่องนั้นมีกลไกฆ่าแมว ที่มีโอกาสจะฆ่าแมวได้ครึ่งต่อครึ่งในหนึ่งชั่วโมง นั่นคือกลไกอาจจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ แมวในกล่องปิดนี้แสดงสถานะที่เรียกว่า superpositioning ทับซ้อนกันระหว่างแมวเป็นและแมวตาย นั่นคือตราบใดที่ยังไม่มีการเปิดกล่องแมว แมวจะมีสถานะ “เป็นและตาย” เท่ากัน และสถานะทับซ้อนนี้จะสิ้นสุดเมื่อมีการเปิดกล่องออกมาดู ว่าตกลงแมวนั้นเป็นหรือตาย เมื่อนั้นสภาพกึ่งเป็นกึ่งตายของแมวก็ยุติ เหลือเพียงสถานะชัดเจนของแมวเป็นกับแมวตายเท่านั้น

ท่านที่สนใจโปรดค้นคว้าต่อไปได้ด้วยคำค้น “แมวของชโรดิงเงอร์” หรือ “Schrdinger”s cat” หรือเอาแบบง่ายและน่ารักด้วยวิดีโอเรื่อง What can Schrdinger”s cat teach us about quantum mechanics?-Josh Samani (ท่านผู้อ่านหนังสือพิมพ์สามารถใช้ Smart phone หรือ Tablet แสกน QR Code ท้ายบทความนี้เพื่อชมวิดีโอได้)

Advertisement

สภาวะทับซ้อนไม่รู้เป็นรู้ตาย แมว และกล่องปิดทึบ พาให้จินตนาการไปถึงบางสิ่งในประเทศที่กำลังมีสถานะ “ไม่รู้เป็นรู้ตาย” อยู่เช่นกัน จนกว่า “กล่อง” จะถูกเปิดออก จึงใคร่ขอนำท่านเข้าสู่การทดลองแบบแมวๆ อีกสักเรื่อง

โปรดจินตนาการถึงห้องขนาดใหญ่ขึ้นมาห้องหนึ่ง ใส่คนลงไปในห้องนั้น 49 คน วันหนึ่ง มี “ผู้คุม” นำกล่องใบใหญ่มาตั้งไว้กลางห้อง โดยบอกว่า ในกล่องนั้นมีแมวใส่ไว้ตัวหนึ่ง พร้อมกับยื่นการ์ดเล็กๆ เขียนคำว่า “เปิด” และ “ไม่เปิด” ส่งให้ทุกคนในห้อง

กติกาต่อมา คืออีก 3 ชั่วโมง ผู้ควบคุมท่านจะกลับมาที่ห้องนั้นใหม่ ทุกคนต้องตัดสินใจวางคว่ำการ์ดเพียงหนึ่งใบที่เป็นผลของการตัดสินใจของตัวเองว่าควรจะเปิดกล่องแมวหรือไม่ เมื่อผู้คุมสั่งให้เปิดการ์ด ทุกคนค่อยเปิดการ์ดออกมาและนับว่ามีคนจะให้เปิดกล่องใส่ “แมว?” หรือไม่ ท่านผู้คุมจะถือเสียงข้างมากจากการเปิดการ์ดนี้เอง

Advertisement

ระหว่างนี้ทุกคนจะแง้มกล่องมอง “แมว?” ข้างในก็ได้ แต่ถ้าเห็นแล้วอย่าบอกคนอื่นให้อื้อฉาวขัดต่อความสงบเรียบร้อย ห้ามบิดเบือนว่า “แมว?” ข้างในเป็นหมูหมากาไก่หรือสัตว์อื่นใด ห้ามใช้วาจาท่าใบ้ที่ทำให้คนอื่นรู้ว่าคิดอย่างไรกับ “แมว?” ในกล่องนั้น ส่วนจะสื่อสารกับคนอื่นอย่างไรนั้น ท่านผู้คุมตอบว่าบอกไม่ได้ ไว้ถ้ามีคนทำผิดเมื่อไรจะมีคนมาจับไปลงโทษให้เห็นเอง

คนในห้องทั้ง 49 คน มีทั้งคนที่คลั่งแมว ศึกษาเรื่องแมวจนรู้จักแมวเกือบทั่วโลก หรือถึงไม่รู้ขนาดนั้นหลายคนก็สามารถแยกแยะแมวออกจากเสือหรือสุนัขได้ แต่ก็มีคนอีกมากที่รู้จักแมวแค่ผิวเผินว่าเป็นสัตว์สี่ขาขนนุ่ม ปกติแล้วตัวเล็ก และคนอีกกลุ่มที่คอยมองดูว่าผู้นำของตัวว่าอะไรก็ว่าตามกัน เพราะไม่สนใจเรื่องแมวหมาอะไรอยู่แล้ว บางคนไม่ยินดีกับการถูกบังคับให้ “ทดลอง” อยู่กับตัวอะไรก็ไม่รู้ในกล่องที่ไม่ได้เลือก กับสุดท้ายกลุ่มผู้ที่ไม่สนใจอะไรเลย นอกจากอยู่ร่วมกันในห้องที่ใช้ทำการทดลองเท่านั้น

แมวในกล่องจึงมีสถานะซ้อนเหลื่อมระหว่างแมวหรือสัตว์อื่นอันไม่ใช่แมว หรือถึงจะเป็นแมวจริงๆ หากกล่าวให้สุด “เสือ” และ “สิงโต” ที่เป็นนักล่าระดับสูงบนห่วงโซ่อาหารก็ถือว่าเป็นสัตว์จำพวกแมวเช่นกัน

ถ้าตัดสินใจไม่เปิดกล่องเล่า “แมว?” ในกล่องก็จะยังมีสถานะกำกวมอยู่ต่อไป และไม่รู้ว่าผู้คุมเขาจะเอาอะไรมาวางไว้หรือใส่มาให้เราอีกหรือไม่

แต่ถ้าตัดสินใจเปิดกล่องออกมา เพื่อยุติสภาวะกำกวม ทุกคนจะได้รู้ว่าในกล่องปริศนานั้นเป็นแมวหรือเป็นอะไรกันแน่ แต่หากในนั้นเป็นสัตว์ร้าย การจะจับมันเข้าไปไว้ในกล่องเหมือนเดิมก็ยากแสนยาก อย่างน้อยอาจจะต้องแลกมาด้วยการที่ใครบางคนถูกกินเข้าไป ทั้งก็ไม่แน่อีกว่า ถ้าต่อให้คนในห้องตกลงพร้อมใจจะ “ปิดประตูตีแมว” แล้ว ผู้คุมที่ถือกระบองอยู่ หรือที่สังเกตการณ์อยู่นอกห้อง จะเข้ามาตีคนเพื่อช่วยแมวที่เขาเอามาใส่ไว้หรือไม่

อันที่จริง หากคนในห้องปิดตายนั้นได้ปรึกษากัน แม้จะได้ดูแมวจากคนละมุม แต่ในที่สุด “ภาพของแมว” ก็จะถูกนำมาต่อเชื่อมกันได้ ว่าจริงๆ แมวตัวนี้มีสีมีลายอย่างไร จะจับหนูได้ไหม แมวตัวใหญ่ขนาดไหน ถ้าใหญ่ขนาดนั้นตกลงจะเรียกมันว่าแมวได้อยู่ไหม เขี้ยวเล็บของมันดูปลอดภัยและไม่ทำร้ายผู้คนในห้องนั้นหรือไม่ ส่วนคนที่อยากได้แมวในกล่องก็อาจจะได้โน้มน้าวว่า ตัวใหญ่ก็ไม่เห็นเป็นไร เขี้ยวนี่ก็ปกติแมวที่ไหนก็มี เสียงดังๆ สิดีหนูหรือสัตว์รบกวนอื่นจะได้กลัว หรืออาจจะมีคนที่มาในทางสายกลางว่า ถึงแมวข้างในจะตัวใหญ่ แต่เราก็พอรับมือได้หรอกเราจำนวนเยอะกว่า การได้ถกเถียงกันเช่นนี้การตัดสินใจว่าจะเปิดให้แมวออกมาหรือไม่เปิดก็น่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนอยู่ในห้องมากกว่า

แต่เรื่องก็ยากตรงที่ว่า ใครก็ตามที่พยายามบอกคนอื่นว่า “อย่าเปิด” จะได้ยินเสียงกระแอมและถลึงตาจ้องมาจากท่านผู้คุมที่ยืนถือกระบองอยู่ตรงหน้าประตูทางออกจากห้อง ส่วนคนที่บอกว่า “เปิดเถอะ” ผู้คุมก็กระแอมใส่เหมือนกัน แต่อุปาทานกระมังทำให้เรารู้สึกว่าเสียงกระแอมไอนั้นเบากว่า

ไม่ว่าจะอย่างไร ราวกับทุกคนในห้องนั้นอาจจะถูกกักไว้ให้เล่นเกมเอาแต่ใจ ที่เอาเข้าจริงๆ ผู้คุมอาจจะเดินมาเปิดกล่องให้เสียเฉยๆ หรือต่อให้คนในห้องตกลงกันว่าไม่เปิดกล่อง แต่ผู้คุมจะเปิดเสียอย่างใครจะทำไมก็ยังได้

แต่แม้ว่าจะอยู่ในเกมที่เลือกไม่ได้ก็ตามเถิด หากการตัดสินใจก็อยู่ในมือของทุกคนในห้อง และอีกไม่นานสถานะทับซ้อนของสิ่งแปลกปลอมภายในกล่องจะสิ้นสุดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image