สุจิตต์ วงษ์เทศ : ภูเขาทอง ตามอุดมคติเขาพระสุเมรุมาศ

เขาพระสุเมรุ จิตรกรรม ฝาผนังภายในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จ. เพชรบุรี

ภูเขาทอง เป็นชื่อพื้นเมือง ภาษาพื้นเมือง เรียกเขาพระสุเมรุ หรือสุเมรุมาศ ในคติพราหมณ์-พุทธ
พระอินทร์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระจักรพรรดิราช ครองสวรรค์ชั้นฟ้า โดยมีมหาปราสาทเป็นที่ประทับ อยู่เหนือจอมเขาพระสุเมรุ คือ ภูเขาทอง
บ้านเมืองและรัฐในคติ ผี-พราหมณ์-พุทธ ยกย่องพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระอินทร์ จึงมักสร้างภูเขาทองจำลองขึ้น เพื่อสมมุติว่าพระเจ้าแผ่นดินสถิตเหนือภูเขาทองลูกนั้น

เมืองเชียงราย (จ. เชียงราย) มีดอยธรรมชาติลูกเล็กๆ เตี้ยๆ อยู่กลางเมือง ริมน้ำ แม่กก โดยสมมุติเป็นดอยจอมทอง ตามคติภูเขาทอง หรือเขาพระสุเมรุ
เมืองพะเยา (จ.พะเยา) มีดอยธรรมชาติ (เหมือนเมืองเชียงราย) เรียก ดอยจอมทอง แล้วสร้างพระธาตุจอมทองไว้เหนือดอย
เมืองศรีสัชนาลัย (จ.สุโขทัย) มีดอยธรรมชาติอยู่กลางเมืองริมแม่น้ำยม (มีแก่งหลวง) ตั้งชื่อว่า เขาสุวรรณคีรี แปลว่า ภูเขาทอง

กรุงศรีอยุธยา ไม่มีภูเขาทั้งในเมือง และนอกเมือง เลยสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นกลางทุ่ง นอกเมือง แล้วเรียกเจดีย์ภูเขาทอง (มีคลองมหานาคอยู่ข้างๆ)
กรุงเทพฯ เลียนแบบกรุงศรีอยุธยา สร้างภูเขาทอง เรียกสุวรรณบรรพตในวัดสระเกศ ริมคลองมหานาค ด้วยคติเขาพระสุเมรุที่สืบเนื่องมาแต่โบราณกาล

แนวคิดที่อธิบายทั้งหมดนี้ได้จาก จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา (สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526 หน้า 337-360)

Advertisement
เจดีย์ภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก http://upload.wikimedia.org)
เจดีย์ภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก http://upload.wikimedia.org)
                               ภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร (ภาพจาก Bindoo Studio)
ภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร (ภาพจาก Bindoo Studio)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image