ว่าด้วยการพัฒนา แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงนี้คำฮิตคำหนึ่งที่มักจะมีการพูดกันจากฟากฝั่งรัฐบาล และกลุ่มการเมืองที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลก็คือคำว่า “การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ขณะที่อีกฝั่งฟากก็แซวว่า ตกลงผลงานของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นคงสำเร็จสมกับความมุ่งหวัง

เพราะหลายเรื่องตอนนี้เราอยู่รั้งท้ายตาราง หมายความว่าไม่มีใครอยู่หลังเราอีกแล้ว (ฮา)

ที่มาที่ไปของคำว่าการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leaving no one behind) พอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่าเป็นกระแสแนวคิดและปฏิบัติการของโลกภายใต้ “ระบอบการพัฒนา” (development regime) ใหม่ของโลก ที่ต่อเนื่องมาจากยุคเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals ที่เป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกันของประเทศในโลกเมื่อปี 2543ว่าก่อนเข้าปี 2558 ที่จะมีเป้าหมายขั้นต่ำในเรื่องต่างๆ อยู่ 8 ประการ 1.ลดจำนวนผู้ขาดสารอาหารลงครึ่งหนึ่ง 2.บรรลุประถมศึกษาสากล (universal primary education) 3.ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเพิ่มอำนาจสตรี 4.เพื่อลดภาวะการตายของเด็ก 5.ส่งเสริมสุขภาพมารดา 6.ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรียและโรคอื่น 7.ประกันความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม 8.ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทั่วโลกสำหรับการพัฒนา

Advertisement

ทีนี้เมื่อมาถึงปี 2558 ประเทศในโลกถึง 193 ประเทศก็มาประชุมตกลงกันอีกครั้ง แล้วก็ตกลงว่าจะปฏิบัติตามเป้าหมาย 17 เป้าหมาย รวมเรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG) ให้บรรลุให้ได้ในปี 2573 ได้แก่ 1.ขจัดความยากจน 2.ขจัดความอดอยาก 3.สุขภาพที่ดี 4.การศึกษาที่มีคุณภาพ 5.ความเท่าเทียมกันทางเพศ 6.น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล 7.พลังงานที่ไม่มีวันหมดในราคาที่ซื้อได้ 8.อาชีพและเศรษฐกิจที่ดี 9.นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี 10.ลดความไม่เท่าเทียม 11.เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน 12.การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ 13.การปฏิบัติการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ 14.การใช้ทรัพยากรในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน 15.การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน 16.สันติและความยุติธรรม และ

17.การร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในรายงาน SDG ของสหประชาชาติเมื่อปี 2558 ยังได้กล่าวถึงหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เอาไว้หลังการพูดถึงเป้าหมาย 17 ข้อ (https://unstats.un.org/sdgs/report/2016/Leaving-no-one-behind/) โดยชี้ว่า การจะทำให้เป้าหมาย SDG บรรลุผลจะต้องคำนึงว่า เงื่อนไขสำคัญคือการคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเป้าหมายทั้งหมดนั้นจะต้องไปให้ถึงในทุกๆ ประเทศ และในทุกภาคส่วนของสังคม

Advertisement

ที่สำคัญคนที่จะต้องเข้าไปให้ถึงก่อนกลุ่มอื่นๆ คือพวกที่อยู่ข้างหลังที่สุด (to reach first those who are furthest behind) ซึ่งหมายถึงบรรดาผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งในรายงานกล่าวไว้ในสองทาง ทางแรกคือ เด็ก เยาวชน ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้สูงอายุ ชนพื้นเมือง ผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น และคนอพยพ ส่วนทางที่สอง ในรายงานยกตัวอย่างประเด็นสำคัญประเภท เยาวชนชายที่มักเป็นเหยื่อของความรุนแรง ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มยากจนที่สุดจะขาดการเข้าถึงการคลอดบุตรที่ปลอดภัย รวมไปถึงคนจนในชนบทที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้น้อยกว่าคนในพื้นที่เมือง รวมทั้งผู้คนในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำสุดจะมีภาวะขาดสารอาหารมากที่สุด

หนึ่งในเงื่อนไขที่ประเด็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังกลายเป็นประเด็นขึ้นมาในการตั้งเป้าหมายใหม่ของการพัฒนาก็เพราะแนวคิด MDG เดิมนั้นถูกวิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดที่เน้นในเชิงเทคนิค แต่ละเรื่อง และไม่ได้เน้นความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ คือ ดูแค่ว่าภาพรวมแล้วประเทศนั้นผ่านเกณฑ์เฉลี่ยหรือไม่เท่านั้น แถมยังไม่ได้มุ่งเป้าไปที่คนที่เดือดร้อนที่สุดก่อนเสมอไป

ประเทศของเราอาจจะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มด้อยพัฒนาที่ประสบปัญหามากที่สุดในโลก ดังนั้น เมื่อคำว่าการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นเข้ามาในประเทศไทยและถูกใช้โดยรัฐบาล เราคงจะต้องมาช่วยกันทำความเข้าใจด้วยว่า “คนที่อยู่ข้างหลังนั้นคือใครกันบ้าง” และ “กระบวนการอะไรที่่ผ่านมาและในวันนี้ที่ทำให้การพัฒนาที่ผ่านมา ซึ่งควรชี้ว่าหมายถึงการพัฒนาทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐนั้นได้ทิ้งคนกลุ่มนี้ไว้ข้างหลัง”

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ การพัฒนานั้นไม่ได้หมายถึงแค่การสร้างโครงการและการแจกปัจจัยต่างๆ โดยรัฐสู่ประชาชนเป้าหมาย แต่ควรจะหมายรวมถึงการตั้งคำถามถึงโครงสร้างการพัฒนาที่ผ่านมาว่าทำให้ใครได้ประโยชน์และใครอยู่ข้างหลังบ้าง

ด้วยว่าการพูดถึง “คนข้างหลัง” และ “กระบวนการที่ทำให้เกิดคนข้างหลัง” นั้นไม่ใช่เรื่องแค่การสำรวจคนที่เดือดร้อน (ที่รัฐบาลมักถนัดทำในรูปแบบของการกรอกแบบฟอร์มและสำรวจจำนวน-ความต้องการ) แต่หมายถึงการพูดถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมที่ไม่ใช่สภาวะธรรมชาติ แต่ถูกทำให้เชื่อหรือยอมรับว่าเป็นสภาวะธรรมชาติ และกระบวนการที่ทำให้เกิดการกีดกันโอกาส (exclusion) เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่เข้าถึงทุกคนและทุกคนมีส่วนร่วม (inclusive development)

หมายถึงว่ารัฐอาจไม่ใช่ผู้นำการพัฒนา หรือกำหนดเป้าหมายการพัฒนา แต่ต้องมีมนุษย์หรือประชาชนเป็นเป้าหมาย และเป็นผู้มีส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนา

เรื่องหนึ่งที่นำมาพิจารณากันในการพูดถึง SDG ก็คือ การวัดผลการพัฒนานั้นมักจะวัดกันด้วยค่าเฉลี่ย มากกว่าสนใจว่าแต่ละกลุ่มคนนั้นจะมีผลการพัฒนาแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะระดับตัวบุคคล ไม่ใช่แค่ครัวเรือนหรือชุมชน ดังนั้น เมื่อเราวัดผลการพัฒนาในระดับบุคคลเพื่อไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะได้นำมาทำความเข้าใจและพัฒนานโยบายต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นจึงเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง และต้องทำความเข้าใจว่า กระบวนการพัฒนาหนึ่งๆ อาจทำให้คนบางกลุ่มได้ บางกลุ่มเสียด้วย

อีกเรื่องที่ต้องระวังในเรื่องของการทำความเข้าใจการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นก็คือการทำความเข้าใจว่า ข้อมูลการพัฒนาและผลการพัฒนาที่เราชอบพูดถึงและอ้างความศักดิ์สิทธิ์กัน โดยเฉพาะปัจจุบันไปไกลถึงเรื่อง Big Data นั้นส่วนมากมักจะเป็นข้อมูลที่บอกเราถึงสถานะของสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น จนรวย มากน้อย ซึ่งก็ยังขึ้นกับการตีความว่า ตัวเลขบางตัวนั้นเหมาะสมไหม

แต่ตัวเลขข้อมูลเหล่านี้ไม่ค่อยได้บอกว่าทำไมตัวเลขจึงออกมาเช่นนั้น หมายถึงว่ากระบวนการอะไรที่ทำให้ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการไม่พัฒนามันมีออกมาในระดับนั้น หรือมันมากขึ้นหรือน้อยลง

อีกประการหนึ่ง ก็คือ เมื่อเราพูดถึงความยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาในยุคนี้ เราจะไม่ได้หมายถึงแค่ตัวระบบนิเวศหรือธรรมชาติ หรือคนรุ่นต่อไปเท่านั้น เพราะหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นทำให้เราต้องทำความเข้าใจว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นหมายถึงการทำให้คนในปัจจุบันมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวทั้งกำหนดและได้รับผลจากการพัฒนาที่ยั่งยืนได้วย ไม่ใช่ไล่คนออกจากพื้นที่ในฐานะทางเลือกเพื่อคนรุ่นหลัง นั่นหมายถึงว่า การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน

อีกประเด็นที่ถกเถียงกันมากในเรื่องของ SDG การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นก็คือเงื่อนไขเรื่องประชาธิปไตย และเงื่อนไขเรื่องสิทธิมนุษยชน ว่าจะถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน

ในทางหนึ่งจะพบว่าเรื่องของสิทธิมนุษยนในหลายเรื่องนั้นถูกแปลงเข้าสู่มิติด้านการปฏิบัติมากขึ้นในแง่ของการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาผ่านการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แต่เรื่องใหญ่ที่ยังไม่ค่อยชัดก็คือ ประเด็นทางการเมือง ทั้งการเคารพสิทธิในการเรียกร้อง นำเสนอประเด็นในการตีความของการพัฒนา ความยั่งยืน และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ และการทำให้รัฐต้องมีความรับผิดชอบและพร้อมรับผิดต่อโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ไม่ได้เข้าหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ข้างหลังได้เข้าถึงอำนาจทางการเมืองที่กำหนดเป้าหมาย โอกาส และการจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนา

หมายเหตุผู้สนใจมิติเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กับ สิทธิมนุษยชน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก I.T. Winkler and C. Williams. The Sustainable Development Goals and Human Rights: A Critical Early Review. The International Journal of Human Rights. 21:8: 1023-1028, 2017

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image