อีกเมื่อไร (5) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่แวดล้อมการยึดอำนาจของกองทัพที่อยู่ในอำนาจได้ยาวนานที่สุด คือระบอบเผด็จการทหารของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส เปรียบเทียบกับ คสช.ในปัจจุบัน ดูจะไม่มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรที่จะช่วยให้ คสช.ตั้งอยู่ในอำนาจได้ยาวนานแบบนั้น ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ คสช.มีอำนาจอยู่ท่ามกลางเงื่อนไขปัจจัยทั้งทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมืองระหว่างประเทศ, พัฒนาการทางภูมิปัญญาของไทยและโลก, ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเมื่อทศวรรษ 2500 ซึ่งทำให้อำนาจแม้แต่ในระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสก็ตั้งอยู่ได้ยาก

ยิ่งกว่านี้ เมื่อพิจารณาเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เผด็จการทหารของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสล่มสลายลงในทศวรรษ 2510 ก็อาจกล่าวได้ว่า คสช.ต้องเผชิญเงื่อนไขปัจจัยทั้งหมดเหล่านั้นไม่ต่างจากกัน บางเงื่อนไขปัจจัยก็ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม บางเงื่อนไขถึงไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดแจ้ง แต่ตรรกะของการกระทำย่อมนำไปสู่ผลเช่นนั้นอย่างที่เห็นตัวอย่างมามากในชะตากรรมของเผด็จการทหารในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก (เช่น “กบฏ(ใน)กองทัพ”)

แต่คณะรัฐประหาร คสช.ก็ยังดำรงอยู่จนถึงวันที่เขียนบทความนี้อยู่ กว่าปีครึ่งแล้ว

ในเดือนตุลาคม 2520 หลังจากกองทัพได้ทำรัฐประหารซ้อนขับไล่รัฐบาลเผด็จการพลเรือนลงจากอำนาจแล้ว ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งคุยกับผมว่า เหตุใดรัฐบาลธานินทร์จึงถูกรัฐประหารซ้อนในตอนนี้เป็นเรื่องไม่น่าสนใจพิจารณาเลย แต่เหตุใดรัฐบาลธานินทร์จึงไม่ถูกรัฐประหารซ้อนมาตั้งนานแล้วต่างหาก ที่น่าสนใจพิจารณาศึกษาอย่างมาก

Advertisement

ท่านจะหมายความไปถึงแค่ไหนผมไม่ทราบ แต่ความหมายที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือ มันมีแรงเฉื่อยทางการเมืองอะไรในสังคมไทย ที่ทำให้รัฐบาลนั้น สามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งได้ตั้งหนึ่งขวบปี

ผมจะใช้คำถามอันนี้แหละเพื่อพิจารณาสถานการณ์อย่างเดียวกันในปัจจุบัน ด้วยความสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมว่า คำตอบแก่รัฐบาลธานินทร์ก็คงเป็นอย่างหนึ่ง และคำตอบแก่รัฐบาล คสช.ก็คงเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะเงื่อนไขแวดล้อมรัฐบาลทั้งสองแตกต่างกันไปหมดแล้ว

ความแตกต่างที่สำคัญในทรรศนะของผมก็คือ ใน 2520 การเมืองไทยยังเป็นการเมืองของชนชั้นนำ รัฐประหารก็จัดขึ้นโดยชนชั้นนำ รัฐประหารซ้อนก็เป็นเรื่องที่ชนชั้นนำจัดขึ้น จริงอยู่ในบางครั้งชนชั้นนำขัดแย้งกันเอง รัฐประหารที่สำเร็จหรือล้มเหลวจึงเป็นการชิงไหวชิงพริบระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ชัยชนะทางการเมืองไม่ได้อยู่กับไอ้เสือปืนไวเพียงอย่างเดียว แต่อยู่กับการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในเครือข่ายของชนชั้นนำได้กว้างขวางกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

Advertisement

แต่การเมืองไทยใน พ.ศ.2559 ไม่ได้เป็นการเมืองของชนชั้นนำอีกแล้ว ดังที่กล่าวในตอนก่อนๆ ว่านับจาก 2540 เป็นต้นมา การเมืองไทยก็เปลี่ยนเป็นการเมืองมวลชนอย่างเห็นได้ชัดเจน อันที่จริง “มวลชน” เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองก่อนหน้าแล้ว จะนับว่าตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ก็ได้ แต่ยังจำกัดอยู่เฉพาะคนชั้นกลางในเขตเมืองเท่านั้น แต่หลังจากนั้นมาก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนหลัง 2540 ก็อาจกล่าวได้ว่าครอบคลุมไปถึงคนชั้นกลางระดับล่างที่อยู่ในชนบททั่วไปด้วย ดังนั้นหลังจากนั้นเป็นต้นมา การรัฐประหารก็กลายเป็นรัฐประหารมวลชน คือต้องมีฐานสนับสนุนกว้างขวางกว่าเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ หรือเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางในเมือง

ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการรัฐประหารขึ้นอยู่กับมวลชน การล่มสลายของอำนาจรัฐประหารก็ขึ้นอยู่กับมวลชนเช่นกัน การตัดสินใจของชนชั้นนำเพียงอย่างเดียว ไม่อาจกำหนดชะตากรรมของคณะรัฐประหารใดๆ ได้อีกแล้ว

ก่อนหน้าที่การเมืองไทยจะกลายเป็นการเมืองมวลชน ความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลรัฐประหารเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำรับไม่ได้ก่อน พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีความรู้สึกอ่อนไหวทางการเมืองมากกว่าใครในสังคม เพราะกระทบสถานะของเขาโดยตรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอำนาจรัฐประหารให้มีสมรรถภาพ และเป็นที่ยอมรับก่อนที่จะสายเกินไป แม้ว่าบางกรณีชนชั้นนำไม่ได้เห็นพ้องต้องกันหมดทุกกลุ่มในเรื่องนี้ แต่กลุ่มที่มองเห็นผลกระทบในทางร้ายแก่ตนมากที่สุด ย่อมกดดันไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจนได้ เช่นฝ่ายทหารในระหว่าง 2519-2520 พวกเขาถูกผลักให้ออกมาปกป้องรัฐบาลที่ไร้สมรรถภาพ จึงเป็นธรรมดาที่กองทัพต้องสลัดเนื้อหอยนี้ออกไป ไม่ว่าชนชั้นนำกลุ่มอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่

ในปัจจุบัน นอกจากชนชั้นนำไม่ใช่ตัวตัดสินที่เด็ดขาดแล้ว ผมคิดว่าชนชั้นนำยังอยู่ในฐานะที่แสวงหาฉันทามติได้ยาก แม้แต่ฉันทามติเฉพาะในบางกลุ่มก็ตาม ผลก็คือทำให้ชนชั้นนำซึ่งค่อนข้างจะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว ยิ่งแตกแยกกันหนักขึ้น ขอให้สังเกตเป็นตัวอย่างว่า กลุ่มทุนไม่มีข้อเสนออะไรเป็นพิเศษแก่คณะรัฐประหาร แต่กระจายกันไปคว้าหมุบคว้าหมับเท่าที่จะเข้าถึงโอกาสนั้นได้ แต่มีทุนอีกจำนวนมากซึ่งเข้าไม่ถึงโอกาสนั้น ได้แต่นั่งตาลอยอยู่ข้างนอก แต่ก็ไม่รู้จะหันไปหาใคร เพื่อปรับเปลี่ยนอำนาจรัฐประหารอยู่หลังฉาก

ครม.ของ คสช.เต็มไปด้วยทหาร ยกเว้นสายเศรษฐกิจและสาธารณสุข ที่ดึงเอาเทคโนแครตเข้ามาร่วมบ้าง แต่ก็น่าประหลาดที่ว่า เทคโนแครตที่ถูกเลือกเข้ามา ไม่ใช่มาจากการเลือกของ คสช.เอง ซึ่งน่าจะประกอบด้วยเทคโนแครตหลายกลุ่ม แต่กลายเป็นการยกสัมปทานให้แก่บุคคล ใครได้รับสัมปทานไปก็ไปเอาคนจาก “แก๊ง” ของตนมาเสียบ ในส่วนสาธารณสุขก็ยกสัมปทานให้แก่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของสุขภาพ ซึ่งเป็นพันธมิตรของคณะรัฐประหาร แล้วแต่จะเอาใครใน “แก๊ง” ของตนมาเสียบ

ผมคิดว่าเทคโนแครตไทยซึ่งร่วมอยู่ในชนชั้นสูงปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก แปลว่ามีหลาย “แก๊ง” ซึ่งแข่งดีกันอยู่ในทีตลอดมา ในระบอบเลือกตั้ง นักการเมืองก็ทำอะไรคล้ายๆ อย่างนี้ นั่นคือมักยกสัมปทานให้แก่บุคคลที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรค แต่บุคคลนั้นจะยก “แก๊ง” ได้จำกัด เพราะโควต้ามีน้อย บุคคลของพรรคมีมาก จึงต้องแบ่งๆ กันไป แม้กระนั้น ก็ยังมีบาง “แก๊ง” ที่ไม่มีโอกาสทางการเมืองเอาเลย จนพากันออกมาเป็นแกนนำเป่านกหวีดล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่าในปัจจุบัน “แก๊ง” ที่อยากออกมาประท้วงก็มีและอาจจะมากกว่าเดิมด้วย เพียงแต่อำนาจเผด็จการทหารทำให้โอกาสที่จะร่วมประท้วงมีอันตรายมากกว่า

ชนชั้นนำจึงไม่มีโอกาสกำกับหรือเปลี่ยนอำนาจของรัฐประหารมวลชนได้ เมื่อชนชั้นนำขยับไม่ออก ใครจะปรับเปลี่ยนสภาวะที่รัฐประหารมวลชนได้ทำไว้ ผมคิดว่าเหลืออยู่กลุ่มเดียวคือมวลชน แต่จะออกมาในรูปของพฤษภาหฤโหด 2535 หรือในรูปอื่น คาดเดาไม่ได้ เพียงแต่แน่ใจว่าไม่มีกลุ่มอื่นใดจะทำ หรือทำได้นอกจากมวลชนเท่านั้น

ในจุดนั้น คงไม่ใช่มวลชนอย่างเดียวที่ลุกขึ้นเผชิญกับเผด็จการทหาร แต่คงจะมีคนอื่นๆ ที่พร้อมจะอยู่เบื้องหลังอีกหลายฝ่าย บางกลุ่มของทุนคงสนับสนุนอย่างไม่ออกหน้า ชนชั้นนำระดับปัญญาชนบางคนคงออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ถึงไม่เชียร์มวลชน แต่ก็ทำให้ฝ่ายเผด็จการทหารตอบโต้ไม่สะดวก ฯลฯ ไม่ขาดแม้แต่ในกองทัพเอง (อย่างที่เคยเกิดมาแล้วใน 14 ตุลาฯ)

โดยปราศจากการ “จัดตั้ง” ที่รัดกุม มวลชนจะเคลื่อนไหวได้อย่างไร ผมคิดว่าจำเป็นต้องคิดถึงการเคลื่อนไหวของมวลชนในลักษณะที่แตกต่างจากสมัยที่มีองค์กรจัดตั้งที่ชัดเจน (เช่นพรรคคอมมิวนิสต์) เสียแล้ว ในรัฐเผด็จการหลังสงครามเย็น รัฐมีสมรรถนะในการทำลายหรือสกัดองค์กรของฝ่ายปรปักษ์ได้ค่อนข้างเด็ดขาด แม้แต่องค์กรภราดรภาพอิสลามของอียิปต์ภายใต้มูบารัก ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกแนวทางที่รัฐวางไว้ได้ยาก การเคลื่อนไหวของมวลชนที่เราพบเห็นในปัจจุบันจึงมักเป็นการเคลื่อนไหวแบบฉับพลัน เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน จากเหตุการณ์ที่จุดประกายไฟให้ระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงและคาดไม่ถึง

โดยปราศจากการจัดตั้ง แต่การส่งผ่านข้อมูลความคิดเห็นมีต่อกันอย่างเข้มข้นในสังคมที่ถูกผูกเข้าหากันด้วยเครือข่ายออนไลน์ จนเกิดฉันทามติขึ้นในบางเรื่อง แม้ยังเต็มไปด้วยความคิดต่างกันมากมาย แต่อย่างน้อยก็มีความเห็นพ้องต้องกันในบางอย่าง เช่นพอกันทีกับรัฐบาลเผด็จการในโลกมุสลิม หรือพอกันทีกับระบบที่คน 99% แทบไม่มีสมบัติติดตัว เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหมดถูกคนเพียง 1% ยึดเอาไปครอบครองหมด

แต่นี่เป็นภาพที่ไม่เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะรัฐประหารมวลชนย่อมมีมวลชนอยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน จะมากจะน้อยก็ตาม แต่ความสามารถของคณะรัฐประหารและตัวแทนที่จะ “จัดตั้ง” มวลชนออกมาเผชิญกับมวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมเป็นไปได้เสมอ และหากสถานการณ์คือการเผชิญหน้ากันระหว่างมวลชนสองฝ่าย ก็เป็นความชอบธรรมของกองทัพที่จะเข้ามาแทรกแซงระงับเหตุ ซึ่งก็คือเสริมสร้างอำนาจของคณะรัฐประหารให้แข็งแกร่งขึ้น อย่างน้อยก็ในช่วงวิกฤต (เช่นประกาศกฎอัยการศึกอีกครั้งหนึ่ง)

โอกาสเดียวที่การลุกขึ้นของมวลชนที่ต่อต้านรัฐประหารจะประสบความสำเร็จ ก็คือความนิยมระบอบรัฐประหารได้ลดลงจนแทบไม่เหลือแล้ว ทำให้การ “จัดตั้ง” มวลชนขึ้นเผชิญหน้ากับมวลชนฝ่ายต่อต้านทำไม่ได้ หรือไม่ได้อย่างมีผลจริงจัง (ผมคิดว่าแม้แต่นายทุนที่จะลงขันเอาหัวไม้จากภาคใต้ขึ้นมาข่มขู่ผู้คนก็หาไม่ได้อีกแล้ว) หากจะมีมวลชน “จัดตั้ง” อยู่อีกก็เป็นทหารเกณฑ์ ซึ่งไม่ได้ผลดีเท่าไรนัก เพราะยากที่จะปิดบังที่มาของ “มวลชน” กลุ่มนี้

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คสช.จะสามารถประคองความนิยมในหมู่มวลชนจำนวนหนึ่งของตนให้ดำรงอยู่สืบไปได้นานเพียงไร เรื่องนี้วัดไม่ได้ง่าย ระบบราชการมีหน้าที่จัดตั้งมวลชนมาสนับสนุนให้กำลังใจ คสช.อยู่แล้ว จึงไม่มีวันทราบได้แน่ว่ามวลชนเหล่านี้มาด้วยอำนาจความนิยมในใจของตนหรืออำนาจราชการ ในส่วนกลุ่มที่ร่วมปูทางให้แก่การรัฐประหาร ราคาของพวกเขาที่เหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ เขาจะสามารถระดมมวลชนออกมาปกป้อง คสช.ได้มากน้อยเพียงไร ดังนั้นจึงต้องให้ความประทับใจว่าความสามารถนั้นยังมีเท่าเดิมหรือถึงลดลงก็ไม่มากนัก

ผมจึงตอบไม่ได้หรอกครับว่า “อีกเมื่อไร” แต่คิดว่าจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นด้วย

นับเป็นบทเรียนว่าอย่าพนันกับใครง่ายๆ อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image