สุจิตต์ วงษ์เทศ : นาตาแฮก แรกนาขวัญ

นาตาแฮก มีต้นข้าวปักดำเป็นแถว มีวัวหรือควาย กับมีคนถืออาวุธทำท่าล่าวัวควาย และมีมือประทับทำแนวโค้ง พร้อมด้วยลายขีดข่วน [ลายเส้นจำลองจากภาพเขียนสีราว 2,500 ปีมาแล้ว ที่ผาหมอนน้อย อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี]

แรกนาขวัญ เป็นภาษาของคนในภาคกลางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรงกับภาษาของคนบริเวณลุ่มน้ำโขงว่า นาตาแฮก (แฮก คือ แรก)
หมายถึงการไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมุติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (บางทีเรียกผีนาหรือพระภูมินา) จงบันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์เหมือนนาจำลองที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้ บางแห่งเช่นภาคเหนือจะทำพิธีสังเวยแม่โพสพพร้อมกันไปด้วย
พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิมในชุมชนคนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว สมัยก่อนๆ ทุกคนที่มีอาชีพทำนาต้องทำกันทั่วไปก่อนจะทำนาจริง

ต่อมาเมื่อราชสำนักรับศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย จึงปรุงแต่งให้สอดคล้องกับพิธีพราหมณ์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สูงขึ้น เช่น มีพระโคเสี่ยงทาย มีเชิญเทวดามาเสกเป่าข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี

เมื่อเสร็จงานก็ให้ชาวบ้านเก็บเม็ดข้าวเปลือกไปบูชา และโปรยลงในนาของตนเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวมากขึ้น และรอดพ้นจากภัยธรรมชาติ

ภาษาทางราชการเรียกจรดพระนังคัล เป็นคำเขมร (นังคัล คือ ผาลไถนา) แปลว่าไถนาครั้งแรก

Advertisement

มีหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลว่าพระเจ้าแผ่นดินยุคต้นอยุธยาหรือก่อนนั้นมอบให้เจ้านายและขุนนางทำพิธีนี้เพื่อความมั่งคั่งในพืชพันธุ์ธัญญาหารของราชอาณาจักร จะละเว้นมิได้ ต้องทำทุกปี จึงมีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขวัญ มีอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ

คนทุกคนในชุมชน (ยุคก่อนรับศาสนาจากอินเดีย) นานมาแล้วเชื่อว่ามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ร่างกาย กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือขวัญ

Advertisement

สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติก็มีขวัญทั้งนั้น เช่น ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา จึงมีพิธีแรกนาขวัญ

 

ชาวบ้านอีสานกำลังสวดขวัญวิงวอนร้องขออำนาจเหนือธรรมชาติในพิธีนาตาแฮก โดยปลูกต้นข้าว 7-8 ต้น เรียกปักกกแฮก (ภาพก่อน พ.ศ. 2547)
ชาวบ้านอีสานกำลังสวดขวัญวิงวอนร้องขออำนาจเหนือธรรมชาติในพิธีนาตาแฮก โดยปลูกต้นข้าว 7-8 ต้น เรียกปักกกแฮก (ภาพก่อน พ.ศ. 2547)

 

ขวัญต่างจากวิญญาณ (ในคำสอนทางศาสนา) เพราะเมื่อคนตายไปวิญญาณก็ดับหายไป แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ส่วนไหนของโลก

ขวัญมีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้นร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญมือ ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ้ามีขวัญอยู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุข แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไปเจ้าของขวัญก็ไม่มีความสุข ไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตายได้

ฉะนั้นเมื่อคนเราเจ้าของขวัญเจ็บป่วยแสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว จำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญ หรือพิธีสู่ขวัญให้กลับเข้าสู่ตัวตนเหมือนเดิม จะได้อยู่ดีมีสุขตามปกติ

ชาวบ้านกำลังแรกนาขวัญก่อนทำนาจริง บ้านโพธิ์สามต้น อ. บางปะหัน จ. พระนครศรีอยุธยา (ถ่ายราว พ.ศ. 2547)
ชาวบ้านกำลังแรกนาขวัญก่อนทำนาจริง บ้านโพธิ์สามต้น อ. บางปะหัน จ. พระนครศรีอยุธยา (ถ่ายราว พ.ศ. 2547)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image