สัพเพเหระคดี : คำเสนอให้เช่าต่อ : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงฟ้องขับไล่คุณจำนูญให้ออกจากตึกแถวและเรียกค่าเสียหาย อ้างว่าสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาแล้ว

คุณจำนูญให้การว่า คุณจำนูญได้ขอต่อสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท และชำระเงินให้คุณโผงแล้ว ไม่เป็นละเมิด คุณโผงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

คุณโผงอุทธรณ์

Advertisement

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่คุณจำนูญและให้คุณจำนูญชำระค่าเสียหายแก่คุณโผง

คุณโผงและคุณจำนูญฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาเช่าตึกแถว มีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาว่า

Advertisement

“สัญญานี้มีอายุ 15 ปี ต่ออายุสัญญา 3 ปีต่อ 1 ครั้ง”

สัญญาข้อ 10 มีความว่า “เมื่อครบกำหนดอายุสัญญา และผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปผู้เช่าจะได้เสนอขอต่อสัญญาเช่าต่อผู้ให้เช่าภายในกำหนด 60 วัน หากมิได้ขอต่อสัญญาภายในกำหนดนี้ให้ถือว่าผู้เช่าสละสิทธิการเช่า..”

ดังนี้ ย่อมเห็นเจตนาของคู่กรณีได้ชัดว่า ผู้ให้เช่าประสงค์ที่จะให้สิทธิแก่ผู้เช่าที่จะขอต่อสัญญาเป็นคราวๆ ภายในกำหนดเวลา 15 ปี โดยผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งหนึ่งๆ แล้วหากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปให้ขอต่อสัญญาเช่าได้ภายในกำหนดเวลา 60 วัน ผู้ให้เช่าก็จะให้เช่าต่อไปมีกำหนด 3 ปี ตามเงื่อนไขที่ตกลง อันเป็นคำเสนอที่มีกำหนดระยะเวลาหลังจากสัญญาเช่าครบกำหนด

คุณจำนูญผู้เช่าได้มีหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าตึกแถวพิพาทต่อคุณโผงผู้ให้เช่า ภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา จึงเท่ากับคุณจำนูญสนองรับคำเสนอของคุณโผงแล้ว

ถือได้ว่าสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิมโดยไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก

คุณโผงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากคุณจำนูญเลยโดยอ้างว่าคุณจำนูญไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทอันเป็นการละเมิด

พิพากษากลับเป็นให้ยกฟ้องคุณโผง

เป็นอันว่า คุณจำนูญได้เช่าต่ออีก 3 ปี

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 316/2530)
————————————–
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 354 คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้

มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วยมาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายมาตรา 537 อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image