ความสุขปีใหม่… โดย เฉลิมพล พลมุข

มนุษย์หรือคน สัตว์สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความปรารถนาเป้าหมายหนึ่งของชีวิตก็คือความสุข ในนิยามของความหมายดังกล่าวดูเสมือนมีความสลับซับซ้อนและหลากหลายในบริบทโดยเฉพาะทั้งสังคมไทยเราปัจจุบัน รวมถึงสังคมโลกที่มีการแข่งขันกันทั้งวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม เงินนิยมและอำนาจนิยม

วันเวลาที่ผ่านไปในหนึ่งวันหนึ่งอาทิตย์หนึ่งเดือนและเมื่อครบสิบสองเดือนที่เรียกว่าหนึ่งปี โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมของทุกๆ ปีผู้คนทั้งเมืองไทยเราและเกือบทั้งโลกต่างก็คิดแสวงหาความสุขหนึ่งในรอบปีในหลากหลายกิจกรรมทั้งการเดินทางไปเยี่ยมญาติหรือไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่ตนเองและครอบครัวมีความประสงค์จะไปย้อนดูบรรยากาศความหลังหรืออาจจะเป็นสถานที่ที่ยังไม่เคยไปมาก่อน โดยคาดหวังว่าจะพบความสุขให้แก่ทั้งตนเองและครอบครัว

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านรับทราบตลอดช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่หนึ่งก็คือการออกเดินทาง ถึงแม้ว่าเมืองไทยเราจะมีหน่วยงานของรัฐที่เรียกว่าศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จะมีรายงานอุบัติเหตุทางถนนของประเทศเราจากลำดับที่ 2 มาอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก แต่ก็ยังคงติดอยู่ในสิบลำดับแรกของโลก โดยมีข้อมูลจากใบมรณบัตรพบว่ามีเด็กตายจากอุบัติเหตุปีละ 2,510 คน หรือเฉลี่ยวันละ 7 คน หากรวมถึงการตายของคนในวัยทำงานด้วยก็จะพบผู้เสียชีวิตประมาณ 14,000 คนต่อปี มีคนพิการจากเหตุดังกล่าวรายใหม่ปีละ 6-7 พันคนต่อปี สำหรับการตายยังคงมาจากรถจักรยานยนต์มาเป็นลำดับที่ 1 (มติชนรายวัน 15 ธันวาคม 2561 หน้า 3)

สถิติหรือตัวเลขที่หน่วยงานของรัฐได้รายงานถึงอุบัติเหตุในเจ็ดวันอันตรายทั้งในช่วงวันหยุดยาวหลายวันทั้งช่วงปีใหม่ สงกรานต์ หรือช่วงงานสำคัญอื่นๆ เราท่านได้รับทราบถึงจำนวนตัวเลขของความตายและการตายในแต่ละช่วงเทศกาลแต่ละช่วงไม่ต่ำกว่าสามร้อยศพและอุบัติเหตุที่ต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกายที่อาจจะมิทราบถึงมูลค่าในทางเศรษฐกิจ มิอาจจะนับรวมถึงความโศกเศร้าเสียใจที่คนรักในครอบครัวต้องจากไปทั้งชีวิตที่หาสิ่งทดแทนมาไม่ได้ คำถามไปยังรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็คือรัฐมีความรับผิดชอบต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือความสุขที่คาดหวังจากแต่ละเทศกาลแค่ไหนเพียงไร…

Advertisement

คนไทยเราหากใครที่อยู่ในวัยสูงอายุในขณะนี้เมื่อย้อนไปสี่สิบหรือห้าสิบปีที่แล้วสังคมไทยเราถือว่าความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองแตกต่างจากยุคนี้อย่างสิ้นเชิง ถนนหนทางโดยเฉพาะในชนบทจะเป็นทางธรรมชาติ หรืออาจจะเป็นถนนลูกรัง จะมีถนนคอนกรีตหรือถนนยางมะตอยที่มีความสะดวกทั้งในความเร็วก็อาจจะต้องเข้าไปในเมืองจังหวัด หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันในชนบทหลายๆ แห่งก็ยังคงมีถนนดังกล่าวอยู่เราท่านจะรับทราบอีกครั้งหนึ่งก็คือในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำขังอยู่ตามถนนสัญจร ชาวบ้านหรือผู้คนบางคนก็ใช้สื่อในสังคมโซเชียลเพื่อนำเสนอปัญหาดังกล่าวต่อรัฐเพื่อขอความช่วยเหลือ

ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า การสื่อสารทุกประเภทก็มิได้ทันสมัยและรวดเร็ว สมัยก่อนหนุ่มสาวจีบกันเพื่อเป็นคู่ชีวิตในหลายๆ คู่ชีวิตผู้เขียนเข้าใจว่าบางคนในรัฐบาล คสช.ก็น่าจะใช้การเขียนจดหมายสื่อสารกัน โดยเฉพาะใกล้จะถึงสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่สิ่งหนึ่งที่ขาดมิได้นั่นก็คือการส่ง ส.ค.ส. ในความหมายก็คือส่งความสุขโดยส่งเป็นบัตรอวยพรซึ่งจะหาซื้อได้จากร้านค้าทั่วไป บางคนอาจจะทำเองด้วยฝีมือของตนเองโดยคิดว่าฝ่ายที่รับก็จะมีความสุขในระดับหนึ่งด้วย

บัตรอวยพร ส.ค.ส. เกิดขึ้นทั้งในสังคมของยุโรปและสังคมไทยเราโดยก่อกำเนิดในปลายกรุงศรีอยุธยา ในชื่อของ “บัตรเยี่ยม Visiting Card” โดยริเริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ท่านได้มีการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติโดยการเขียนคำอวยพรอาจจะมีรูปภาพประกอบสำหรับในสังคมตะวันตกก็มักจะส่งกันในเทศกาลของวันแห่งความรัก วาเลนไทน์ วันคริสต์มาส วันเกิด ครบรอบวันแต่งงาน หรือวันอื่นๆ ที่เพื่อนๆ หรือญาติที่ใส่ใจห่วงใยโดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นฝ่ายรับก็น่าจะมีความสุข…

Advertisement

อาจจะมีคำถามที่หลากหลายที่ว่าอะไรคือความสุข ความสุขได้มาอย่างไร ความสุขจะอยู่กับเรานานเพียงใด และความสุขใดที่เป็นความสุขที่มาตรฐานและยั่งยืนตลอดชีวิต เราท่านทั้งหลายที่ได้รับคำถามดังกล่าวหลายคนอาจจะมิได้รับคำตอบที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม เราท่านต่างก็แสวงหาความสุขที่พึงหาได้ในชีวิตนี้

ในช่วงนี้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านประชาชนที่อยู่ในฐานะคนจนโดยมีการสำรวจและพบข้อมูลหนึ่งที่ว่าคนไทยบางส่วนมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รัฐบาลได้นำเงินของเราท่านทั้งหลายไปช่วยเหลือเขาเหล่านั้นที่เรียกว่าบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยพบกลุ่มที่ถือบัตรดังกล่าวอยู่ในจำนวน 14.5 ล้านคนอยู่ทั่วประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราท่านต่างรับทราบจากการนำเสนอของสื่อก็คือจะมีคนบางคนที่มีฐานะดีแต่ก็มีสิทธิในการได้รับบัตรคนจนดังกล่าว อาจจะมีคำถามที่ว่ารัฐได้สำรวจด้วยข้อมูลและจำนวนตัวเลขถึงความเป็นคนจนแท้ๆ จริงหรือไม่ หรือแม้แต่คำถามจากเหล่าว่าที่นักการเมืองที่คาดหวังจะมีการเลือกตั้งในปีหน้าที่ว่ารัฐบาลได้มีการช่วยเหลือประชาชนในวาระและนโยบายดังกล่าวจะเป็นการหาเสียงล่วงหน้าของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปหรือไม่…

หลักการความสุขหนึ่งของชาวพุทธก็คือ การทำงานหาเงินทรัพย์สินมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ทุ่มเทสติปัญญาวันเวลาด้วยความสุจริตไม่ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย การใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความสุจริตเพื่อการเลี้ยงชีพครอบครัวช่วยเหลือญาติพี่น้องและสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือ สิ่งหนึ่งก็คือความสุขทั้งชีวิตร่างกายและสภาพจิตใจที่ได้ทำงานในสิ่งที่ถูกกฎหมายและจรรยาบรรณของบ้านเมืองและรวมถึงการไม่มีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบที่เกินตัวที่มิอาจจะชำระสะสางได้ หลักการดังกล่าวชาวพุทธเรียกว่าคิหิสุขหรือความสุขของชาวบ้าน

ชาวพุทธในสังคมไทยเรายังคงมีทั้งคำถามและคำตอบที่จะต้องให้ความกระจ่างต่อชาวโลกที่ว่า คนไทยส่วนใหญ่ใจดี ชอบทำบุญ เสียสละเงินสิ่งของของตนเองเพื่อวัด พระศาสนาและสิ่งที่เป็นสาธารณกุศลด้วยความเต็มใจโดยเห็นว่าสิ่งที่ตนและครอบครัวได้กระทำไปนั่นก็คือบุญกุศลและความดี โดยคาดหวังว่าทั้งบุญและความดีจักส่งผลให้ตนได้รับความสุขระดับหนึ่งในชาตินี้ แต่สำหรับบางคนอาจจะพบเห็นในข้อเท็จจริงหนึ่งที่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

สำหรับคนที่เชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม บุญบาป นรกสวรรค์ การเกิดใหม่ก็จะมีความเชื่อที่ว่าถึงแม้นว่าจะมีการ
กระทำความผิดกฎหมายของบ้านเมือง หนีการติดคุกตะรางแต่ก็มิอาจจะหลีกหนีกฎแห่งกรรมไปได้…

หลักการความสุขหนึ่งที่เป็นระบบคิดของชาวตะวันตกที่เรียกว่าประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่มีนักปรัชญาที่เป็นที่รู้จักคนหนึ่งที่ชื่อ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill : 1860-1873) ที่ได้ให้แนวคิดที่ว่า “การกระทำใดที่จะเป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานในการตัดสินถึงความดี ชั่ว ถูก ผิด ควร มิควร ให้ดูจากผลของการกระทำนั้นๆ ว่าก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ผู้คนประชาชนในจำนวนมากแค่ไหนเพียงไร” ในหลักการดังกล่าวมีความเห็นด้วยกับหลักการของสุขนิยม (Hedonism) ที่ว่า ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ คุณค่าต่างๆ ที่ถูกสมมุติขึ้นในโลกนี้จะมีความสามารถนำเราท่านไปสู่ความสุขได้อย่างไร ด้วยในหลักการดังกล่าวเมื่อพิจารณาว่าสิ่งใดคือประโยชน์สุข ก็ให้พึงพิจารณาถึงความทุกข์และโทษที่จะตามมาในภายภาคหน้าด้วย ตรรกะของนักการเมืองบางคนที่ว่ารัฐบาลที่ดีก็คือรัฐบาลที่ให้ความสุขแก่ประชาชน การมีกฎหมายที่ออกด้วยมิได้มีการมองรอบด้านสิ่งที่จะตามมาในอนาคตอาจจะเป็นดาบอีกคมที่อาจจะมาสร้างความบาดเจ็บในชีวิตของเหล่านักการเมืองเราท่านพอมองเห็นชีวิตเขาเหล่านั้นในเวลาปัจจุบัน

ในหลักการหนึ่งในความสุขของโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes :1588-1679) ที่เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษที่ว่า “เมื่อใดก็ตามที่ใครคนหนึ่งจะมอบสิทธิใด เขาย่อมหวังที่จะได้รับสิทธิเป็นการตอบแทนพอๆ กัน หรือไม่ก็คาดหวังจะได้อะไรบางอย่างซึ่งดีสำหรับตนเองและพวกพ้อง เนื่องด้วยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่จงใจที่มีเป้าประสงค์ที่จะเกิดความสุขและผลดีให้แก่ตนเองและพวกพ้อง…” ผู้เขียนมิอาจจะมองเห็นกลอุบายการเมืองไทยเราในปัจจุบันจะส่งผลถึงความสุขให้แก่ประชาชนชาวบ้านในสังคมไทยในอนาคตแค่ไหนเพียงไร…

สังคมไทยเราได้มีหน่วยงานองค์กรได้สำรวจคนแก่ คนชราหรือผู้สูงอายุที่มีอายุยืนบางคนก็มีอายุเกือบร้อยปี บางคนก็อายุเกินหนึ่งร้อยปีวันสำคัญหนึ่งที่คนแก่คนชราเหล่านั้นจะถูกเปิดเผยชีวิตก็คือการรับมอบรางวัลในวันแม่ วันพ่อ วันผู้สูงอายุ สื่อบางสื่อก็นำการสัมภาษณ์พูดคุยถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาจนเข้าสู่ความเป็นผู้สูงวัย สิ่งหนึ่งที่เราท่านได้รับคำตอบในระดับพื้นฐานง่ายๆ ก็คือ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย อาหารการกินก็ผัก ปลา น้ำพริกที่หาเก็บได้จากรั้วข้างบ้านจากธรรมชาติ อยู่ท่ามกลางอากาศสิ่งแวดล้อมลูกหลานที่ดี ไม่มีหนี้สินที่จะต้องตามชำระหรือได้รับการทวงหนี้เป็นรายวัน สิ่งสำคัญยิ่งก็คือการดูแลรักษาสภาพของจิตใจ มองโลกในแง่ดี ร้องเพลง คนแก่บางคนมีกิจวัตรประจำวันก็คืองานอดิเรกที่ตนเองมีความสามารถจะกระทำได้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานก็คือสูตรการทำอาหาร ขนมโบราณขาย เมื่อค่ำมืดมาก็เข้านอนในเวลาปกติด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ ขอศีลขอพรให้ลูกหลานประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิต…

คนแก่ชราหรือผู้สูงอายุสมัยก่อนบางคนที่โชคชะตาดีอยู่พร้อมหน้ากันลูกหลานเหลนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีรู้สำนึกในความกตัญญูกตเวทีหรืออยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดที่เข้าไปสำรวจถึงจำนวนและคุณภาพของความสุขในผู้สูงอายุคนนั้นหรือกลุ่มกลุ่มนั้นอย่างแท้จริง เขาเหล่านั้นครองตนครองชีวิตให้รอดจากโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ วิกฤตทางการเมืองที่มีอาวุธสงครามที่มีการฆ่ากันมาได้อย่างไรจนกระทั่งถึงแก่ชราหลายคนอาจจะเข้าสู่ความตายท่ามกลางลูกหลานที่อยู่ในบ้านโดยมิต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่บางคนต้องเข้าสู่ความตายในห้องไอซียูในโรงพยาบาล สิ่งใดคือความสุขจากการตาย…

ความสุขของชาวบ้านประชาชนในระดับรากหญ้าของสังคมไทยเรา เขามีความต้องการที่มีงานทำมีรายได้เพียงพอในการยังชีพสำหรับครอบครัว ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ เจ็บป่วยไข้เข้าพบแพทย์หมอพยาบาลในโรงพยาบาลคาดหวังการเจ็บป่วยให้หายดีขึ้น และคาดหวังว่าระบบการเมืองไทยในอนาคตจะดีขึ้นนำประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ การซื้อสิทธิขายเสียงของนักการเมืองไทยจะมีหรือไม่ในช่วงเทศกาลการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่มิอาจจะคาดเดาได้

ความสุขเป็นคำบัญญัติหนึ่งที่อาจจะพบเห็นได้ทั้งรูปธรรมนามธรรม ความสุขของคนจนคนรวยชาวบ้าน นักบวช นักคิด ข้าราชการ นักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ทหาร ตำรวจ นักกฎหมายอาจจะรวมถึงการเป็นนักการเมือง ความสุขก็คงมีความหมายในหลากหลายบริบท อย่างไรก็ตามสัจธรรมหนึ่งของชีวิตที่เราท่านมิอาจจะปฏิเสธได้นั่นก็คือโลกธรรมแปดประการ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข-เสื่อมลาภ ยศ นินทา ทุกข์ เสมือนเหรียญสองด้านเราท่านจะเลือกทำใจในสิ่งใดแล…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image