คิดเอง สร้างเอง ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ทางเลือกของการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรม : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

“ตัวชี้วัด” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้ในการติดตาม วัดผลการดำเนินงานและวัดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความท้าทายของตัวชี้วัดเริ่มตั้งแต่การพัฒนาตัวชี้วัดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อต้องวัดเรื่องที่มีความเป็นนามธรรมและการนำตัวชี้วัดไปใช้ก็เป็นความท้าทายอีกมิติหนึ่ง ซึ่งในหลายกรณีที่ผ่านมาตัวชี้วัดกลายเป็นเครื่องมือกำกับ และมีนัยเชิงอำนาจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะที่เป็นองค์กรดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมผ่านการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและงานปฏิบัติการ พบว่าประเด็นที่มีความสำคัญควบคู่กับกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม คือการพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านคุณธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือวัดผลความเปลี่ยนแปลงด้านคุณธรรมในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรมเป็นเรื่องที่มีความเป็นนามธรรมสูง และเกี่ยวข้องกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือถ้าดำเนินการได้ก็อาจไม่มีการนำไปใช้ได้จริงถ้าขาดกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยเหตุนี้ทีมทำงานของศูนย์คุณธรรมจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรม ที่เชื่อมโยงกันระหว่างนโยบายและปฏิบัติการจริงในบริบทที่หลากหลาย ซึ่งนำมาสู่คำถามสำคัญคือจะนำกระบวนการอะไรมาใช้ในการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรมอย่างมีส่วนร่วม

หลังจากพูดคุยกันของทีมทำงานนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ถ้ายังใช้กระบวนระดมความคิดเห็นแบบทั่วไปที่เคยทำมาผลลัพธ์ย่อมไม่ต่างจากเดิม ดังนั้น จึงต้องทดลองใช้วิธีการที่ต่างไปจากเดิม ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่การนำกระบวนการ “จิตตปัญญา” มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรม โดยมีคุณจารุปภา วะสี เป็นวิทยากรกระบวนการ

Advertisement

เวทีพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรมกำหนดประเด็นคุณธรรมว่ามี 5 ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะและรับผิดชอบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เชื่อมโยงอยู่กับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศด้านการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ทีมทำงานและวิทยากรกระบวนการออกแบบกิจกรรมร่วมกันว่าเวทีจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องตัวชี้วัด ครั้งที่ 2 เป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกันเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรมใน 5 ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ และครั้งที่ 3 เป็นการนำเสนอผลจากการระดมความคิดเห็น

เวทีครั้งที่ 1 การสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องตัวชี้วัด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา 27 หน่วยงาน จำนวนกว่า 40 คน

กระบวนการเริ่มจากคุณจารุปภาอธิบายถึงกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาว่าต่างจากกระบวนการเรียนรู้แบบอื่นตรงที่เชื่อว่าปัญญาไม่ได้เกิดจากความคิดเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความรู้สึก และร่างกายได้ด้วย รวมทั้งให้เชื่อใจ วางใจในปัญญาร่วมของกลุ่ม

Advertisement

กิจกรรมเริ่มจากการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับตัวชี้วัด 3 ประเด็น คือ 1.ประสบการณ์และผลที่เกิดขึ้น 2.ข้อจำกัดและข้อท้าทาย 3.ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรม โดยในแต่ละกลุ่มให้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาตัวชี้วัดเป็นผู้เล่าเรื่องก่อน และจึงเปิดให้แลกเปลี่ยนกันในวง รวมทั้งนำประเด็นของกลุ่มมานำเสนอร่วมกัน โดยพบจุดร่วมของแต่ละกลุ่มดังนี้

ในประเด็นประสบการณ์และผลที่เกิดขึ้นพบว่ารูปแบบของตัวชี้วัดที่พัฒนามานั้นมีทั้งตัวชี้วัดในระดับนโยบาย ตัวชี้วัดเชิงพื้นที่ ตัวชี้วัดเชิงประเด็น โดยกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดพบว่ามี 3 รูปแบบ คือ 1.การกำหนดและสั่งการแบบบนลงล่าง (Top down) 2.การทำงานร่วมกันข้ามภาคส่วน เช่น ชุมชนและภาควิชาการ และ 3.การพัฒนาขึ้นมาเองจากพื้นที่โดยอิงกับสถานการณ์จริง สอดคล้องกับบริบท

ในเรื่องของข้อจำกัดและข้อท้าทายในกรณีของตัวชี้วัดแบบกำหนดและสั่งการแบบบนลงล่าง คือการใช้ตัวชี้วัดเพื่อแข่งขัน ซึ่งไม่เกิดผลในทางบวก ไม่สะท้อนประโยชน์ในการนำไปใช้ เป็นการสร้างภาระเพิ่มด้วยงานเชิงเทคนิคและงานเอกสาร รวมทั้งการเน้นการวัดผลเชิงปริมาณมากกว่าการพิจารณาในเชิงคุณภาพ ส่วนข้อจำกัดของตัวชี้วัดที่พัฒนาร่วมกันข้ามภาคส่วนหรือพื้นที่พัฒนาขึ้นมาเองนั้น คือการหาคนในพื้นที่ที่กระตือรือร้น (Active actor) ในการร่วมพัฒนาและนำตัวชี้วัดไปใช้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรม ทุกกลุ่มเห็นสอดคล้องกันว่าส่วนกลางควรกำหนดเป็นแนวทาง (Guideline) เป็นกรอบกว้างๆ ในเชิงกระบวนการโดยเปิดโอกาสให้ในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเภทองค์กรไปกำหนดรายละเอียดเอง และต้องมีกระบวนการทบทวนปรับปรุงตัวชี้วัดตามสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปร่วมกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

กิจกรรมช่วงบ่ายเป็นการชวนผู้เข้าร่วมกระบวนการนิยามความหมายคุณธรรม 5 ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ ผ่านการสัมผัสทางความรู้สึกทางร่างกาย โดยให้เลือกคำที่มีความหมายและเชื่อมโยงกับใจของตนเองหนึ่งคำ เล่าเรื่องที่รู้สึกเชื่อมโยงกับคำ และพาใจกลับไปสัมผัสความรู้สึกที่มีต่อคำและแสดงออกมาเป็นท่าทางซ้ำๆ หลังจากนั้นให้จับกลุ่มตามผู้ที่เลือกคำเดียวกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนใน 3 ประเด็น คือ 1.นิยามความหมายของคำนี้ 2.ถ้าบุคคล/องค์กร/ชุมชนมีคำนี้จะเป็นอย่างไร และถ้าไม่มีคำนี้จะเป็นอย่างไร 3.ถ้าจะวัดคำนี้จะวัดจากอะไร

หลังจากแต่ละกลุ่มนำเสนอใน 3 ประเด็นแล้ว ผู้เข้าร่วมมีความเห็นร่วมกันว่าการกำหนดตัวชี้วัดด้านคุณธรรมที่จะดำเนินการต่อไปควรจัดทำเป็นแนวทาง (Guideline) ที่กว้างและยืดหยุ่น สร้างทางเลือกให้ผู้ที่สนใจนำตัวชี้วัดไปเลือกใช้ตามบริบทของตนเอง

บทเรียนจากการเวทีพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรมเวทีแรก นอกจากเป็นการทดลองนำกระบวนการจิตตปัญญามาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาตัวชี้วัดแล้ว สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือการยืนยันถึงความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาตัวชี้วัดรวมถึงการทำงานพัฒนาสังคมในทุกมิติ

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image