เขตพระนคร : โดย บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช

ภาพถ่ายมุมสูงบริเวณพระบรมมหาราชวัง : ที่มา ธรรมรักษ์ อิ่มวิญญาณ

ในจำนวนห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานครนั้น เขตที่อยู่ใจกลางและสำคัญที่สุดคือเขต พระนคร ด้วยเป็นจุดเริ่มต้นของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และทรงปราบปรามการจราจลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระองค์มีพระราชดำริว่า เมืองธนบุรีนี้ ฝั่งฟากตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิดีกว่าฝั่งฟากตะวันตก ด้วยเป็นที่แหลม มีลำน้ำเป็นขอบเขต แม้นข้าศึกยกมาชิดถึงชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า เสียแต่ว่าเป็นที่ลุ่ม ในขณะที่ฝั่งตะวันตกแม้นจะเป็นที่ดอน แต่ก็เป็นท้องคุ้งน้ำ ตลิ่งทรุดพังอยู่เสมอ อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานตั้งอยู่ในที่อุปจาร มีวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่ทั้งสองข้าง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณที่พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน โดยโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ตั้งแต่วัดคลองสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง และมีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองในวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325

ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณพระบรมมหาราชวัง โดยปีเตอร์ วิลเลียม ฮันท์ พ.ศ.2486 : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนับเวลาได้ถึง 236 ปี พระนครยังคงเป็นราชธานีของสยามประเทศ นอกจากพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแล้ว ยังมีพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) และวังต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่โดยรอบ อาทิ วังสราญรมย์ วังท่าพระ วังถนนหน้าพระลาน วังถนนหลักเมือง วังถนนสนามชัย วังถนนพระอาทิตย์ วังจักรพงษ์ วังท่าเตียน ฯลฯ ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์พำนักต่อเนื่องเรื่อยมา

มุมมองจากบนภูเขาทอง : ที่มา สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์
ที่มา สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์

จนเมื่อมีการเปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นกระทรวง ทบวง กรม มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการมากมาย อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรมแผนที่ทหาร โรงกษาปณ์สิทธิการ (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เจ้าฟ้า) กระทรวงยุติธรรมและศาลฎีกา เป็นต้น หรือการใช้อาคารเดิม อาทิ วังสราญรมย์ เป็นที่รับรองของพระราชอาคันตุกะ ต่อมาเป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ

Advertisement
ภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ บริเวณอาคารศาลยุติธรรมด้านหลัง เห็นคลองหลอดหรือคลองคูเมืองเดิม : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

บริเวณสามเหลี่ยมชายธง ซึ่งเกิดจากแนวถนนสองสายวิ่งมาบรรจบกันคือ ถนนสนามไชยและถนนมหาราช เคยเป็นที่ตั้งของวังสี่วัง ได้แก่ วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ และวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช

และวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของกระทรวงพาณิชย์

ปัจจุบันคือมิวเซียมสยาม

Advertisement

พื้นที่เขตพระนครจึงเป็นที่ตั้งอาคารสำคัญของประเทศ เป็นอาคารประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นประจักษ์พยานพัฒนาการของบ้านเมืองทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมทั้งสถาปัตยกรรมและเมือง อาคารดังกล่าวยังได้รับการทำนุบำรุงรักษาให้สวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมทรงคุณค่าและเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ล้ำค่า

นามเขตพระนครนั้น เริ่มเรียกขานเมื่อใดยังไม่สามารถระบุแน่ชัด ที่พบระบุว่า ในปี พ.ศ.2441 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 15 แผ่น 8 วันที่ 22 พฤษภาคม ร.ศ.117 เรื่อง ประกาศจัดการสะอาดในจังหวัดพระนคร ที่กำหนดเขตสุขาภิบาลรักษาความสะอาดท้องที่ มีข้อความดังนี้

“แนวฝั่งตวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางลำภูลงไปเพียงปากคลองตพานหัน เลี้ยวเข้าคลองไปตามแนวคลอง ฝั่งข้างกำแพงพระนครตลอดไป จนออกปากคลองบางลำภู บันจบแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ ในจังหวัดนี้ ให้เรียกว่า จังหวัดพระนคร …”

ที่ทำการกระทรวงพาณิชย์เดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมิวเซียมสยาม

เมื่อมีการจัดแบ่งพื้นที่การปกครองเป็นมณฑลนั้น กำหนดให้จังหวัดพระนครอยู่ในมณฑลกรุงเทพฯ และเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงนครบาล ในขณะที่มณฑลอื่นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย

ในปี พ.ศ.2458 เมื่อมีประกาศยกเลิกอำเภอชั้นในเดิม และตั้งอำเภอชั้นในใหม่ จำนวน 25 อำเภอ ของจังหวัดพระนคร ซึ่งในช่วงที่ยังตั้งที่ว่าการอำเภอไม่ครบนั้น ให้ราษฎรจากอำเภอใกล้เคียงไปติดต่อราชการ ณ อำเภอที่ตั้งไว้แล้ว เช่น ผู้ที่อยู่ในท้องที่อำเภอพระราชวัง อำเภอชนะสงคราม อำเภอพาหุรัด ให้ไปติดต่อราชการที่อำเภอสำราญราษฎร์ ซึ่งตั้งอยู่ในกระทรวงนครบาล

จนเมื่อมีการกำหนดที่ว่าการใหม่ ได้แก่ …ที่ว่าการอำเภอชนะสงคราม มีที่ว่าการอยู่ที่เชิงสะพานรามบุตรี ถนนจักรพงษ์ อำเภอพระราชวัง อยู่ที่ตึกแถวถนนท้ายวัง และอำเภอพาหุรัด อยู่ที่ตึกแถวถนนตรีเพ็ชร์ ตรงสถานีตำรวจพระนครบาล…

คลองโอ่งอ่าง หรือคลองคูเมืองใหม่ ตรงภูเขาทองวัดสระเกศ : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
พระนครในม่านหมอก : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ต่อมาในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก เป็นผลให้ต้องปรับลดงบประมาณรายจ่าย จึงยุบบางอำเภอ หรือลดขนาดเป็นกิ่งอำเภอ ดังประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 42 เรื่องยุบเลิกอำเภอและลดลงเป็นกิ่งในจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2468 (นับอย่างปัจจุบันคือ พ.ศ.2469) มีความดังนี้

…เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯให้ประกาศทราบทั่วกันว่า อำเภอในจังหวัดพระนครบางแห่งมีอาณาเขตร์ใกล้ชิดติดต่อกันสมควรจะยุบถอนเปลี่ยนแปลงใหม่ เพื่อเปนการประหยัดตัดรอนรายจ่ายเงินแผ่นดินคราวนี้…

มีผลให้อำเภอพระราชวังเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นอยู่กับอำเภอพาหุรัด และอำเภอชนะสงคราม เป็นกิ่งอำเภอขึ้นอยู่กับอำเภอสำราญราษฎร์

ต่อมา มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 45 วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2471 ให้รวมการปกครองอำเภอพาหุรัด อำเภอสำราญราษฎร์ กิ่งอำเภอพระราชวัง กิ่งอำเภอชนะสงคราม เป็นอำเภอหนึ่ง เรียกว่า อำเภอพระนคร ที่ทำการอยู่ที่กิ่งอำเภอชนะสงคราม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2472 และภายหลังได้รวมอำเภอสามยอด และอำเภอบางขุนพรหมเข้ามาด้วย

หลังจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2514 ให้รวมจังหวัดธนบุรี และจังหวัดพระนคร เป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 คณะปฏิวัติมีประกาศให้เรียกนครหลวงของประเทศไทยว่า กรุงเทพมหานคร และกำหนดให้เปลี่ยนชื่อเรียกพื้นที่แบ่งส่วนภายในว่าเขต อำเภอพระนคร จึงเปลี่ยนเป็น เขตพระนครเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยมีความเป็นมาดังที่กล่าวมา ทำให้เขตพระนครในปัจจุบันประกอบด้วยแขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงสำราญราษฎร์ ชนะสงคราม และบางขุนพรหม ที่เคยเป็นอำเภอมาก่อน และแขวงวังบูรพาภิรมย์ วัดราชบพิธ ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า บวรนิเวศ ตลาดยอด บ้านพานถม และวัดสามพระยา ที่แบ่งแยกขึ้นมาใหม่ รวมทั้งหมด 12 แขวง

สะพานหัน ข้ามคลองโอ่งอ่าง (คลองคูเมืองใหม่) : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เขตพระนครมีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือติดต่อกับเขตดุสิต โดยมีคลองผดุงกรุงเกษมเป็นขอบเขต ทิศตะวันออกติดกับเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ มีถนนราชดำเนินนอกและคลองรอบกรุงเป็นขอบเขต ทิศใต้ติดกับเขตคลองสานและเขตธนบุรี โดยมีกึ่งกลางของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นขอบเขต และทิศตะวันตกติดกับเขตบางกอกใหญ่ เขตบางกอกน้อยและเขตบางพลัด มีแนวกึ่งกลางของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต

ด้วยความสำคัญของอาคารและสถานที่ที่ตั้งอยู่ในเขตพระนคร ในปี พ.ศ.2524 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์เมืองเก่า โดยขนานนามว่า เกาะรัตนโกสินทร์ ตามสภาพพื้นที่เสมือนว่าเป็นเกาะ ด้วยมีแม่น้ำและคูคลองล้อมรอบ

เริ่มจาก คลองคูเมืองเดิมหรือคลองหลอด ที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา จากทางด้านเหนือที่ท่าช้างวังหน้า มาจนถึงด้านใต้ที่ปากคลองตลาด ทั้งนี้เพื่อนำดินจากการขุดขึ้นถมเป็นเชิงเทิน ตั้งค่ายปักด้วยไม้ทองหลางทั้งต้นตลอดแนวคลอง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้ขุดคูเมืองใหม่รอบนอกเพื่อขยายราชธานี คลองคูเมืองเดิมจึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมภายในเมืองของราษฎร ทำให้มีการเรียกขานตามสถานที่ที่คลองไหลผ่าน อาทิ คลองโรงไหม คลองตลาด หรือปากคลองตลาด เป็นต้น รวมทั้งมีการขุดแต่งคลองช่วงกลางให้เป็นเส้นตรง ผู้คนจึงเรียกคลองช่วงนี้ว่าคลองหลอด ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี รัฐบาลจึงมีมติให้เรียกชื่อคลองนี้ว่า คลองคูเมือง

ภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณโรงกษาปณ์สิทธิการ โดยปีเตอร์ วิลเลียม ฮันท์ พ.ศ.2486 : ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

คลองคูเมืองใหม่หรือคลองรอบกรุง เป็นคลองที่ขุดขึ้นภายหลัง เมื่อย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาฝั่งพระนคร โดยขุดขนานไปกับแนวคูเมืองเดิม เริ่มจากด้านเหนือที่บางลำพูมาจนถึงด้านใต้ที่เหนือวัดสามปลื้ม แม้ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้พระราชทานนามว่า คลองรอบกรุง แต่ราษฎรมักเรียกชื่อคลองตามสถานที่ที่คลองไหลผ่าน อาทิ คลองบางลำพู คลองสะพานหัน คลองวัดเชิงเลน เป็นต้น หรือเรียกคลองโอ่งอ่าง ตามย่านการค้า เครื่องดินเผาของชาวมอญและจีน ต่อมาในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี รัฐบาลจึงมีมติให้เรียกชื่อคลองนี้ว่า คลองคูเมืองใหม่

เพื่อธำรงความสำคัญในฐานะประจักษ์พยานแห่งประวัติศาสตร์และความสวยงามของพระบรมมหาราชวัง ศาสนสถาน พระราชฐาน และอาคารประวัติศาสตร์อื่น ในปี พ.ศ.2527 กระทรวงมหาดไทยมีประกาศกระทรวงไม่อนุญาตให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ ยกเว้นอาคารทางศาสนา อาคารที่ทำการของราชการ และควบคุมความสูงอาคารไม่ให้เกินความสูงของอาคารเดิม และไม่เกิน 16 เมตร ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ที่อยู่ภายในแนวคลองคูเมืองเดิม และในปี พ.ศ.2529 มีการออกข้อบัญญัติเพิ่มเติม ห้ามก่อสร้างอาคารสูง 20 เมตร ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก สำหรับพื้นที่ถัดออกจากคลองคูเมืองเดิมจนถึงคลองโอ่งอ่างหรือคลองบางลำพู

เขตพระนครจึงเปรียบได้ดั่งอัญมณีล้ำค่าที่ประดับอยู่บนยอดของเรือนแหวนแห่งกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image