ว่าด้วยระบอบยืมอำนาจ (โดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ)

ส่งท้ายปี 2561 ที่สื่อหลายสำนักยังไม่กล้าตั้งฉายารัฐบาล และฉายากับระบอบที่เป็นอยู่

ขณะที่ตลก นักร้อง และนักเทศน์ชื่อดังยังกล้าเล่นกล้าแซว

กอปรกับเรื่องของผลการตัดสินคดีนาฬิกายืมเพื่อนของนายพลผู้ทรงอำนาจ และคำตัดสินขององค์กรสุดแสนอิสระ

คือไม่รู้ว่าอิสระจากอำนาจการเมือง หรืออิสระจากความรู้สึกของประชาชน และการค้นหาความจริง

Advertisement

ผลการตัดสินทำให้กระแสการเมืองท้ายปีไม่ค่อยเอื้อให้ประชาชนรู้สึกจะมีความหวังกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้าฟ้าใหม่ที่จะมาถึง

มิพักต้องกล่าวถึงเรื่องของข่าวลือที่ไม่จบไม่สิ้นถึงการเลื่อนเลือกตั้ง ที่ไม่ควรจะต้องมาคุยกันแล้วว่าจริงหรือไม่จริง

เรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจนิดหนึ่ง ก่อนที่จะด่วนสรุปถึงการเสียความรู้สึกกับคำตัดสินก็คือคำตัดสินที่ออกมานั้นมีทั้งส่วนที่หลายคนเสียความรู้สึก เพราะตีตกเรื่องการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากมองว่ายืมเพื่อนมา

ประเด็นที่ยังต้องตามต่อก็คือ ต่อให้ไม่ผิดเรื่องไม่แจ้งทรัพย์สิน (อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ ก็ไม่ใช่ของเขาจะแจ้งทำไม) ก็ยังต้องเจออีกสองเรื่อง

เรื่องแรกคือ ยืมมาเนี่ยผิดไหม ถือว่ารับของไหม ความผิดสำเร็จไปแล้วใช่ไหม อันนี้มีอีกคณะหนึ่งที่จะตัดสินเรื่องนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไป และที่น่าสนใจก็คือ คำตัดสินขององค์กรอิสระตอนนี้ก็ยืนยันไปแล้วว่ายืมเพื่อนมา ก็ต้องมาดูต่อล่ะครับว่าไปยืนยันให้เขาเองว่ายืมเพื่อนมา ก็ต้องดูต่อว่าจะกล้ายืนยันไหมว่ายืมเพื่อนมานี่ไม่ผิด

เรื่องที่สองก็คือ แน่ใจไหมว่ายืมมาแน่ เพราะหลักฐานว่าใครเป็นเจ้าของไม่แน่ชัดทุกเรือน และบางเรือนเหมือนจะออกมาในเวลาที่คาบเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อน จนสงสัยว่าเพื่อนซื้อจริงไหม หรือเพื่อนซื้อมานี่ซื้อแล้วให้ยืมเลยเหรอ

เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสื่อหลักจะสนใจเสียงทักท้วงจากสื่อใหม่ๆ หรือไม่ เพราะสื่อใหม่ๆ นั้นเขาไม่ได้เป็นสื่อที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์สีเสื้อในแบบเดิมเสมอไป เขาต้องการทางเลือกและความจริงอีกแบบหนึ่งที่สื่อยุคเดิมอาจไม่เข้าใจ และจัดวางตำแหน่งและความสัมพันธ์กับพวกเขาได้ลำบาก

ที่เขียนมาซะยืดยาวนี้ก็เพื่อจะปูพื้นไปสู่เรื่องสำคัญสองเรื่องปลายปี เรื่องแรกก็คือ ถ้าสิ่งที่เรามีประสบการณ์ร่วมกันในช่วงปีนี้จะถูกทำความเข้าใจและถูกเรียกหรือตั้งฉายา ผมก็ขอเสนอว่า 4 ปีกว่าที่ผ่านมานี้ควรจะได้รับฉายาว่า เป็น 4 ปีที่เราอยู่ในระบอบการเมืองแบบ “ยืมอำนาจ”

กล่าวอีกทางก็คือ การรัฐประหารในรอบล่าสุดเมื่อ 2557 นี้ควรจะถูกนิยามว่าเป็น “ระบอบยืมอำนาจ”

และการรัฐประหารรอบล่าสุดก็น่าจะเรียกไปเลยว่า เป็น “การยืมอำนาจ”

ยิ่งเมื่อนึกถึงเพลงที่ร้องว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็ยิ่งชัดเจนว่า เรื่องของ “คำสัญญา” ดูจะชัดเจนเหมือนกับการ “สัญญาว่าจะคืน” อำนาจให้กับเรา แต่เลื่อนมาอย่างต่ำสี่ครั้งแล้วนั่นแหละครับ

ถ้าจะเอาชื่อเต็มของระบอบนี้ก็ควรจะเรียกว่า “ระบอบยืมอำนาจ (โดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ)” นั่นแหละครับ เพราะเมื่อเราพูดเรื่องของการหยิบยืมนั้น เราจะมักจะชอบเข้าใจกันว่า ผู้ที่ให้เขายืมน่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงกว่า และรู้สึกสงสารเมตตากับผู้อื่นซึ่งควรจะมาสถานะด้อยกว่า เราจึงให้ยืม และอาจจะเรียกร้องดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นๆ ได้ ทำนองเดียวกับการให้เขากู้นั่นแหละครับ

แต่ถ้าใครเคยตกอยู่ในสถานการณ์จริง เราอาจจะเคยเจอกรณีที่คนที่มีอำนาจมากกว่าเราหยิบของของเราไปโดยไม่ขออนุญาต หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่หยิบไปดื้อๆ โดยที่เราทำอะไรไม่ได้ ที่ทำไม่ได้เพราะเราอ่อนแอกว่า กล้าหาญน้อยกว่า หรือคำนวณดูแล้วรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะต้องปะทะหรือแตกหัก

ในหลายครั้ง คนที่มีอำนาจนั้นจึงใช้คำว่า “ขอยืมหน่อย” โดยที่เราอาจจะไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ

แถมคนมีอำนาจเหล่านั้นอาจมีกองเชียร์ที่รู้สึกในตอนแรกว่าการยืมอำนาจไปแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์นั้น แต่วันนี้กองเชียร์เหล่านั้นจำนวนหนึ่งก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าอำนาจของพวกเขาที่เชื่อว่ามี จะออกมาไล่ใครก็ได้นั้นมันหายไปแล้ว และถูกยืมไปโดยไม่รู้ตัวกับเขาเหมือนกัน หรือรู้ตัวแต่เจอสัญญาการหยิบยืมแบบที่เป็นอยู่ ถ้าไม่ติดคอก็คงเอาเท้าก่ายหน้าผาก กันไปไม่ใช่น้อย

การมอบฉายาระบอบการเมืองในวันนี้ว่า “ระบอบยืมอำนาจโดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ” นั้นทำให้เราข้ามพ้นไปจากการตั้งฉายาระบอบกับชื่อคน หรือคณะบุคคล เช่น ระบอบประยุทธ์ หรือระบอบ คสช. หรือระบอบรัฐประหาร เพราะข้อถกเถียงหนึ่งในการตั้งชื่อระบอบนั้นก็คือ การบริหารราชการแผ่นดินหรือการปกครอง รวมไปถึงการเมือง บางครั้งหลายคนอาจรวมกันอยู่ในระบอบหนึ่ง เช่น เราเรียกรวมเหตุการณ์ในช่วง 2500-2516 ว่าระบอบ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส เป็นต้น คนคนเดียวจึงอาจไม่ได้เป็นภาพรวมของระบอบไปเสียทุกครั้ง

หรือมีข้อถกเถียงกันมาตลอดว่าการเรียกระบอบทักษิณนั้นเป็นสิ่งที่มากเกินกว่าความเป็นจริงไหม แต่ทั้งคนที่ชอบ หรือไม่ชอบทักษิณ ก็ค่อนข้างมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสามารถเรียกได้ และเรียกควบคู่ไปกับนโยบายหลักที่เรียกว่า “ประชานิยม”

ส่วนการพยายามเรียกระบอบใดระบอบหนึ่งว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการนั้นก็ดูเหมือนจะไม่ง่ายนักในวันนี้ เพราะระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ค่อยมีคุณภาพเองก็มักถูกเรียกและมีลักษณะเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาได้ (ไม่ใช่ระบอบรัฐสภาทุกระบอบเป็นเผด็จการ) ส่วนระบอบเผด็จการนั้นบางทีก็ซื้อเวลาด้วยการเปิดเสรีในบางด้าน หรืออ้างว่าตนนั้นเป็นประชาธิปไตย 99.99% ก็มีให้เห็นกันอยู่

การเรียกระบอบที่เป็นอยู่ 4 ปีว่า “ระบอบยืมอำนาจโดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ” นั้นน่าจะชี้ให้เห็นลักษณะการใช้อำนาจที่เป็นอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดีและเมื่อมีความพยายามหลายครั้งในการทวงคืนอำนาจ หรือตั้งแต่ทวงถามว่าการยืมอำนาจประชาชนไปนั้นประชาชนยินยอมพร้อมใจจริงไหม ประชาชนก็เริ่มเห็นว่า กติกาในการมีอำนาจที่ยืมไป และการคืนอำนาจก็ถูกเขียนโดยผู้ยืม ไม่ใช่ผู้ให้ยืม

แถมยังเอาผิดผู้ยืมไม่ได้ และองค์กรที่ควรจะสามารถชี้ขาดได้ว่าการยืมอำนาจเขาไปในครั้งนี้มันเป็นสิ่งที่ทำได้ไหม ก็ยังอ้างคำอธิบายประเภทที่ว่า การยืมอำนาจโดยผู้ให้ยืมอาจไม่ได้ยินยอมพร้อมใจทุกคน ในเบื้องแรกอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูก แต่เมื่อการยืมสำเร็จไปแล้ว คืออำนาจที่ถูกยืมไปตกอยู่ในมือของผู้ยืมแล้ว ก็ถือว่าการยืมเป็นผลสำเร็จ แถมยังไม่มีสิทธิทวงและเอาผิดคนที่ยืมโดยไม่ได้ถามอีกต่างหาก (ฮา)

ทีนี้ไอ้คำว่า “ไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ” นี่มันยิ่งขยายความได้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าในช่วงที่มีการพูดว่าถึงเวลาที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนผู้ถูกยืมอำนาจไปโดยไม่ได้ยินยอมพร้อมใจนั้น ก็จะพบว่าอาการจะออกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไอ้ที่ยืมไว้น่ะ ถ้าจะเอากลับไปก็คงจะใช้ไม่ได้เหมือนเดิมทั้งหมดแล้ว เพราะว่าจะต้องเป็นไปตามกฎกติกาใหม่ที่ร่าง และจะยังมีแผนยุทธศาสตร์การใช้อำนาจเข้าไปอีกสัก 20 ปี

แถม 5 ปีแรกนี่พรรคพวกของคนที่ยืมโดยไม่ค่อยได้ถามเรานี่ยังมีแนวโน้มจะอยู่เต็มพรึบไปหมด

ที่หนักกว่านั้นก็คือ ยังมีวิธีพิสดารเพิ่มขึ้นในการไม่ให้คืน โดยการให้พรรคพวกตัวเองตั้งกลุ่มก๊วนลงมาแข่งอีก แถมยังสร้างความได้เปรียบสารพัดในเกมการต่อสู้ในรอบนี้ เช่น ไม่ออกจากตำแหน่งจนกว่าเวลาจะเหมาะสม ออกกติกาให้พรรคใหญ่ลงสนามช้ากว่า เอานโยบายรัฐบาลมาตั้งชื่อพรรคตัวเอง เชื่อมโยงกับข้าราชการและกลไกรัฐในการหาเสียงอยู่ดังที่เห็นในหน้าข่าว รวมทั้งใช้วิธีปิดปากในทางอ้อมอีกสารพัด

ในการศึกษารัฐศาสตร์สมัยใหม่ การเลือกตั้งนอกจากไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย ตามที่ฝ่ายโต้/ต้านประชาธิปไตย เขาอ้างกัน

แต่อีกด้านหนึ่งนั้น บ่อยครั้งเผด็จการก็ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งในการสืบสานอำนาจต่อไปอย่างชอบธรรมขึ้น และเป็นทั้งการลองกำลังและสลายกำลังของฝ่ายต่อต้านตนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

เพราะการลากเอาฝ่ายที่ต้านตนนั้นลงสนามเดียวกันที่ตนได้เปรียบนั้น จะทำให้สามารถใช้ข้ออ้างมากมายในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามนั้นเสียเปรียบในเกม และอาจลากเอาฝ่ายตรงข้ามไปดำเนินคดีได้ด้วย ดังที่เห็นจากหลายประเทศที่ฝ่ายค้านถูกกระทำและถูกลากเข้ากระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว และสุดท้ายฝ่ายผู้กุมอำนาจก็สามารถครองอำนาจต่อได้โดยสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองได้มากขึ้น และทำให้ทุนระดับชาติและนานาชาติพอใจและสะดวกใจที่จะเข้ามาลงทุนได้ “โดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ”

ดังนั้น การดำรงชีวิตอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน/หรือไม่ผ่านจากระบอบยืมอำนาจนั้น จึงไม่ควรคิดง่ายๆ แค่ว่า รอให้ถึงวันเลือกตั้งก่อนเถอะ เราจะแสดงให้เขาเห็นว่าเราได้เอาอำนาจที่เขายืมไปนั้นคืนมาเสียที

แต่ให้ลองนึกดีๆ ว่า กว่าจะถึงวันที่เราเชื่อว่าเราจะได้อำนาจคืนนั้น แน่ใจหรือว่าเขาจะคืนเราง่ายๆ เพราะดูท่าว่าเขาจะชอบใจในสิ่งที่เขาฉวยเอาไปในนามของการ “ยืมอำนาจ” มานานหลายปีแล้วครับ

และแม้ว่า “ระบอบยืมอำนาจโดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ” เริ่มเห็นอาการชักเข้าชักออกของการไม่ค่อยอยากจะคืนอำนาจที่ยืมมาในหลายรูปแบบ

ก็ยังถือว่าโชคดีที่คนที่ถูกยืมอำนาจไปโดยไม่ค่อยยินยอมพร้อมใจ และคนที่ให้ยืมไปโดยเต็มใจเริ่มเสียใจบ้างเนี่ย เขายังมีมารยาท ความอดทน และความหวังกันอยู่ว่าเขาจะได้อำนาจของเขาคืน

สถานการณ์ “การทวงอำนาจคืนโดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ” จึงยังไม่เกิดขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image