ปีที่อำนาจ Corrupt กำลังจะถูก Disrupt : โดย กล้า สมุทวณิช

หากให้เลือกคำแห่งปีพุทธศักราช 2561 หรือปีสากลคือ 2018 แล้ว ผมคงลังเลระหว่างคำที่ออกเสียงคล้ายกันสองคำ

คำแรกที่เป็นคำฮิต คือ Disrupt ที่หมายถึงการแทรกแซง ซึ่งเป็นคำที่ฮิตที่สุดของปีในทางธุรกิจ กิจกรรมทางสังคมหรือทางวัฒนธรรม ดิสรัปต์ คือ การที่ธุรกิจ สื่อ หรือกิจกรรมของผู้คนในรูปแบบเก่านั้นถูกแทรกแซงหรือแทนที่โดยเทคโนโลยี จนเกิดความเปลี่ยนแปลงไปจนถึงขนาดว่าบางธุรกิจอาจจะล้มหายตายจากหรือเข้าสู่ระยะสุดท้ายของลมหายใจอันแผ่วเบา เช่น ธุรกิจสื่อรูปแบบเก่า สิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ หรือแม้แต่การศึกษา หรือธุรกิจการค้าและบริการในรูปแบบเดิม

ลามต่อไปถึงหลายเรื่องที่มีการคาดการณ์ไว้ในอนาคต เช่น อาชีพ ที่ใช้แรงงานและทักษะของมนุษย์ที่อาจถูกแทนที่ได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีจักรกลที่เชื่อมต่อกับมัน เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ระบบการทำงานที่มีรูปแบบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์อาจจะศึกษา เรียนรู้ และทำแทนมนุษย์ได้

หรือแม้แต่พฤติกรรมของคนในสังคม ที่มีความเปลี่ยนแปลงไป เช่น พฤติกรรมในการอ่าน ผู้คนยัง “อ่าน” แต่ไม่ “อ่านหนังสือ” คนอ่านปัจจุบันนั้น “อ่านมาก” แต่ไม่ “อ่านยาว” ฯลฯ หรือการซื้อของและรับบริการ ซึ่งเรามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องเห็นหรือลองถ้าทราบคุณสมบัติอยู่แล้ว หรือแนวโน้มของคนที่จะจ่ายเงินแลกกับการประหยัดเวลา มากกว่าการจ่ายเวลาเพื่อประหยัดเงิน

Advertisement

ส่วนอีกคำนั้น คือคำว่า Corrupt ที่แปลเป็นไทยได้ใกล้ตัวที่สุด คือ “ฉ้อฉล” หรือ “เสื่อมถอย”

อาจกล่าวได้ว่า 2561 ปีเดียวนั้น ประชาชนชาวไทยที่สติดีปัญญาไม่พร่อง ก็ได้รู้เช่นเห็นถึง “ความเสื่อมถอย” ของสถาบันทางอำนาจหลายส่วนในแทบทุกแง่มุม ราวกับเป็นห้องทดลองทางการเมืองของคำพูดอมตะของลอร์ดแอคตันที่ว่า “อำนาจนั้นมีแนวโน้มแห่งความฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จจึงฉ้อฉลเด็ดขาด” ในวันที่เราไม่มีนักการเมืองมานานกว่าสี่ปีแล้ว อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่คณะบุคคลกลุ่มเดียว และกระจายตัวไปยังสถาบันผู้ใช้อำนาจรัฐต่างๆ

สิ่งแรกที่เราได้รู้และสัมผัสกันตั้งแต่วันแรกๆ ของปี 2561 ก็คือความ “ผิดปกติ” ของระบบซึ่งผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่กล้าสวมนาฬิการาคาหลักล้านเปิดเผยโดยไม่ต้องเกรงสายตาใคร ซึ่งแม้สรุปออกมาแล้วว่าจะไม่ถือว่าท่านผู้นั้นมีความผิดพ้องต้องสำแดงใดๆ ทุกอย่างสามารถชี้แจงได้ มีเหตุผลที่อธิบายได้ โดย “ชอบด้วยกฎหมาย” ทุกประการ

Advertisement

แต่สำหรับ “ความชอบธรรม” แล้ว วิญญูชนทั้งหลายคงสัมผัสกันได้ด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกัน

ความผิดปกติดังกล่าวเหมือนคำสาปแห่งความเสื่อม ที่เลียลามออกไปเรื่อยๆ จนถึงองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ที่ในตอนนี้ผู้คนในสังคมคงจะรู้แล้วว่าท่านทำหน้าที่ได้สมที่เอาคำว่า “ป้องกันและปราบปรามการทุจริต” ไปติดไว้ที่ชื่อหรือไม่ และลามรวมไปยังองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิต่างๆ ที่เหมือนจะเก่งกล้าก๋ากั่นแต่กับรัฐบาลพลเรือนหรือพวกนักการเมือง

ที่แม้แต่ “องค์กรตุลาการ” ที่เก่าแก่ยืนนานคงความศักดิสิทธิ์ที่สุดอย่าง “ศาลยุติธรรม” นั้นถูกจ้องมองด้วยสายตากังขาและกริยาที่ขาดความยำเกรงจากประชาชน

แม้ก่อนหน้า จะเคยมีการตั้งคำถามกับองค์กรตุลาการมาก่อนแล้วในวิกฤตการเมือง แต่เป้าตาวัวนั้นก็จะตกลงแก่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรตุลาการเกิดใหม่ และมีเขตอำนาจพัวพันไปในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ไม่น่าแปลกอะไรที่จะถูกจ้องมองหรือตั้งคำถาม ในการตัดสินบางอย่างที่ส่งผลในทางดีทางร้ายหรือมีนัยทางการเมือง หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการในทางกฎหมายมหาชนที่คาบเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐบ้างที่อาจจะถูกตั้งคำถาม

แต่ก็ไม่ใช่ “ศาลยุติธรรม” ที่เป็นเหมือนศาลศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จากบาดแผลในเรื่องบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “บ้านป่าแหว่ง”

เรื่องดังกล่าวนั้นเรียกดึงให้ผู้คนหันมาพิจารณาถึง “สิทธิประโยชน์” และ “อภิสิทธิ์” ของผู้คนที่ดำรงตำแหน่งตุลาการที่เคยอยู่อย่างสงบศักดิ์สิทธิ์มาตลอด ปกติการขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนทั้งที่เข้าใจได้และเข้าใจยาก ที่เคยเป็นเรื่องที่รู้กันเงียบๆ คำนวณเงินเดือนเงินเพิ่มเงินเบี้ยประชุม ค่ารถประจำตำแหน่งและสิทธิโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ฟรีที่เคยเฮฮากันในกรุ๊ปไลน์ก็ถูกประชาชนจับตา ช่วยคำนวณให้ว่าแต่ละท่านได้ตกเบิกหรือสิทธิประโยชน์ย้อนหลังอะไรกันเพียงใด คิดเป็นเงินเท่าไรที่มาจากภาษีของประชาชน

หรือในช่วงท้ายๆ ปี ที่มีเรื่องของ “มาตรฐานคนดี” ที่ตั้งเอาไว้อย่างสูงลิบ เช่นกระบวนการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ก็ช่วยเปิดโปงให้เราได้เห็นว่า บรรดาคนดีที่กลัวการตรวจสอบนั้นเป็นอย่างไร การวางรูปแบบวิธีการตรวจสอบแบบไม่ไว้วางใจเพื่อกะ “เอาเรื่อง” คนบางฝั่งบางฝ่ายหรือในหมวกนักการเมืองที่รุนแรงเกินจริงนั้น พอบรรดา “คนดี” หรือแม้แต่ตัวคนที่จัดวางสร้างระบบเช่นนั้นต้องเจอบ้างกับตัว ก็ถึงกับหนีญะญ่ายพ่ายจะแจกันเป็นแถว ให้กลายเป็นเรื่องตลกเฮฮา และตามมาด้วยมาตรฐานใหม่น่าอนาถใจ

เมื่อในที่สุดก็มีการใช้ “อำนาจพิเศษ” มายกเว้นมิให้ท่านผู้ดีผู้งามเหล่านั้นต้องยุ่งยากลำบากใจกับกระบวนการเพื่อความสุจริตโปร่งใสนั้น ให้เราได้รู้ว่า เรื่องดีๆ นั้นมีเอาแต่ทำได้ยากนั้น มีไว้ใช้กับฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่พวกของตัว

ความเสื่อมถอยขององค์กรหรือสถาบันที่ใช้อำนาจรัฐชั้นสูงนี้ สวนทางกับความเข้มแข็งของประชาชนและปัจเจกชนที่ปรากฏให้เห็นตลอดปีนี้ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายสังคม และเทคโนโลยีของสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายและมีราคาถูก ซ้ำยังเผยแพร่ได้อย่างง่ายดายชนิดแทบไม่มีต้นทุนมากมายนัก และถ้าเรื่องนั้นจุดติดตรงใจคนส่วนใหญ่ ก็สามารถที่จะลามกระจายไปจนเกินกว่าการกำกับควบคุมของอำนาจรัฐ

เพจการ์ตูน “ไข่แมว” และเพลง “ประเทศกูมี” ได้พิสูจน์ให้เห็นพลังงานมวลรวมของประชาชนที่แน่นหนาซึ่งได้รับพลังประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ว่านั้น

พลังมวลรวมของประชาชนเช่นนั้นไม่อนุญาตให้ผู้มีอภิสิทธิ์ในสังคมสามารถใช้สิทธิพิเศษนั้นได้อย่างง่ายดายไม่ยี่หระจนเกินไป บทเรียนจากความพ่ายแพ้ของสังคมในเรื่องที่ทายาทบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก สามารถหลุดรอดจากกระบวนยุติธรรมไปได้แบบลอยนวล ประสบการณ์นั้นทำให้ผู้คนในสังคมใช้กลไกของโลกโซเชียลไล่บีบไล่บี้คดีที่ผู้บริหารบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของประเทศไปล่าสัตว์ป่าที่มีไฮไลต์คือเสือดำซึ่งเป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์กันตั้งแต่ในชั้นของกระบวนการสอบสวน การแจ้งข้อหา จนกระทั่งมีการดำเนินคดีในชั้นศาลได้จริง แม้ว่าผลของคำพิพากษาจะยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปก็ตาม

ไม่นับเรื่องเล็กน้อยปลีกย่อยอีกมาก ที่แสดงให้เห็นว่า การใช้อำนาจของบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งใช้อำนาจรัฐ ไม่สามารถที่จะลอยนวลด้วยความไม่เอาจริงเอาจังของกลไกการตรวจสอบและกระบวนยุติธรรมที่ย่อหย่อนได้ง่ายๆ แบบคดีนี้พี่ขออีกต่อไป

เพียงสักท่านหนึ่งที่ลุแก่โทสะชักปืนขึ้นมาขู่ประชาชนกลางถนน ก็รับรองได้ว่าประวัติการทำงานและรับราชการตลอดจนเรื่องส่วนตัวของคุณก็จะเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างถึงโรงเรียนลูกคุณ

นี่คือการ Disrupt ที่จะเข้ามาแทรกแซงการ Corrupt ของอำนาจมิชอบต่างๆ อย่างที่พวกท่านจะรับมือกันไม่ไหว ไปไม่เป็น และแม้แต่คาดไม่ถึง

ในปีหน้า พ.ศ.2562 เป็นปีที่คาดหมายว่าอย่างน้อยน่าจะเป็นปีสุดท้ายของการปกครองในระบอบ คสช. อย่างเต็มรูปแบบ แน่นอนว่าแม้จะยังเหลือซากเศษบางส่วนฝังรากฝังรอยอยู่บ้างก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็คาดหวังว่าจะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ที่ต่อท่อเจาะช่องไว้ก็เป็นอันต้องจบสิ้นลงเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภาที่อย่างน้อยในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรก็มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้นั่งอยู่บนเก้าอี้จะเป็นคนเดิมหรือไม่ก็ตาม แต่การใช้อำนาจนั้นก็จะต้องอยู่ในกติกาและบนความรับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้อย่างที่ควรจะเป็น

เว้นแต่จะมีกลไกอภินิหาริย์อันใดที่จะยื้อคงอำนาจนั้นไว้ต่อไป ก็อาจจะไม่เกินความคาดหมาย แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงเป็นอีกครั้งที่จะได้ทดสอบขันติธรรมความอดทนของผู้คนในสังคม

หากเรื่องที่น่าสนใจที่สุด คือการใช้อำนาจอย่าง Corrupt ทั้งหลาย ไม่ว่าจะผู้ใช้อำนาจนั้น หรือผู้สนับสนุนซึ่งควบคุมกติกาและการตรวจสอบ ซึ่งกำลังเอาความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อองค์กรมาผลาญใช้อย่างไม่กลัวหมดเปลือง ผู้ไม่ตระหนักว่าการใช้อำนาจอย่างไม่เกรงหัวเกรงใจประชาชน การทำอะไรแบบที่คิดว่าผู้คนทั้งหลายนั้นโง่เง่าที่จะไม่รู้เท่าทันเหตุผลที่ดูเหมือนจะชอบธรรมตามกฎหมาย หรือคำตอบประเภทกำปั้นทุบดินขอไปที การพลิกลิ้นเล่นถ้อยร้อยคำทั้งหลาย หรือการใช้อำนาจรัฐเข้าข่มขู่นั้น หากทำแบบนี้สักสิบกว่าปีก่อนก็เรื่องหนึ่ง

แต่ในยุคของการ Disrupt เช่นทุกวันนี้ อำนาจ Corrupt ที่เหมือนจะยังไม่เท่าทันต่อโลกยุคหน้าสักเท่าไรนั้นจะล้มร่วงหรือ Collapse ลงมาหรือไม่ หรือคำถามจริงๆ คือจะเป็นเมื่อไร

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image