เดินหน้าชน : คนผิดยื้อเน็ตโซนซี? : โดย สัญญา รัตนสร้อย

เมื่อ 25 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำคณะไปรายงานผลการดำเนินโครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือเน็ตชายขอบ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ฟังถึงทำเนียบรัฐบาล

มีการสอบถามถึงการเรียนของนักเรียนใน ร.ร.บ้านป่าลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่, ร.ร.ควนเสม็ด อ.สะเดา จ.สงขลา และ ร.ร.บ้านซ่อง อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ผ่านระบบ “Tele Education” รวมทั้งชมแพทย์ รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) รักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับตา ผ่านระบบ “Tele Medicine” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากประโยชน์ของเน็ตชายขอบ

แต่ “กสทช.” ยังมีอีกโครงการที่ต้องดำเนินการต่อ นั่นคือโครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (โซน C) จำนวน 15,723 หมู่บ้าน วงเงินกว่า 1.96 หมื่นล้านบาท

เมื่อเปิดให้บริการ จะมีจุดบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi หมู่บ้าน 15,584 จุดบริการ มีห้อง USO NET ในโรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และจุดบริการ Wi-Fi พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ 1,623 โรงเรียน มีจุดบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 91 แห่ง นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของโครงการ

Advertisement

ทั้งนี้ กสทช.ประกาศผลประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา รวม 7 สัญญา จาก 8 สัญญา เนื่องจากสัญญาที่ 2 คือ ภาคเหนือ 2 จำนวน 1,851 หมู่บ้าน งบ 2,325 ล้านบาท ผิดพลาดทางเทคนิคจึงแยกประมูลทีหลัง

ทั้ง 7 สัญญา น่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปตามขั้นตอนเพื่อให้เสร็จตามเป้าหมายในเดือนพฤษภาคม 2562

แต่ทว่า ในสัญญาที่ 4 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2) จำนวน 2,124 หมู่บ้าน ที่ผู้ชนะได้แก่ บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำสุดคือ 2,248 ล้านบาท แต่กลับมีคู่แข่งรายหนึ่ง เล่นเกมป่วน เป็นจระเข้ขวางคลอง

Advertisement

ด้วยการทำหนังสือยื่นอุทธรณ์การประกวดราคา โดยอ้างลอยๆ ว่า กสทช.มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นเหตุให้บริษัทตัวเองไม่ได้รับการประกาศผลเป็นผู้ชนะ

เป็นการเล่นเกมเพื่อหวังจะยื้อโครงการไว้ก่อน แล้วจะอาศัยเพาเวอร์ใต้ดิน ช่วยวิ่งให้ตัวเองพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะ

ทั้งๆ ที่กลุ่มบริษัทตัวเองนั้น มีความผิดเป็นชนักติดหลังอยู่ ยังไม่สำเหนียก แถมเป็นความผิดที่ฉกรรจ์ด้วย เพราะมีการตรวจสอบว่ากลุ่มบริษัทนี้ใช้แบงก์การันตีหรือหนังสือค้ำประกันปลอมมายื่นประมูล

เป็นแบงก์การันตี ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2561 เลขที่พิเศษ KB 0096/2561 ของธนาคารกสิกรไทย วงเงิน 641,377,850 ระยะเวลาค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2562

เมื่อตรวจสอบไปยังธนาคารกสิกรไทย ก็ได้รับหนังสือจาก “สมศักดิ์ จันทร์วัฒนพงษ์” ผู้จัดการงานหนังสือค้ำประกัน ตอบมาว่า “ธนาคารมิได้มีการออกหนังสือค้ำประกันฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด”

“โป๊ะแตก” ซิครับ… เมื่อเป็นเอกสารเก๊ ก็หมดสิทธิที่จะร่วมประมูลอยู่แล้ว แต่ยังเหิมมายื่นอุทธรณ์ผลการประมูลอีก น่าจะเข้าข่ายความผิดอาญาที่ใช้เอกสารเท็จกับหน่วยงานรัฐ ที่ต้องแจ้งความดำเนินคดี และขึ้นบัญชีดำด้วย

แต่เหมือนกลุ่มบริษัทนี้จะมีแบ๊กอัพที่มีเพาเวอร์จริง จึงทำให้เจ้าหน้าที่บางส่วนจะรับเรื่องอุทธรณ์ของกลุ่มบริษัทนี้ไว้ ทั้งที่ความผิดชัดเจน
หากรับอุทธรณ์เรื่อง ก็จะทำให้โครงการเน็ตโซนซีต้องล่าช้าออกไป เพราะต้องรอเข้าคิวเรื่องที่กรมบัญชีกลาง ไม่รู้เมื่อไหร่จะมีการพิจารณาเรื่องนี้

เมื่อโครงการต้องล่าช้าออกไป ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเสียโอกาส ทั้งที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

เป็นความล่าช้าที่เกิดจากคนทำผิด แล้วทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เสียประโยชน์ มันคุ้มกันหรือ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image