เดิมพัน การเมือง ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกตั้งปี 2562

คําประกาศที่ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกต่ำกว่า 100 ที่นั่งจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดขึ้นได้อย่างไร

เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือน

เกิดขึ้นในท่ามกลางความขัดแย้ง แตกแยก ในการคัดสรรผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่สงขลา ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมพร

เกิดขึ้นในท่ามกลางการแยกตัวไปอย่างไม่ขาดสาย

Advertisement

ไม่ว่าในกรณีของอดีต ส.ส.กทม.ที่เข้าไปรับตำแหน่งใน “รัฐบาล” ไม่ว่าในกรณีของอดีต ส.ส.ที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ไม่ว่าในกรณีความขัดแย้งในห้วงแห่งการชิงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค”

ทั้งหมดนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคต่อจาก นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ย่อมรู้อย่างที่สุดว่ามีรากฐานมาจากอะไร

Advertisement

เหมือนกับจะมาจาก “ภายนอก” แต่ในที่สุดแล้วมาจาก “ภายใน”

ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ในยุคหลังรัฐประหารมีลักษณะพิเศษ แตกต่างไปจากอดีตอย่างลึกซึ้ง

ไม่เหมือนยุคที่ นายเลียง ไชยกาล แยกตัวไปจัดตั้งพรรคประชาชน

ไม่เหมือนยุคที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จับมือกับ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นายใหญ่ ศวิตชาติ ไปจัดตั้งพรรคกิจสังคม

ไม่เหมือนยุคที่ นายสมัคร สุนทรเวช แยกตัวไปจัดตั้งพรรคประชากรไทย

ไม่เหมือนยุคที่ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ พล.อ.หาญ ลีนานนท์ แยกตัวไปจัดตั้งพรรคประชาชน

ตรงกันข้าม เป็นสถานการณ์ก่อนและหลัง “รัฐประหาร”

ไม่ว่าจะเป็นก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นก่อนและหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

จากยุค “คมช.” มายังยุค “คสช.”

ในห้วงแห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพียงแสดงการเห็นด้วยกับ “มาตรา 7”

แต่ในยุค “มวลมหาประชาชน” พรรคประชาธิปัตย์ไปไกลอย่างยิ่ง

หากมองไปยังการแยกตัวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย หากมองไปยังความขัดแย้ง แตกแยกในห้วงแห่งการหยั่งเสียงเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ล้วนมีความสัมพันธ์กัน

สัมพันธ์อย่างไม่ธรรมดา หากแต่สัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง

นั่นเพราะการตัดสินใจไปจัดตั้ง “กปปส.” โดยมีคนของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในฐานะแกนนำ นั่นเพราะทั้ง นายชวน หลีกภัย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างร่วมเป่านกหวีดและขึ้นเวทีปราศรัย

พรรคประชาธิปัตย์กับ “รัฐประหาร” จึงแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

บรรดาเกจิผู้ชำนาญการเมืองแห่งพรรคประชาธิปัตย์ลองนั่งทบทวนและสรุปปัญหาอันปะทุขึ้นในปัจจุบัน ก็จะมองเห็นว่ามีความเป็นมาอย่างไร

และบังเอิญเกิดขึ้นในยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

และบังเอิญเส้นทางของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สัมพันธ์กับเส้นทางของ นายชวน หลีกภัย เหมือนกับเป็นคนคนเดียวกัน

หากใช้หลัก “อริยสัจ” ไปสังเคราะห์ ก็จะมองเห็น “ตัวทุกข์” ได้

นั่นก็คือ เป็นทุกข์จากปัจจัย “ภายนอก” หรือว่าเป็นทุกข์จากปัจจัย “ภายใน” อันเป็นตัวตนของพรรคประชาธิปัตย์เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image