จิตวิวัฒน์ : วิชาการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (1) : โดย จุฑา พิชิตลำเค็ญ

เจตนาของการเขียนบทความนี้คือ เพื่อทบทวนตัวเองและกระจายความรู้เนื่องจากนิสิตในชั้นเรียนที่ฉันสอนมีการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้จากภายนอก บางคนที่แต่เดิมดูเหมือนมีเมฆหมอกปกคลุมจิตใจ ก็แจ่มใสขึ้นมาก เบิกบาน คลี่คลาย หรือบางคนที่ดูสวมหน้ากากยิ้มๆ อยู่ตลอดเวลาก็พูดจาเป็นธรรมชาติมากขึ้น บางคนไม่สบตาใครเวลาพูด ระยะหลังก็เริ่มมองหน้าคนฟัง วันสุดท้ายของเทอม นิสิตบอกว่า คนที่เรียนห้องนี้หน้าตาแจ่มใสไม่เหมือนกับเด็กปี 4 ห้องอื่นๆ เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนก็อยากให้เปิดสอนวิชานี้อีกในเทอมหน้า

ฉันจึงอยากนำเสนอวิธีการเสริมพลังเด็ก ช่วยให้พวกเขาเข้าใจตนเองในวิถีอื่นนอกเหนือจากการภาวนา เนื่องจากการเข้าใจตนเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นทักษะที่จำเป็นมากในยุคปัจจุบันและเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากเด็กๆ เริ่มมีอาการซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ภาคเรียนที่ผ่านมา ฉันเปิดสอนวิชาใหม่ที่ยังไม่มีอยู่ในหลักสูตร ภายใต้ร่มวิชาเลือก (Selected Topics) หัวข้อ “การสื่อสารเพื่อสร้างความร่วมมือและภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล (Collaborative Communication and Effective Leadership)” สำหรับนิสิตปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ เพราะอยากยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ควรจะมี เช่น การเข้าใจตัวเอง การมีพลังในตนเอง (Self-Empowerment) ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ว่าเราคิดไปเองคนเดียวหรือไม่

ฉันไม่เคยสอนนิสิตปริญญาตรีภาคภาษาไทย เด็กๆ จึงไม่รู้จักเลยมาสมัครเรียนกันน้อยแค่ 13 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 30 คน แต่มีนิสิตมาเรียนแบบไม่มีเกรดเพิ่มอีก 2 คน หลังจากการเรียนการสอนผ่านไปแล้วหนึ่งในสามรวมเป็น 15 คน

Advertisement

โครงสร้างของชั้นเรียน
ก่อนจะออกมาเป็นประมวลการสอน (Course Syllabus) ของวิชานี้ ฉันปรึกษากับพี่ๆ เพื่อนๆ หลายคน โครงสร้างหลักๆ ของวิชาได้ความคิดมาจากเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ฉันได้ไปเรียนมาและที่มีคนแนะนำ เช่น วิศวกรรมอุตสาหการคืออะไร, การออกแบบชีวิต (Design your Life), การฟังอย่างลึกซึ้ง, ผู้นำสี่ทิศ, การสื่อสารอย่างสันติ, การตั้งคำถาม, การจับประเด็น, นิเวศภาวนา (Vision Quest), ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama)

ฉันเรียนเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้งและผู้นำสี่ทิศมาหลายรอบแล้ว จึงพอจะสอนเองได้แม้จะเป็นการสอนเองครั้งแรก แต่หัวข้ออื่นๆ ได้เพื่อนๆ พี่ๆ มาช่วยสอน เรียกว่าเป็นการใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งเหมือนสุภาษิตของชาวแอฟริกันจริงๆ ต้องขอบคุณภาควิชาฯ ที่สนับสนุนเรื่องค่าตอบแทนวิทยากร

ช่องทางการสื่อสารและการสะท้อน (Reflections)
ฉันสร้างกลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับทุกๆ ชั้นเรียนที่สอน เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เด็กๆ ใช้ส่งไฟล์ข้อมูลและข้อความกันอยู่แล้ว

Advertisement

วิชานี้ไม่มีการสอบ แต่นิสิตจะต้องทำโครงงานและเขียนสะท้อนส่งเกือบทุกคาบภายในสองสามวัน การเขียนสะท้อนมีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ เป็นการเปิดวงจรการเรียนรู้ของเขา นอกจากการได้ฝึกเขียนและฝึกคิดให้ชัด

ฉันอยากให้นิสิตเก็บการสะท้อนที่ตนเองเขียนเอาไว้หลังจากจบชั้นเรียน และฉันต้องการจะเขียนความคิดเห็นตอบกลับได้ จึงเลือกใช้เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มโดยเด็กๆ จะเขียนสะท้อนเป็นโพสต์หรือบันทึกลงบนเฟซบุ๊กที่จะตั้งค่าสำหรับให้ฉันอ่านได้เพียงคนเดียว หรือจะเปิดให้เพื่อนๆ อ่านแล้วแท็กถึงฉันก็ได้ บางคนก็เขียนแล้วโพสต์มาเป็นรูป ดังนั้น ฉันจึงเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กกับเด็กทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะจะได้เห็นความเป็นไปของพวกเขาในด้านอื่นๆ ด้วยฉันไม่ได้สอนการเขียนสะท้อนแต่เอาการโพสต์ของ คุณหมอพนม เกตุมาน มาให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง

กุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กอยากเขียนสะท้อน คุณหมอพนมบอกว่าคือการที่อาจารย์จะต้องตอบกลับอย่างรวดเร็วเป็นหน่วยวินาที ฉันเช็กกับเด็กแล้ว พวกเขาบอกว่าจริง ฉันจึงรับรู้และชื่นชมสิ่งที่เขาเขียนกลับไปทุกครั้งแต่ถ้ารู้สึกว่าเด็กรีบเขียนเกินไปน่าจะมีประเด็นอื่นๆ อีกฉันก็จะบอกให้เขากลับไปเขียนเพิ่ม

เมื่อเวลาผ่านไป คุณภาพการเขียนสะท้อนดีขึ้นเรื่อยๆ มีรายละเอียดมากขึ้น เช่น จากเดิมที่เขียนแต่เพียงว่า ชอบ/ไม่ชอบ หรือเล่าว่าไปทำอะไรมาบ้าง ช่วงหลังๆ จะมีการใคร่ครวญถึงการเรียนรู้ของตัวเอง ความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ

ออกแบบชีวิต (Design your life)
กระดูกสันหลังชิ้นหนึ่งของชั้นเรียนนี้เป็นกิจกรรมจากหนังสือ Design your life หรือคู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking ฉันให้ทำบางกิจกรรมในห้องพร้อมกัน เช่น เขียนมุมมองชีวิตและการทำงาน (Life view and work view) ซึ่งฉันไม่ได้อ่านที่เด็กเขียน แต่บางอย่างก็ให้เด็กกลับไปทำเอง เช่น บันทึกความรู้สึกดีๆ (Good-time Journal), ภาพสเกตช์ของงานที่อยากทำ (Napkin sketch), แผนที่ความคิด (Mind mapping) ฉันให้เด็กส่งงานทางเฟซบุ๊ก อ่านแล้วตอบกลับสั้นๆ ก่อนจะให้ทำแผนอนาคตของตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้า (Odyssey Plans) เพื่อมาเล่าให้เพื่อนฟัง

การออกนอกสถานที่ ไปพบคนนอกวงจร
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเพราะพี่ณัฐฬสเสนอว่าควรพาเด็กๆ ออกไปเรียนรู้นอกสถานที่บ้าง และฉันเห็นด้วยว่าควรไปพบกับผู้คนที่พวกเขาไม่ได้เจอในสถานการณ์ปกติ เพื่อนๆ เสนอให้ไปติดต่อมูลนิธิอิสรชนที่ทำงานกับคนไร้บ้าน เราจึงได้ไปลงพื้นที่บริเวณคลองหลอด ตอนที่พาเด็กลงพื้นที่เราเรียนวิชานี้ไปแล้วครึ่งเทอม เด็กหลายคนบอกในภายหลังว่ารู้สึกกลัวเมื่อได้ยินว่าจะไปพบคนไร้บ้าน นิสิตหญิงบอกว่า ไม่เคยเจอโสเภณีจริงๆ มาก่อนและรู้สึกประดักประเดิดที่ต้องไปเดินแจกถุงยางอนามัย เกือบทุกคนไม่รู้มาก่อนว่าคนเหล่านี้คือคนไร้บ้าน

“จากการที่ไปเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้สามารถเปลี่ยนมุมมองของหนูกับคนไร้บ้านเหล่านี้ไปมากๆ จากที่เคยกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้ กลายเป็นเห็นใจและอยากเข้าไปช่วยเหลือ นอกจากนี้ มุมมองที่มีระหว่างหญิงขายบริการก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คือ เมื่อก่อนหนูคิดว่าอาชีพนี้คืออาชีพที่คนไม่ดีมาทำ แต่พอได้ฟังพี่ๆ เขาพูดถึง เลยคิดได้ว่ามันเป็นแค่อาชีพอาชีพนึงที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนใคร แถมเขายังมีความรับผิดชอบในตัวเองคือการใส่ถุงยางอีกด้วย

พอกลับมาหนูเล่ามุมมอง และประสบการณ์ในครั้งนี้ให้แม่ฟัง แม่ชื่นชมและฝากมาขอบคุณอาจารย์มากค่ะ ที่ทำให้หนูได้โตขึ้นอีกหนึ่งก้าว”

การสะท้อนความคิดจากนิสิต
วันนั้นแดดร้อน แต่เด็กไม่บ่นเลย ฉันภูมิใจในพวกเขามาก หลังจากลงพื้นที่เสร็จแล้ว เราไปกินข้าวต้มกุ๊ยแถวๆ นั้นกัน

จุฑา พิชิตลำเค็ญ
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image