เขต พระราชวัง ดุสิต : โดย บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำราญพระราชอิริยาบถ ทอดพระเนตรแม่ค้าที่หาบของมาขายภายในพระราชวังดุสิต - ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เขตดุสิต หนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่กว่าสิบตารางกิโลเมตร มีอาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับเขตบางซื่อ มีคลองบางซื่อเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศตะวันออก ติดกับเขตพญาไทและเขตราชเทวี มีทางรถไฟสายเหนือเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศใต้ ติดกับเขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตพระนคร โดยมีคลองมหานาคและคลองผดุงกรุงเกษม เป็นเส้นแบ่งเขต และทิศตะวันตก ติดกับเขตบางพลัด มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต

ที่มาของเขตดุสิตนั้น มีความเป็นมายาวนาน จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสถาปนาสวนดุสิต เป็นพระราชฐานสำหรับการเสด็จประพาส หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการประพาสยุโรปครั้งแรกในปลายปี พ.ศ.2440 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ จัดซื้อที่นาที่สวน จากราษฎรทางตอนเหนือของพระนคร และพัฒนาพื้นที่ ตัดถนน แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ทรงทดลองนำระบบสาธารณูปโภคอย่างใหม่มาใช้ในพื้นที่เพื่อเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และปรากฏนาม สวนดุสิตครั้งแรกในประกาศแจ้งความเรื่องสวนดุสิต ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 15 ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) ตอนหนึ่งว่า …ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ซื้อที่สวนแลนา ในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนด้านตะวันออกจดทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเปนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจะได้ทำเปนที่ประทับ และถนนหนทางที่ประพาสต่อไป… พระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า สวนดุสิต ผู้ใดจะเรียกชื่อที่นี่ ให้เรียกตามชื่อที่พระราชทานไว้…

ในเวลาเดียวกันนั้น เมื่อโปรดเกล้าฯให้จัดระบบการปกครองบ้านเมืองอย่างใหม่ขึ้น ประกาศเป็นพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่สำหรับกรุงเทพฯ โดยนำแบบที่ทดลองจัดตามหัวเมืองมาใช้ นั่นคือ การรวมบ้านหลายหลังเป็นหมู่บ้าน รวมหลายหมู่บ้านเป็นตำบล และรวมหลายตำบลเป็นอำเภอ จึงมีหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2445 ว่า

…บัดนี้ถึงเวลาที่เจ้าพนักงาน จะได้ลงมือเก็บเงินค่านา จำนวนศก 120 ในแขวงอำเภอดุสิต กรุงเทพฯ ณ ที่ว่าการอำเภอนี้…

Advertisement

และพบในแจ้งความกระทรวงนครบาลเรื่องการย้ายนายอำเภอว่า

…2 ย้ายนายผันนายอำเภอดุสิต มาเปนนายอำเภอในพระนคร
3 ย้ายขุนยี่สารภักดี นายอำเภอสามเพ็งไปเปนนายอำเภอดุสิต รับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป…

บรรยากาศความร่มรื่นของพระราชวังดุสิต ในสมัยรัชกาลที่ 5

Advertisement

ขอบเขตทางกายภาพของเขตดุสิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับประวัติศาสตร์การพัฒนาบ้านเมืองของกรุงเทพมหานคร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2451 มีประกาศกระทรวงนครบาล เรื่องรวมอำเภอชั้นใน โดยยกปลัดอำเภอบางซ่มป่อย บางขุนพรหม บางลำพูบน บ้านพานถม สนามกระบือ รวม 5 แห่ง มาสมทบอยู่ที่ว่าการอำเภอดุสิต ริมถนนหลานหลวง และในปี พ.ศ.2458 มีประกาศยกเลิกอำเภอชั้นใน 7 อำเภอ และตั้งอำเภอชั้นในขึ้นใหม่ 25 อำเภอ

โดยมีอำเภอดุสิต เป็นอำเภอหมายเลขที่ 13 ในรายชื่อ พ.ศ.2481 อำเภอบางซื่อซึ่งเป็นอำเภอชั้นนอกทางทิศเหนือ ได้ถูกยุบลงเป็นตำบลมาขึ้นกับอำเภอดุสิต และแยกตำบลสามเสนใน ตำบลมักกะสัน ตำบลทุ่งพญาไท ตำบลถนนเพชรบุรี และตำบลถนนพญาไท ไปรวมกับพื้นที่บางส่วนของอำเภอบางกะปิ เพื่อจัดตั้งเป็นอำเภอพญาไท ในปี พ.ศ.2509

ภายหลังได้มีการรวมจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตและแขวงแทนอำเภอและตำบล อำเภอดุสิตจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีหน่วยการปกครองย่อย 6 แขวง ได้แก่ แขวงดุสิต แขวงวชิรพยาบาล แขวงสวนจิตรลดา แขวงสี่แยกมหานาค แขวงถนนนครไชยศรี และแขวงบางซื่อ

ต่อมา ในพื้นที่เขตดุสิตมีประชากรเพิ่มมากขึ้นและยังมีพื้นที่กว้างขวาง ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานราชการสามารถดูแลได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง กรุงเทพมหานครจึงได้จัดตั้งสำนักงานเขตดุสิต สาขา 1 รับผิดชอบแขวงบางซื่อ และต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทยตั้งเป็นเขตบางซื่อในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 เขตดุสิตในปัจจุบันจึงมีอยู่ 5 แขวง

สำหรับนามสวนดุสิตนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะมีที่มาจากในพื้นที่บริเวณนี้มีวัดเก่านามว่า วัดดุสิต ตั้งอยู่เป็นวัดร้าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ผาติกรรมวัดดุสิต และวัดแหลมหรือวัดเบญจมบพิตรที่อยู่ไม่ไกลกัน สร้างขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่าวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ถนนภายในวังสวนดุสิต มีการทำรางระบายน้ำที่ริมถนนทั้งสองฝั่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับบนรถม้าพระที่นั่ง ขณะผ่านประตูพระราชวังสวนดุสิต – ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
กระบวนรถมอเตอร์คาร์ในพระราชวังดุสิต สมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ.2449

และที่สำคัญ นามดุสิตนั้น มีความหมายอันเป็นมงคลยิ่ง ด้วยเป็นนามของสวรรค์ชั้นที่ 4 ในจำนวน 6 ชั้น สวรรค์ชั้นดุสิต หรือดุสิตานี้ เป็นที่สถิตของเทวดาชาวฟ้า ผู้ปราศจากทุกข์ มีแต่ความยินดีและความแช่มชื่นอยู่เป็นนิตย์ และยังเป็นภูมิที่อยู่ของพระอริยะเจ้า พระโพธิสัตว์ ที่จะบำเพ็ญเพียร และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต ดังเช่นก่อนที่พระพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาประสูติ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้น เคยเป็นเทวบุตรนาม เสตเกตุ บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต และพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งจะทรงตรัสรู้ในอนาคตข้างหน้า สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทวบุตรนาม นาถะ เทวดาที่อยู่ในชั้นดุสิต จึงเป็นเทวดาที่ประเสริฐกว่าชั้นภูมิอื่นๆ มีพระสันดุสิตเทวาธิราช หรือท้าวสันดุสิตเป็นประธาน

คตินี้ จึงเป็นที่มาของนามสถานที่ต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังและพระราชวังต่างๆ เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ศาลาดุสิดาลัย เป็นต้น

สำหรับตราสัญลักษณ์สวนดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ออกแบบตามแนวคิดของไทยเป็น รูปเทวดาและปราสาทราชมณเฑียร และตามแนวตะวันตก โดยการนำอักษร จปร.มาผูกกับภาพวิว แต่พระองค์ไม่โปรด จึงมีพระราชดำริให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมหมื่นสมมติอมรพันธุ์ สืบหาตามคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ได้ความว่า สวรรค์ชั้นดุสิตตามนามวังสวนดุสิตนั้น นอกจากจะเป็นพระนครพิมานอุทยานโบกขรณีแล้ว ยังเป็นที่บังเกิดของผู้บำเพ็ญบารมี พระอริยะ และพระโพธิสัตว์

ซึ่งในที่สุด พระองค์มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานว่า ตกลงเปนรูปพระโพธิสัตว์แล้วได้ ตราสวนดุสิตจึงเป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับนั่งห้อยพระบาทขวาบนบังลังก์ดอกบัว มีเรือนแก้วด้านหลังแทนพระรัศมี

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ขณะก่อสร้างพระอุโบสถ ถ่ายจากด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ – ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ตราประจำสวนดุสิต
งานก่อพระเจดีย์ทราย ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในสมัยรัชกาลที่ 5

ในพื้นที่เขตดุสิต นอกจากเป็นที่ตั้งของเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัมพรสถาน และพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในปัจจุบันแล้ว ในอดีตยังเป็นที่ตั้งวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้พระราชโอรส และพระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์มากมาย อาทิ

วังศุโขทัย ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา หรือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดิน และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานค่าก่อสร้าง เป็นของขวัญในการอภิเษกสมรส จึงเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนพระองค์มาแต่เดิม ต่อมาได้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทย จึงมาประทับที่วังศุโขทัยอีกครั้งจนกระทั่งเสด็จสวรรคต ปัจจุบันเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์

วังปารุสกวัน ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประกอบด้วย พระตำหนักสวนจิตรลดา ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และพระตำหนักสวนปารุสกวัน ปัจจุบันพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนพระตำหนักสวนปารุสกวัน เป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

วังสวนกุหลาบ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ต่อมากลายเป็นที่ทำการของรัฐบาล กรมสวัสดิการทหารบก ปัจจุบันเป็นที่ประทับทรงงานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

วังลดาวัลย์ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชาปดิวรัดา หลัง พ.ศ.2475 ตกเป็นที่ทำการของรัฐบาลอยู่ระยะหนึ่งจนถึง พ.ศ.2488 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

วังนางเลิ้ง ของสมเด็จฯ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ต่อมาเป็นโรงเรียนพาณิชยการพระนคร ปัจจุบันคือ คณะบริหารธุรกิจและคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

วังรพีพัฒน์ ของสมเด็จฯ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ต่อมาเป็นโรงเรียนรพีพัฒน์อยู่ระยะหนึ่ง และกลายเป็นโรงงานทำร่มของกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์

วังจันทรเกษม ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เริ่มสร้าง พ.ศ.2453 ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนพรานหลวง กรมมหรสพ และสถานพยาบาลสำหรับข้าราชบริพาร หลัง พ.ศ.2475 เป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน จนกระทั่งปี พ.ศ.2483 กระทรวงธรรมการย้ายมาแทน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกระทรวงศึกษาธิการ

วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี ต่อมาทายาทรื้อถอนลง สร้างเป็นอาคารพาณิชย์ และตลาดประวิตร

วังพายัพ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกสร ภายหลังตกเป็นของกรมพระคลังข้างที่ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการไฟฟ้านครหลวง สาขาสามเสน

วังถนนขาว ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่สวนดุสิต และตัดถนนขาว จึงเรียกว่าวังถนนขาว ภายหลังทายาทใช้วังนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ อยู่ระยะหนึ่ง จนย้ายไปทางฝั่งธนบุรี ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของทายาทราชสกุลเกษมศรี

รวมทั้ง วังสวนนอก ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในหลายพระองค์ทรงย้ายที่ประทับออกจากสวนสุนันทาไปยังสวนนอก ที่ดินริมคลองสามเสน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ให้เจ้าจอมมารดาและพระราชธิดาหลายพระองค์ ตั้งพระตำหนักอยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของพระราชวังดุสิต ใกล้คลองสามเสน อย่างเช่น

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 บริเวณอำเภอดุสิต

บริเวณถนนสุโขทัยตัดกับคลองสามเสน มีตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค ปัจจุบันคือสถานีตำรวจนครบาลดุสิต วังวาริชเวสม์ ของพระองค์เจ้าวาปีบุษกร ปัจจุบันเป็นที่ทำการของบริษัทเอกชน

บริเวณถนนสุโขทัยเชื่อมต่อกับถนนพิชัย มีตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา ปัจจุบันเป็นอาคารในที่ทำการพรรคชาติไทย ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาอลังการ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนพันธะวัฒนา วังสวนปาริฉัตก์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และบริเวณถนนราชวิถี มีตำหนักทิพย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา

และวังสวนสุนันทา พระตำหนักที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image