‘มติชน’สู่ปีที่ 42 ส่งเสริม‘ประชาธิปไตย’

ปฐมบทมติชน

วันที่ 9 มกราคม 2562 หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 42 แล้ว

หนังสือพิมพ์มติชนออกจำหน่ายฉบับแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521 หลังจากได้รับอนุญาตจาก พล.อ.
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ให้ออกหนังสือพิมพ์ได้

ความจริงก่อนหน้านั้น นายขรรค์ชัย บุนปาน เคยออกหนังสือพิมพ์ชื่อ “ประชาชาติ” มาแล้ว

Advertisement

เมื่อปี 2517 นายขรรคชัย พร้อมด้วยนักหนังสือพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งได้รับประทานหัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายสัปดาห์ จาก พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

ตามบันทึกระบุว่า “พระองค์วรรณ” ประทานหัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ให้พร้อมทั้งมีข้อความกำกับ

ความว่า …

“เมื่อนายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า ใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายสัปดาห์

ข้าพเจ้าก็มีความยินดีและอนุโมทนา โดยชี้แจงให้ทราบว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น
ระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 แล้ว ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจหลักประชาธิปไตย ที่ว่า รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย

ข้าพเจ้าจึงได้จัดการออกหนังสือรายวันให้ชื่อว่า ‘ประชาชาติ’ โดยมีคำขวัญ ‘บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิต วิทยาคม อุดมสันติสุข’

แม้ในสมัยปัจจุบันก็ยังมีความจำเป็นที่จะให้คำชี้แจงในเรื่องหลักประชาธิปไตย หรือจะว่ามีความจำเป็นยิ่งขึ้นเสียอีกก็ได้

ข้าพเจ้าจึงเต็มใจอำนวยพรให้หนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายสัปดาห์ ประสบความเจริญ รุ่งเรือง เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติสืบไป

บัดนี้ นายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า ใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายวัน ข้าพเจ้าก็มีความปีติยินดี และอนุโมทนาในความเจริญก้าวหน้านี้เป็นที่ยิ่ง

ด้วยอานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย ข้าพเจ้าขอให้หนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายวัน ประสบผลสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรืองในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยตลอดไปเทอญ

(ลงพระนาม) นราธิป”

แต่เมื่อนายขรรค์ชัยพร้อมคณะออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติไปจนถึงปี 2519 คณะปฏิวัติก็สั่งปิดหนังสือพิมพ์

กระทั่งปี 2521 สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ นายขรรค์ชัยได้ขอหัวหนังสือพิมพ์ “มติชน” และออกจำหน่ายวันที่ 9 มกราคม 2521

ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์

จากวันนั้นถึงวันนี้ หนังสือพิมพ์มติชนได้นำเสนอข่าวอย่างซื่อสัตย์ ยึดเอาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ตามที่ “พระองค์วรรณ” เขียนลงในบันทึก

นั่นคือการส่งเสริมประชาธิปไตย

ฝ่ามรสุม’อำนาจปืน’

หากแต่การนำเสนอข่าวสารทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีความเสี่ยงต่อการถูกทำลายล้างทั้งจาก “อำนาจเงิน” และ “อำนาจปืน”

หลังปี 2524 สถานการณ์การขับเคี่ยวยื้อแย่งอำนาจในกองทัพและรัฐบาลดำเนินไปอย่างดุเดือด การนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของความขัดแย้ง ทำให้ถูกเข้าใจผิด

คู่ขัดแย้งคิดว่าหนังสือพิมพ์เป็นศัตรู

บึ้ม !

เสียงกัมปนาทของระเบิดดังขึ้นที่สำนักงานมติชน วัดราชบพิธ เสียงระเบิดครั้งนั้นไม่ได้ต้องการขู่ขวัญ หากแต่ต้องการเอาชีวิต

อันตรายที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกคนในมติชนตระหนักว่าการนำเสนอข่าวต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสจึงย้ำเตือนนักหนังสือพิมพ์รุ่นน้อง ให้ยึดถือวิชาชีพโดยสุจริต เพื่อเป็นเกราะคุ้มภัย การนำเสนอข่าวสารต้องให้โอกาสทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจง

คนมติชนถูกอบรมให้อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่รับผลประโยชน์ ยืนอยู่เหนือความขัดแย้ง

ต่อมา มติชนย้ายสำนักงานจากวัดราชบพิธมายังอาคารเลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล ประชานิเวศน์ 1 เขตจตุจักร กทม. ซึ่งเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน

ปี 2534 บริษัทมติชน ต้อนรับหนังสือพิมพ์รายวันฉบับใหม่ ชื่อ หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ในปีนั้น สถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ยุครัฐประหารอีกครั้ง

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หนังสือพิมพ์ถูกจับจ้องจากผู้มีอำนาจในฐานะคู่ต่อสู้อีกครั้ง ขณะนั้นมีคำสั่งห้ามนำหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเข้าไปในเขตทหาร และมีข่าวว่า คณะรัฐประหารเตรียมปิดหนังสือพิมพ์บางฉบับ แต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น การปิดหนังสือพิมพ์จึงไม่เกิดขึ้น

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดายอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลายคนคิดว่า หนังสือพิมพ์จะปลอดพ้นจากการคุกคาม แต่…..

บึ้ม!

ปี 2542 คนร้ายขว้างระเบิดเข้าใส่อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เหตุเพราะช่วงนั้นผู้ติดตามนักการเมืองบางคนฮึกเหิม หนังสือพิมพ์บางฉบับถูกกลุ่มชายฉกรรจ์จู่โจมเข้าไปรังควานถึงกองบรรณาธิการ ส่วนหนังสือพิมพ์ข่าวสด ถูกมือมืดขว้างระเบิดเข้าใส่

ปีรุ่งขึ้น ระเบิดจากอิทธิพลมืดขว้างเข้าใส่บ้านพัก สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด แรงระเบิดทำให้รถยนต์และตัวบ้านเสียหาย สาเหตุมาจากการเสนอข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในวงการตำรวจ

ทุกครั้งที่เหตุร้ายเกิดกับคนในชายคามติชน สาเหตุประการเดียวที่พบ คือ การทำงาน

ผจญคดีฟ้องร้อง-ซาบซึ้งสังคม

ปี 2540-2544 สถิติการฟ้องร้องหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์ในเครือพุ่งสูงผิดสังเกต มีผู้แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทนับร้อยคดี

ข่าวขุดคุ้ยทุจริตคอร์รัปชั่นหลายชิ้นต้องหยุดชะงัก การทำหน้าที่ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ติดขัด เนื่องจากสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เพิ่มโทษจำคุกในความผิดหมิ่นประมาท และผู้ฟ้องสามารถเรียกค่าเสียหายได้

บทบัญญัติดังกล่าวทำให้บางคนใช้เป็นเครื่องมือปิดปากหนังสือพิมพ์

ปี 2548 เป็นปีที่ชาวมติชนทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจจากสังคมไทย เมื่อเครือมติชน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ จู่ๆ ผู้บริหารของมติชนก็ได้รับแจ้งข่าวอันน่าตื่นตระหนก

บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ดำเนินการซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จากผู้ถือหุ้นเดิมชาวต่างประเทศบางราย จนถึงขั้นสามารถประกาศทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ได้

การประกาศทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ คล้ายกับการประกาศฮุบกิจการ!

การทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ที่ทุนนิยมถือเป็นวิธีการปกติในระบบ แท้จริงแล้วคือการแอบซื้อหุ้นโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ครั้งนั้น ประชาชนก่อตัวขึ้นมายืนเป็นเพื่อนมติชน ขบวนการต่อสู้ผนึกรวมกันได้ไม่กี่วันต่อมา บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ประกาศยอมขายหุ้นคืน ทำให้เครือมติชนกลับสู่เจ้าของเดิม

น้ำใจที่มีให้ในวันนั้น ยังตอกย้ำให้มติชนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ต่อสังคมไทยต่อไป

ยืนหยัดท้าพิสูจน์คำป้ายสี

ปี 2553 การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเคลื่อนจากต่างจังหวัดมารวมกันในกรุงเทพฯ การชุมนุมยกระดับขึ้น จนรัฐบาลสั่งทหารเคลื่อนกำลัง

ท่ามกลางสถานการณ์ล่อแหลม

เครือมติชน ออกบทนำร่วมในนามเครือมติชน ชื่อ “หยุดฆ่าทันที” ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนทุกฉบับ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 เตือนสติผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เลิกล้มความคิดทำร้ายกัน

บทนำเครือมติชน : หยุดฆ่าทันที
18 พฤษภาคม 2553

จากเหตุรุนแรงซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนออนไลน์ ทั้งเครือข่าย ได้ร่วมกันกำหนดท่าทีว่า เราไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาดต่อความรุนแรงทั้งปวงที่เกิดขึ้น

1.เราเห็นว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไม่สามารถเป็นหลักที่จะช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า แม้จะรู้ว่าการรุกคืบต่อไปของรัฐบาลจะต้องเผชิญกับหนทางซึ่งไร้ทางออก ก็ยังแข็งขืนดำเนินการต่อไป ประกอบกับการตัดสินใจทั้งของรัฐบาล และแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม คับแคบ อยู่ในแวดวงไม่กี่คน และเชื่อแต่ในประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนเอง ได้นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงเช่นที่ปรากฏ

2.ขณะเดียวกัน น่าเสียใจที่กลไกทุกกลไกในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอง พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน วุฒิสภา องค์กรอิสระ ฯลฯ ที่ไม่เคยแสดงปัญญาความคิดเป็นบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นเวลานาน กลายเป็นการสะสมความเกลียดชังไปในทุกส่วน แทนที่จะเป็นกลไกในการแก้ปัญหากลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง และยังสร้างเงื่อนไขขยายปัญหาออกไปเรื่อยๆ จนไม่อาจหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาปรองดองได้ในที่สุด

3.สภาพดังกล่าวนำไปสู่การสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิต มีผู้ได้รับบาดเจ็บ พิการ ซึ่งล้วนแต่เป็นลูกหลานไทยทั้งสิ้น นอกเหนือไปจากการสูญเสียทรัพย์สิน สภาวะเศรษฐกิจที่เสื่อมทรุด ซึ่งทำให้จิตใจของสังคมต่ำทรามไร้ศีลธรรมลง

4.เราจึงขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นและจริงจังให้ทุกฝ่ายซึ่งกำลังขัดแย้งกันอยู่ขณะนี้ ยุติการเข่นฆ่ากันในทันที เลิกมิจฉาทิฐิ ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ และเร่งเจรจากันอย่างเสมอภาค จริงจังและจริงใจ โดยรัฐบาลจะต้องหยุดปฏิบัติการรุนแรงซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย พร้อมๆ กับฝ่ายประท้วงต้องยุติการชุมนุม เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศสูญเสียวุฒิภาวะแห่งความเป็นอารยะที่สามารถรังสรรค์สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยสติปัญญาความคิดซึ่งเคยรักษาบ้านเมืองมายาวนานไปสิ้น

หยุดฆ่ากันทันที

แต่ความพยายามครั้งนั้นถูกบิดเบือนป้ายสี กลายเป็นการยั่วยุให้ฝ่ายรัฐบาลเร่งดำเนินการ

19 พฤษภาคม 2553 เหตุวิปโยคเกิด กองกำลังทหารรับคำสั่งให้เคลื่อนเข้ากระชับพื้นที่ กดดันกลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัว มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

เครือมติชนยืนหยัดในเจตนารมณ์เดิม ยืนหยัดอยู่เคียงข้างคนส่วนใหญ่ สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปฏิเสธอำนาจมืดที่สอดแทรกบิดเบือนความเป็นจริง

การยืนหยัดของเครือมติชนก่อให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มผลประโยชน์ พยายามใส่ร้ายป้ายสี ให้เกิดความเกลียดชัง รณรงค์ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ยุยงไม่ให้ลงโฆษณา กีดขวางรถขนส่งหนังสือ ปลุกระดมใน
โซเชียลเน็ตเวิร์ก ฉวยโอกาสใช้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นเวทีทำลายหนังสือพิมพ์

กล่าวหาคนมติชน หนังสือพิมพ์มติชน และข่าวสด

แม้แต่สภาวิชาชีพยังร่วมกล่าวหาจนกระทั่ง ปี 2554 มติชนได้ถอนตัวออกมาอยู่โดยลำพัง
ยืนยันให้ประเทศไทยมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย

วอนให้เห็นแก่ส่วนรวม

ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทุกทิศทางมีแต่ความมืดมิด

หนังสือพิมพ์มติชนและเครือยังคงถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างต่อเนื่อง แต่มติชนก็ยังคงนำเสนอข่าวสารต่อไปตามวิชาชีพ

การเมืองที่เกิดความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง

กระแสต่อต้านดังกล่าวได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรง จนกระทั่งเกรงว่าหากปล่อยให้มีการผลักดันกฎหมายดังกล่าวต่อไปความรุนแรงจะเกิดตามมา

วันที่ 31 ตุลาคม 2556 มติชนได้ออกหมายเหตุอีกครั้งเพื่อทัดทานมิให้รัฐบาลดื้อดึง

ขอให้หยุดเพื่อส่วนรวม

หมายเหตุมติชน : หยุดเพื่อส่วนรวม

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … หรือเรียกย่อๆ ว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เดิมมีหลักการตามที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และพวกเสนอ คือให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อที่กระทำความผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยหลักการดังกล่าวมีการตอกย้ำหลายครั้ง ทั้งที่เป็นมติของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เป็นคำอภิปรายในการพิจารณาวาระ 1 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

แต่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในมาตรา 3 ขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงผู้สั่งการ และแกนนำการชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ที่เรียกกันว่า “สุดซอย” หรือ “เหมาเข่ง” ซึ่งอาจมีแกนนำพรรคได้รับประโยชน์ด้วยและแตกต่างจากเนื้อหาเดิมที่เสนอต่อสภา จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ข้อเสนอที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเบื้องแรก คือนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน ไม่รวมผู้สั่งการและแกนนำ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการนิรโทษกรรมผู้สั่งการและแกนนำด้วย สังคมและสาธารณชน ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้เตรียมความคิดมาก่อน ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ จึงเกิดปฏิกิริยาและคำถาม ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งควรจะเป็นร่างกฎหมายที่นำไปสู่ความปรองดอง กลับกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุการณ์ตึงเครียด กระทั่งน่าหวาดวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำรอยเดิม

“มติชน” มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดจากความเห็นต่าง และผลกระทบ ที่จะเกิดจากร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งกระบวนการยุติธรรมกำลังทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง บางคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน บางคดีอยู่ในชั้นอัยการ และบางคดีกำลังเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ผลการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแต่ละคดีจะออกมาเช่นไรย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ไม่ควร
ตีตนไปก่อนไข้หรือคาดการณ์ในเชิงลบ เพื่อใช้เป็นข้ออ้าง ปฏิเสธกระบวนการนี้

สังคมไทยผ่านความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาการฟื้นฟูความบอบช้ำ เสียหายในด้านต่างๆ ไม่ใช่เวลาที่จะมาสร้างเงื่อนไข ผลักมิตรเป็นศัตรู เพิ่มบรรยากาศของความเป็นปฏิปักษ์

“มติชน” จึงขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลในฐานะพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทบทวน ยุติ ระงับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในแนวทางที่เป็นปัญหานี้ทันที และกลับคืนสู่แนวทางอันเป็นที่ยอมรับ หรือแนวทางที่สภารับหลักการในวาระที่ 1 โดยคำนึงถึงเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น และยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแท้จริงในการสร้างสังคมไทยให้กลับคืนสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง

แต่ก็เป็นเหมือนเช่นเดิม เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับฟัง ในที่สุดความขัดแย้งได้ขยายตัว กระทั่งรัฐบาลอยู่ไม่ได้ สถานการณ์บานปลายไม่หยุด

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. นำคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจ

ประชาชนหมดอำนาจลงไปในทันที

มติชนสู่ปีที่ 42

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์ของสื่อมวลชนไทยทั้งหมดตกอยู่ในสภาพตั้งรับ เมื่อเทคโนโลยียุค 4G เข้ามามีบทบาท

ประเทศไทยมีประชาชนที่นิยมใช้แท็บเล็ตเพิ่มจำนวน โลกโซเชียลขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้อ่านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากการติดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์

กลับกลายเป็นการติดตามเนื้อหาข่าวสารทางโลกโซเชียล

หนังสือพิมพ์มติชนเป็นสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบมากไม่แพ้สื่อมวลชนแขนงอื่น

หลังจากปี 2557 เป็นต้นมา บริษัท มติชนจำกัด มีผลประกอบการติดลบ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมติชน ฝ่ายบริหารได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการบริหาร นำเอาเทคโนโลยีมาเสริม

เปลี่ยนจากการผลิตหนังสือ หนังสือพิมพ์อย่างเดียว ให้เป็นการนำเสนอข่าวสารทางโลกออนไลน์ด้วย

หนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นสื่อในเครือที่ใช้ออนไลน์ประสบความสำเร็จด้วยการบุกเบิกนำเสนอข่าวสารทางเฟซบุ๊ก ตามมาด้วยหนังสือพิมพ์มติชน

มติชนใช้เวลา 3 ปีในการปรับเปลี่ยน ขยายงาน matichon.co.th กระทั่งยอดผู้ชมประมาณ 3 แสน UIP ต่อวัน มี Facebook matichon มี Youtube matichon มี IG มติชน มี Twitter matichon และอื่นๆ

ล่าสุดมติชนได้เปิด Line add เพื่อนำเสนอข่าวสารไปถึงผู้อ่านให้ตรงใจที่สุด

การดำเนินการดังกล่าวของเครือมติชน ทำให้ผลประกอบการเริ่มคืนกลับมาเป็นบวก

แต่สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วยังคงให้โจทย์ยากแก่สื่อมวลชนรวมทั้ง
มติชนอย่างต่อเนื่อง

ณ วันนี้ ปี 2562 หนังสือพิมพ์มติชนเข้าสู่ปีที่ 42 ในวันที่ 9 มกราคม การต่อสู้กับปรากฏการณ์
ดิสรัปต์ (Disrupt) ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามติชนจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤตใด ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนแปลงผกผันไปมากน้อยเพียงใด

แต่สิ่งที่มติชนและคนมติชนยังคงยึดมั่น คือคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อครั้งได้หัวหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ”

นั่นคือ การทำให้ประชาชนเข้าใจหลักประชาธิปไตย

ทำให้ประชาชนรู้ว่า รัฐบาลต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

เพราะประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image