โดนัลด์ ทรัมป์ กินยาผิด เหตุเกิดคริสต์มาส : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

“แบล๊กคริสต์มาส” มิใช่ภาพยนตร์ หากเป็นเรื่องจริงในสหรัฐที่เปี่ยมด้วยบรรยากาศอึมครึมและภาวะนิ่งงัน อันเกิดจากตลาดหุ้นดิ่งลงกราวรูด รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามอุปถัมภ์ค้ำจุน แต่ไม่สำเร็จ กลับเป็นเหตุให้นักลงทุนตื่นตระหนกเสียขวัญ

เหตุเกิดตั้งแต่ก่อนวันคริสต์มาสอย่างต่อเนื่องถึงหลังคริสต์มาส

เฉพาะเดือนธันวาคม ดัชนีหุ้นตกไปเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นความระทึก

ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ตลอดจนเหตุการณ์ปิดทำการของหน่วยงานราชการส่วนหนึ่ง (ชัตดาวน์) เป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน

Advertisement

แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตำหนิปฏิบัติการของธนาคารกลางสหรัฐว่า ใช้กลวิธีแยบยลและวาทกรรมแทรกแซงตลาด ทำให้นักลงทุนไม่เข้าใจถึงสาเหตุอันแท้จริง

จึงเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ยิ่งค้ำก็ยิ่งตก

ต้องยอมรับว่าระยะนี้ ทำเนียบขาวประสบกับปัญหามากมาย เป็นต้นว่า นายเจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมพ้นจากตำแหน่ง ปัญหานายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ จะอยู่หรือจะไป เป็นแรงสั่นสะเทือนที่ไม่ต่างไปจากแผ่นดินไหว จึงมากด้วยปัญหา

Advertisement

ในสายตาของทรัมป์ การขึ้นลงของตลาดหุ้นก็คือ ใบรายงานผลของการบริหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ จะมีมาตรการขวานผ่าซากตามนิสัยของเขาออกมาหรือไม่ เป็นเรื่องน่าจับตา

ทรัมป์นิยมประเมินผลงานของตนด้วยการขึ้นลงของตลาดหุ้น ตลอดจนการแพ้หรือชนะแห่งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

ทว่าผลงานของเขาตลอดปี 2018 ได้หายไปหมดสิ้นในเดือนธันวาคม

ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม หุ้นตกฮวบ ลุกลามถึงวันคริสต์มาส สินเชื่อวิสาหกิจไม่เอื้อประโยชน์ การลงทุนประเภทพันธบัตรตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี

สาเหตุที่หุ้นสหรัฐตกต่ำก็เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว นักลงทุนกังวลข่าวลือการจะปลดนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หน่วยงานรัฐบาลกลางส่วนหนึ่ง “ชัตดาวน์” ตลอดจนการค้ำจุนตลาดหุ้นของทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ เพิ่มความกังวลของตลาดที่มีอยู่แล้วยิ่งมีมากขึ้น ท่ามกลางภาวะหุ้นตกต่ำ อันถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของทรัมป์ จึงพยายามหามาตรการแก้ไขเพื่อคลายปัญหา แต่การแก้ปัญหาของเขาละม้ายกับการใช้ยาผิดโรค

เป็นเวลาแรมเดือนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประณามธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่า “เจตนาปรับขึ้นดอกเบี้ย” และแล้วก็ไม่เกินความคาดหมายคือปรับขึ้น 0.25 เปอร์เซ็นต์

มีข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สอบถามที่ปรึกษาว่า สามารถปลด “พาวเวลล์” ได้หรือไม่

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ถึงกับ “ของขึ้น” เพราะเขายืนยันว่า “เป็นคำพูดที่ออกจากปากของทรัมป์เองว่า แม้ไม่พอใจกับการปรับดอกเบี้ย แต่ก็ไม่มีเจตนาปลดคน”

แต่ก่อนวันคริสต์มาส หุ้นตกกราวรูด ทรัมป์ตำหนิว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจวันนี้ ก็เพราะ “เฟด” คือตัวปัญหา โดยกล่าวหาว่า ความรู้ละอ่อน ไม่เข้าใจประเด็นปัญหาสงครามการค้า และผลกระทบจากการ “ชัตดาวน์” และพรรณนาว่า “เฟด” เสมือนนักกอล์ฟที่มีพลังแต่ไม่สามารถทำ “สกอร์” ได้ ทั้งนี้ เพราะพวกเขาไม่มีพรสวรรค์ จึงไม่สามารถ “พัตลูกลงหลุม”

ล่าสุดมีข่าวว่า แม้ทรัมป์จะเข้าใจว่าเป็นการยากที่จะปลดนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลาง แต่เขาก็ยังพยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย เพื่อหาทางที่จะทำการปลด

ย้อนมองอดีต หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 สหรัฐเพื่อต้องการพลิกฟื้นคืนชีพ “เฟด” จึงใช้นโยบายทางการเงินที่เรียกว่า “Quantitative Easing” (QE) ซึ่งเป็นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ โดยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแล้วใส่เข้าไปในระบบหลายรอบ จนเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงตามมา คือนักลงทุน “เสพติด” มาตรการกระแสเงินตรา

จึงกลายเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดปัญหาครั้งนี้

ฉะนั้น “พาวเวลล์” จึงอธิบายว่า เป้าหมายของนโยบายกระแสเงินตรา มิใช่เพื่อค้ำจุนตลาดหุ้น

วันนี้ “ฟุตเวิร์ก” การแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังอยู่ในจังหวะ “สโลว์” วอลสตรีตได้มีเสียงนกเสียงกาเรียกร้องให้ยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว แต่นักลงทุนก็ไม่อยากเห็นการตัดสินใจที่ชั่วร้ายของทรัมป์โดยการปลด “เจอโรม พาวเวลล์” ออกจากตำแหน่งประธานธนาคารกลาง

ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เป็นองค์กรอิสระ ถือเป็นฐานรากที่มั่นคงของระบบการเงินการคลังสหรัฐ ตลาดให้ความเชื่อถือ การพิจารณาตัดสินใจการลงทุนจะอิงการเมืองมิได้เป็นอันขาด ประเด็นที่นักลงทุนกลัวที่สุดคือ “เฟด” ยอมก้มหัวให้กับการเมือง ไม่สามารถธำรงไว้ซึ่งบทบาทความเป็นอิสระ และกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

ถ้าวันนี้ “พาวเวลล์” ถูกทรัมป์ปลดออก ความเชื่อถือของ “เฟด” ก็จะหมดไปโดยพลัน

ตลาดหุ้นบูม ทรัมป์ถือเป็นต้นทุนทางการเมือง ทำเนียบขาวจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ตลาดหุ้นพลิกฟื้นยืนตน มิเพียงไม่ได้ผล กลับเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุน

ไม่ว่านายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง จะประชุมกับซีอีโอธนาคารและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทำประชาสัมพันธ์ในการส่งสัญญาณแก่นักลงทุนว่า ภาวการณ์ตลาดหุ้นไม่มีปัญหา สภาพคล่องของธนาคารมั่นคง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เพราะว่าความเข้าใจของนักลงทุนเป็นไปในทางตรงกันข้าม

อีกทั้งกระทรวงการคลังได้ออกแถลงการณ์ตามหลังว่า “ธนาคารมิได้ยื่นหลักฐาน clearing bank และเงินประกัน”

นี่คือปัญหาใหญ่ เพราะไม่สอดคล้องกับคำยืนยันของ “มนูชิน”

“มนูชิน” เป็นอดีตนายธนาคาร โลดแล่นอยู่ที่วอลสตรีตเป็นเวลาหลายปี แต่การส่งสัญญาณการประเมินผลผิดพลาด ไม่ได้ผลกลับทำให้สถานการณ์ปั่นป่วนมากขึ้น

ความผิดพลาดของ “มนูชิน” ในครั้งนี้ สังคมเข้าใจเป็นอื่นมิได้ นอกจากศึกภายในของรัฐบาลทรัมป์ สถานการณ์เลวร้ายอยู่แล้วจึงทำให้เลวร้ายมากขึ้น

ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่ง 2 ปี เดินสวนกระแสมาโดยตลอด เวลาที่เหลืออยู่มีไม่มาก เขาจะอยู่อย่างไร เพราะมีปัญหาทั้งนอกและใน

นอกคือ ความคลุมเครือเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วมีมากขึ้น สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

ในคือ ทรัมป์กดดันให้พรรคเดโมแครตผ่านงบประมาณสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนสหรัฐกับเม็กซิโก โดยไม่คำนึงถึงการ “ชัตดาวน์” ของหน่วยงานราชการส่วนหนึ่ง

ประเด็นคือ พรรคเดโมแครตไม่ผ่านงบสร้างกำแพง ทรัมป์ก็ตอบโต้ด้วยการไม่ลงนามในร่างการจัดสรรงบประมาณ เป็นเหตุให้เงินสนับสนุนต่อหน่วยงานภาครัฐถูกระงับชั่วคราว หากเหตุการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อต่อไปจะเป็นโทษต่ออเมริกันชนแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยากที่จะเอาชนะเดโมแครตได้ เพราะว่าเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ได้เปรียบในทุกประเด็นอันเกี่ยวกับการออกกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่นายเจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พ้นจากตำแหน่ง เพราะมีความเห็นขัดแย้งกับทรัมป์อย่างรุนแรงในประเด็นการถอนทหารออกจากซีเรีย

กลายเป็นประเด็นการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของวอชิงตัน

บัดนี้ ทำเนียบขาวได้ตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย สับสนวุ่นวาย สะเทือนถึงคนทั่วประเทศ

ความกังวลที่สถิตอยู่ในดวงหทัยของอเมริกันชนขณะนี้ไม่ต่างไปจากความกังวลของคนอังกฤษในประเด็นปัญหา “Brexit” เป็นความระทึกในดวงหทัยโดยพลัน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image