ประเทศไทยไม่ใช่คองโก?: ปีศาจวิทยาแห่งการเลื่อนเลือกตั้ง : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ข่าวการเลื่อนเลือกตั้งของประเทศไทยรอบล่าสุดถือว่าเป็นการเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ดูจะจริงจังและเป็นทางการครั้งที่ห้า

โดยระบอบยืมอำนาจ (โดยไม่ต้องยึดมารยาทเป๊ะ) ได้เลื่อนเลือกตั้งมาแล้วสี่ครั้ง และลีลาสำคัญในการเลื่อนเลือกตั้งนั้นมักจะอิงกับโรดแมป แต่โรดแมปนั้นก็มีมาหลายโรดแมป และในช่วงแรกๆ โรดแมปนั้นเป็นโรดแมปแบบไม่กำหนดเงื่อนเวลาชัดเจน บอกแต่ว่าจะต้องประกอบด้วยขั้นตอนอะไรบ้าง

โรดแมปที่มีเงื่อนเวลาชัดเจนเริ่มมีขึ้นในช่วงหลัง ด้วยติดที่เงื่อนไขของการประกาศใช้กฎหมายต่างๆ ที่จะต้องประกอบเข้าไปในกระบวนการเลือกตั้ง แต่กระนั้นก็ตามก็ยังมีขยายเวลาการงดกิจกรรมทางการเมือง อาทิ พรรคใหญ่เริ่มกิจกรรมการเมืองช้ากว่าพรรคเล็ก เป็นต้น

ส่วนเงื่อนไขล่าสุดคือความกังวลในเรื่องของกรอบเวลาที่จะไปซ้อนกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการหากรอบเวลาที่เหมาะสมลงตัว

Advertisement

จากที่สำนักข่าว The Standard ได้ทำการรวบรวมจะพบว่าการเลือกตั้งถูกเลื่อนอย่างเป็นทางการมาสี่ครั้ง

1.วางไว้ว่าจะเกิดปลายปี 2558 (พูดกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น) เลื่อนไปเพราะร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์บวรศักดิ์ถูกคว่ำ ต้องร่างกันใหม่

2.วางไว้ว่ากลางปี 2560 (พูดกับเลขาสหประชาชาติ) เลื่อนไปเป็นปลายปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัยมีเงื่อนไขของการร่างกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับ

Advertisement

3.วางไว้ว่าปลายปี 2560 เลื่อนไปเป็นปลายปี 2561 เลื่อนต่อด้วยเงื่อนไขการร่างกฎหมายลูกที่ชัดเจนขึ้นจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 6 เมษายน 2560

4.วางไว้ว่าปลายปี 2561 คือสักพฤศจิกายน ก็เลื่อนเป็นกุมภาพันธ์ 2562 ด้วยเงื่อนไขการที่ สนช.ลงมติขยายเวลาบังคับกฎหมายการเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน

(ที่มา https://thestandard.co/4-years-election-postponed-4-times/)

แม้ว่าการรัฐประหารและการเลือกตั้งหลังรัฐประหารจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่การเลื่อนเลือกตั้งอย่างเป็นระบบและเป็นทางการที่หลายครั้งหลายคราเช่นนี้ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ที่สำคัญการเลือกตั้งที่ถูกขยายเวลายาวนานจนเกินธรรมเนียมของการยึดอำนาจในช่วงหลังที่ไม่เกินปีกว่าๆ นี้ (มีที่ยาวกว่าก็คือระบอบจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสเท่านั้นเอง) ก็ยิ่งนำไปสู่ความสงสัยและการลดทอนลงของความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในปัจจุบัน

มิพักต้องกล่าวถึงเรื่องของการที่รัฐบาลปัจจุบันอยู่ในเงื่อนไขพิเศษของการใช้อำนาจ โดยไม่ต้องอยู่ในสถานะรักษาการ อีกทั้งยังมีพรรคการเมืองใหม่ที่ถูกจัดตั้งและดำเนินงานโดยคนของรัฐบาลเข้าไปอีก โดยที่กิจกรรมหาเสียงที่เป็นทางการของพรรคอื่นและการประกาศตัวผู้สมัครก็ยังเกิดไม่ได้

สิ่งที่น่าหวาดกลัวจากบทเรียนของเมืองอื่นๆ ก็คือ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกา ที่เกิดการเลื่อนเลือกตั้งอย่างค้านสายตาและความรู้สึกของคนในประเทศมาถึงสองปี และการเลือกตั้งเองก็เต็มไปด้วยความคลางแคลงสงสัยดังที่จะขอเล่าสู่กันฟังดังนี้

สป.คองโกมีประชากรแปดสิบล้านคนโดยประมาณ และมีขนาดเท่าๆ กับยุโรปฝั่งตะวันออก นับตั้งแต่ได้เอกราชจากเบลเยียมเมื่อทศวรรษที่ 2500 ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสงบ รวมทั้งการเลือกตั้งสองครั้งสุดท้ายในปี 2549 และ 2554 ก็ตามมาด้วยการประท้วงที่รุนแรงเสียเลือดเนื้อและผลการเลือกตั้งที่ค้านสายตาของประชาชนและนานาชาติ

สป.คองโกจัดการเลือกตั้งจนได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (30 ธันวาคม 2561) โดยสาระสำคัญหลักก็คือ การหาทายาททางอำนาจต่อจากประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิล่า (Joseph Kabila) ซึ่งหมดอำนาจลงตามรัฐธรรมนูญเมื่อสองปีก่อน และก็เป็นประธานาธิบดีที่เต็มไปด้วยเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นและการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน ตามที่ข่าวว่ากัน

โดยตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ คาบิล่าจะสิ้นสุดการใช้อำนาจของเขาเมื่อธันวาคม 2559 เพราะอยู่ในอำนาจมาครบสองสมัยแล้ว และการเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 แต่ก็ถูกเลื่อนมาหนึ่งปี โดยกำหนดไว้ว่าจะเป็นสักต้นปี 2561

เหตุผลที่ใช้อ้างการเลื่อนเลือกตั้งก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของเขา ประกาศว่ายังไม่ทราบจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่แน่นอน ที่สำคัญการประกาศของ กกต.เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงประธานาธิบดีคาบิล่าที่ดำเนินไปอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน และหลังเหตุการณ์นั้นพรรคฝ่ายค้านก็ประกาศว่า ปธน.คาบิล่าอยู่เบื้องหลังความพยายามในการเลื่อนเลือกตั้งเพื่อที่จะรักษาอำนาจของตนเองต่อไป

ในช่วงนั้นเองที่การสร้างข้อตกลงของฝ่ายค้านกับคาบิล่าก็เกิดขึ้น ทำให้เลื่อนการเลือกตั้งเร็วขึ้นอีกหน่อยคือกลับไปเป็นปลายปี 2560 แต่สักกลางปี 2560 ประธาน กกต.ก็ออกมาบอกว่าการเลือกตั้งปลายปี 2560 เป็นไปไม่ได้ จึงทำให้แกนนำพรรคฝ่ายค้านออกมาแถลงว่าการเลื่อนเลือกตั้งในครั้งนี้ถือว่าเป็น “การประกาศสงครามกับประชาชนชาวคองโก”

พฤศจิกายน 2560 กกต.ก็ออกมาแถลงอีกว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2561 โดยก่อนหน้านั้นเคยอ้างว่าจะเลื่อนไปถึงหลังเมษายน 2562 ด้วยเงื่อนไขที่ว่าด้วยการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำได้ยากลำบากในประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ค่อยพัฒนา (แหม่ ถ้าเป็นบ้านเราคงต้องมาแนวว่า รอให้ถนนลูกรังหมดก่อนค่อยเลือกตั้งก็อาจจะเป็นได้) แต่กระนั้นก็ตาม แรงกดดันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็มีส่วนสำคัญทำให้ทางรัฐบาลได้ออกมายืนยันในมีนาคม 2561 ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2561

การเลือกตั้งถูกกำหนดในท้ายที่สุดว่าจะต้องเกิดขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2561 แต่สุดท้ายก็ถูกเลื่อนออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ด้วยเงื่อนไขว่าสามวันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง คือ 20 ธันวาคม มีเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังเก็บเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ของ กกต. ทำให้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์เสียหายไปแปดพันกว่าเครื่อง

นอกจากนั้นแล้ว ก่อนการเลือกตั้งไม่นาน รัฐบาลยังเลื่อนการเลือกตั้งในสามเมืองใหญ่ด้วยเงื่อนไข (หรือข้ออ้าง?) ว่า เกิดการระบาดของเชื้ออีโบลา และเกิดความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพื้นที่ไปเป็นมีนาคม 2562 ซึ่งให้สังเกตสักนิดว่า แทบจะเป็นเวลาเดียวกับโรดแมปเดิมของรัฐบาลนั่นแหละครับ

มิหนำซ้ำพื้นที่สามเมืองนั้นยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคฝ่ายค้าน และมีจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นล้านๆ ทีเดียว

ทีนี้เรื่องยิ่งสนุกไปใหญ่เพราะว่ายังถกเถียงกันว่า ตกลงจะประกาศผลการเลือกตั้งกันก่อนที่จะนับคะแนนในพื้นที่เลื่อนการเลือกตั้งด้วยใช่ไหม (คือไม่นับรวมเสียงพื้นที่เหล่านั้น)

ความสูญเสียรวมในการต่อสู้และประท้วงกดดันการเลื่อนเลือกตั้งถูกรวบรวมโดย Human Rights Watch พบว่านับจากปี 2558 เป็นต้นมานี้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่าสามร้อยคน รวมไปถึงการที่ฝ่ายค้านถูกเงื่อนไขการดำเนินคดีความ และผู้นำฝ่ายค้านบางคนถูกห้ามเข้าประเทศ และมีการกดดันไม่ให้เกิดการชุมนุมสนับสนุนผู้นำฝ่ายค้านบางคน

ผู้นำฝ่ายค้านที่สำคัญคือ คาตุมบิ (Moise Katumbi) ซึ่งเป็นนักธุรกิจและอดีตผู้ว่าฯของจังหวัดคาตันก้า (Katanga) ซึ่งมีคะแนนนิยมสูงกว่าประธานาธิบดีคาบิล่าและนอมินีหลายเท่าตัวและทุกสำนักโพล สุดท้ายนอกจากถูกกดดันไม่ให้เข้าประเทศ คาตุมบิก็ถูกคดีความเรื่องธุรกิจทำให้ลงสมัครในรอบนี้ไม่ได้ด้วย

หนักเข้าไปกว่านั้น หลังการเลือกตั้งหนึ่งวันคือวันสิ้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลคองโกได้ระงับการเผยแพร่สัญญาณอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศและระงับการส่งสัญญาณของสถานีวิทยุฝรั่งเศส (Radio France Internationale) ซึ่งถือเป็นช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นที่นิยมที่สุดในคองโก ด้วยเงื่อนไขของการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในโลกออนไลน์ และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ เรื่องนี้ทำให้ตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สวิส และ แคนาดา ได้ร้องไปยังรัฐบาลให้ยุติการระงับสัญญาณอินเตอร์เน็ต

เรื่องไม่จบง่ายๆ ครับ เพราะในประเทศแบบคองโก แม้ว่ารัฐบาลอาจจะพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว แต่เครือข่ายประชาสังคมเขาก็ไม่ใช่ย่อย คริสตจักรของคองโกซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการเชื่อถือยอมรับจากประชาชนคองโกเป็นอย่างมากนั้นก็ได้ส่งตัวแทนอาสาสมัครไม่ต่ำกว่าสี่หมื่นคนลงไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งยังหน่วยต่างๆ ทั้งประเทศ และยังตั้งโต๊ะแถลงว่าตนและเครือข่ายรู้แล้วว่าใครชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยบอกว่ามีคนที่ชนะขาดในรอบนี้ ซึ่งก็เป็นที่คาดเดากันว่าจะเป็น มาติน เฟยูลู (Martin Fayulu) นักธุรกิจผู้นำฝ่ายค้าน ที่ชนะอย่างถล่มทลายและได้รับการสนับสนุนจากผู้นำฝ่ายค้านทั้งสองคนที่ถูกกีดกันไม่ให้ลงในรอบนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เปิดชื่อออกมา แต่คริสตจักรคองโกยืนยันว่าจะพิจารณาตีพิมพ์ผลการเลือกตั้งและผลการสังเกตการณ์ที่แท้จริงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลหากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส

คริสตจักรคองโกเรียกร้องให้มีการประกาศผลการลงคะแนน และตรวจสอบการลงคะแนนในทุกหน่วยเลือกตั้ง ท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นต่อการนับคะแนนโดยเฉพาะกับเครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ทาง กกต.ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 5 มกราคม ว่ายังประกาศผลการเลือกตั้งตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 6 ไม่ได้ เพราะยังนับคะแนนไปได้ไม่ถึงครึ่ง (บางสำนักข่าวว่าไม่ถึงร้อยละยี่สิบด้วยซ้ำ)

ส่วนรัฐบาลได้ออกมาประณามว่าการที่คริสตจักรคองโกได้ออกมาแถลงผลและกดดันให้ กกต.ดำเนินงานอย่างโปร่งใสนั้นเป็นการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง รวมถึงเป็นการพยายามที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายในประเทศ และสิ่งนี้จะต้องเป็นสิ่งที่ทางคริสตจักรคองโกจะต้องรับผิดชอบกับผลดังกล่าว

แรงกดดันจากต่างประเทศล่าสุดก็คือ ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ส่งกองกำลังส่วนหนึ่งไปที่กาบอง ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของคองโกเพื่อเตรียมรับสถานการณ์รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจจะส่งเข้าไปในคองโกในอนาคตหากมีความไม่สงบเกิดขึ้น รวมทั้งการออกแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐว่าอาจจะมีการคว่ำบาตรผู้ที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย ความสงบเรียบร้อยและฉ้อโกงในคองโกหากผลการเลือกตั้งที่เป็นจริงไม่ถูกเผยแพร่

ความกังวลของนานาชาตินี้ก็ยังรวมไปถึงการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งของคองโก

เอาเป็นว่าระหว่างที่บ้านเรายังเอาแน่เอานอนกับวันเลือกตั้งไม่ได้ จะด้วยเงื่อนไขใดๆ ก็ตาม ก็ลองติดตามการเมืองของการประกาศผลการเลือกตั้งใน สป.คองโกไปพลางๆ ก่อน เพราะนอกจากจะเลื่อนเลือกตั้งหลายรอบ แม้ว่าจะน้อยกว่าบ้านเรา มาถึงผลการเลือกตั้งก็ยังเลื่อนอีกครับผม

#ประเทศไทยไม่ใช่คองโก #ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง #เลื่อนตั้ง

(หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนจาก wikipedia และ “Opposition Leader is seen by Church as winning Congo Vote” New York Times. 4 January 2019)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image