ความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย รศ.กรกฎ ทองขะโชค

 

ความเชื่อมั่นหรืออาจเรียกว่าความเชื่อถือไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานโดยเฉพาะความเชื่อถือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ เนื่องจากหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนขาดความเชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐแล้ว หน่วยงานภาครัฐนั้นก็จะไม่มีความสำคัญและขาดการสนับสนุน นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อการให้ความร่วมมือ การประสานงาน การร่วมปฏิบัติงาน ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนไว้วางใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญ อันจะส่งผลต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างมาก

หน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบของการทุจริต ในการกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐมีอยู่สามประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งก็จะไม่มีการกระทำการทุจริตเกิดขึ้น ได้แก่ ความไม่ซื่อสัตย์ (Dishonesty) โอกาส (Opportunity) และการจูงใจ (Motive) แน่นอนว่าปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าปัญหาการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาที่สำคัญของทุกประเทศ การกระทำความผิดนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของสังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้มีหน่วยงานที่จะคอยควบคุมให้การกระทำความผิดอยู่ในขอบเขตที่ไม่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อสังคมหรือประเทศชาติ หน่วยงานดังกล่าวส่วนหนึ่งคือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สำหรับการป้องกันและปรามปรามทุจริตนั้น มีแนวคิดและทฤษฎีที่สำคัญๆ คือ ทฤษฎีการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย ทฤษฎีการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐและระบบการค้นหาความจริง

แนวความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ การออกแบบกลไกหรือองค์กรที่จะมาทำหน้าที่สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐที่เป็นเรื่องของความร่วมมือกันของคนสองฝ่าย ที่ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีผู้เสียหายแน่นอนที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาร้องเรียนกล่าวหาอย่างคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการกับกรณีการทุจริตจึงจำเป็นต้องพัฒนาการดำเนินการหรือกลไกที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐหรือการบริหารราชการที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เมื่อการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่รอบคอบหรือขาดความระมัดระวังตามสมควรแห่งการค้นหาความจริงก็ย่อมส่งผลต่อการบริหารราชการ และอาจเกิดความไม่ไว้วางใจหรือไม่เชื่อมั่นกับหน่วยงานในการตรวจสอบ

Advertisement

การที่ภาคประชาสังคมเฝ้ามองการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 (1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดํารงตําแหน่ง
ทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม โดยหน้าที่ที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในปัจจุบันคือ (3) กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา… ส่วนคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่ รวมทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย

สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช. ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ สำหรับวิธีการตรวจสอบใช้วิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้สามวิธี คือ วิธีแรก คณะกรรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนเอง วิธีสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และวิธีสุดท้าย คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายให้พนักงานเจ้าที่ดำเนินการ โดยแต่งตั้งเป็นพนักงานไต่สวน

การมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีกำลังคนในการรวบรวมพยานหลักฐานค้นหาข้อเท็จจริง เมื่อสรุปมติอย่างใดก็ควรมีเหตุผลรองรับทุกประเด็น หากมติที่ออกมาประชาชนทั่วไปยังเคลือบแคลงสงสัยก็จะส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นของหน่วยงาน คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์กรหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมนั้นจะมีเพียง ตำรวจ อัยการ ศาลเท่านั้น โดยมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ถือได้ว่าเป็นองค์กรของประเทศชาติ ไม่ใช่องค์กรของรัฐบาล จึงเสมือนว่าเป็นองค์กรกลาง ประชาชนทั่วไปย่อมไว้วางใจในอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ในด้านการป้องกันแก้ไขปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการกระทำที่เป็นการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หากกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีมูลเพียงใดหรือไม่ ซึ่งในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล การตรวจสอบในเรื่องนั้นเป็นอันยุติ แต่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีมูลความผิดก็จะส่งเรื่องเพื่อให้องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยความผิด และลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ด้วยภารกิจดังกล่าว จึงนำมาสู่ปัญหาว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะทำอย่างไรที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเป็นรูปธรรมขึ้นมา เกี่ยวกับเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมาย โดยมิได้คำนึงการลงโทษแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำความผิด ก็จะทำให้ภารกิจด้านนี้มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับ
การปฏิบัติตามภารกิจในการตรวจสอบโดยมีที่มาและที่ไปและมีเหตุผลในมติที่สมเหตุสมผลก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มากขึ้น อันส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมได้ในท้ายที่สุด

Advertisement

หากพิจารณาตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558-2564 นโยบายที่ 9 เสริมสร้างความมั่นคงของชาติจากภัยการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนร่วมมืออย่างจริงจังและสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้น การที่ภาคประชาสังคมตื่นตัวเมื่อมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะในการวินิจฉัยบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นบุคคลสำคัญของประเทศแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนตระหนักและมีการสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) 20 ปี ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐได้กำหนดไว้ชัดเจน ถึงภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทุกภาคส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต ภาครัฐมีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกระดับ โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของบุคลากรภาครัฐให้เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างจิตสํานึกและค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและละอายต่อการทุจริตประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพ มีความเด็ดขาดเป็น
ธรรม และตรวจสอบได้ จัดการกับผู้กระทําความผิดทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกระดับอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรม และตรวจสอบได้พร้อมทั้งให้การดําเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปราศจากการแทรกแซงของนักการเมืองและผู้มีอิทธิพล

ยุทธศาสตร์ของหน่วยงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เองก็มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (2560-2564) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในยุทธศาสตร์ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต กลยุทธ์ว่าด้วยปรับปรุงการตรวจสอบความเคลื่อนไหวและความถูกต้องของทรัพย์สินและหนี้สิน หากดำเนินตามกลยุทธ์ที่วางไว้ในเรื่องการตรวจสอบความเคลื่อนไหวและความถูกต้องของทรัพย์สินและหนี้สินโดยความรอบคอบสมเหตุสมผลก็จะเกิดความไว้วางใจต่อผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image