บริการสุขภาพฉุกเฉิน และการจัดสรรทรัพยากร โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, สุวิมล เฮงพัฒนา, ธิติมา พลับพลึง, สมบัติ เหสกุล

1.ช่วงปลายปีและต้นปีคนไทยจำนวนหลายล้านคนเดินทางท่องเที่ยว ฉลองในเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน ตามด้วยสงกรานต์ โอกาสการประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินจึงสูงกว่าช่วงเวลาปกติ ถึงแม้ว่าหลายหน่วยงานของรัฐและมูลนิธิร่วมรณรงค์ให้ลดเหล้า ลดอุบัติเหตุ เตือนให้พักรถเมื่อเหนื่อยล้า ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุได้ระดับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดยังเกิดขึ้นได้ กลายเป็นภาระของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพฉุกเฉิน (ems=emergency medical services) ในโอกาสนี้ขอนำความก้าวหน้าของงานวิจัยมาเล่าสู่กันฟัง

2.การบริการสุขภาพฉุกเฉิน เป็นระบบจัดการขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเกือบ 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ คือ โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น มูลนิธิ ฯลฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและผู้ป่วย โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยงานระดับชาติ รับมอบอำนาจจากรัฐบาลในการประสานความร่วมมือ กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการแพทย์ฉุกเฉิน (ผู้สนใจศึกษา พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551) ความจริงก่อนปี พ.ศ.2551 หลายองค์กรได้จัดบริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่แล้ว ขอเอ่ยนาม มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งซึ่งถือเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศ ทำงานมาเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนหน้า ประชาชนศรัทธาให้การสนับสนุนมูลนิธิ เพราะเห็นว่า “ทำดี” ต่อมากลายเป็นแบบอย่างของมูลนิธิที่ทำดีเพื่อสังคมจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานท้องถิ่นจำนวนมากเข้าร่วมด้วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อบจ. เทศบาล และ อบต.

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงข้อมูลด้านอุปสงค์ หมายถึง ผู้รับบริการฉุกเฉินมีจำนวนมากน้อยเพียงใดกระจายตามจังหวัดต่างๆ อย่างไร เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกำหนดให้บันทึกข้อมูลทุกราย คือวัน-เวลาการปฏิบัติการกู้ชีพ ระยะเวลาของการเข้าถึงผู้ป่วย (ตั้งแต่เริ่มส่งรถกู้ชีพออกไปจนถึงที่เกิดเหตุว่าใช้เวลากี่นาที?) เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประเมินผล ซึ่งมีคุณค่ายิ่งสำหรับนักวิจัย จากสถิติในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 ถึงกันยายน 2560) มีผู้รับบริการจำนวน 1.38 ล้านคน ร้อยละ 39 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 61 เพศชาย สะท้อนว่าโอกาสของฝ่ายชายที่จะประสบเหตุหรือป่วยฉุกเฉินสูงกว่าฝ่ายหญิง ตัวเลขสถิติ 1.38 ล้านรายนี้ต้องยอมรับ “ไม่ครบถ้วน” เนื่องจากผู้ป่วยหรือประสบเหตุจำนวนหนึ่งไม่ได้เรียกบริการกู้ชีพ แต่เดินทางไปสถานพยาบาลด้วยตนเองหรือญาตินำส่ง อีกกรณีหนึ่งคือรถกู้ชีพออกไปรับผู้ป่วยแต่ว่าคลาดเคลื่อนกัน

ฐานข้อมูลชุดนี้ยังบันทึกสาเหตุและอาการเจ็บป่วยหรือประสบเหตุ จำแนกออกเป็น 25 กลุ่ม ในจำนวนนี้นับรวม “การเจ็บป่วยฉุกเฉิน” “อุบัติเหตุจราจร” “อุบัติเหตุในบ้าน” “ถูกทำร้าย” หนึ่งในตัวแปรที่คณะวิจัยนำมาวิเคราะห์ คือ “ระยะเวลาที่ใช้ในการเข้าถึงผู้ป่วย/ประสบเหตุ” (response time ย่อว่า RT14) ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กำหนดเกณฑ์ว่ารถกู้ชีพควรเข้าถึงผู้ประสบเหตุภายในเวลา 8 นาที (ประเทศอื่นๆ ก็กำหนดเกณฑ์คล้ายๆ กัน) อย่างไรก็ตาม ในภาคปฏิบัติ เวลาที่ใช้จริงอาจเกินกว่า 8 นาที เนื่องจากอุปสรรคหรือสาเหตุต่างๆ อาทิเช่น การจราจรคับคั่ง ความยุ่งยากหรือซับซ้อนเนื่องจากอุบัติเหตุจราจรทำให้การกู้สถานการณ์ใช้เวลานาน

Advertisement

สรุปว่า ร้อยละ 71 ระบบกู้ชีพกู้ภัยสามารถเข้าถึงผู้ป่วย/ประสบเหตุได้ภายในเวลา 8 นาที ร้อยละ 80 สามารถปฏิบัติการได้ภายในเวลาสิบนาที ร้อยละ 9 ใช้เวลาเกินกว่าสิบห้านาที ตัวเลขเหล่านี้ถูกนำไปพิจารณาประเมินสัมฤทธิผลของการทำงาน

วิธีการสื่อสารทำอย่างไร? ส่วนใหญ่ผู้ป่วยแจ้งผ่านหมายเลข 1669 มีการคัดกรองตามอาการป่วยว่าวิกฤต มากน้อยเพียงใด สูงสุดบันทึกว่า “สีแดง” ในกรณี “ผู้ป่วยสีแดง” พบว่าระยะเวลาปฏิบัติการจะยาวนานกว่ากรณีทั่วไป ค่าเฉลี่ย RT14 = 9.57 นาทีสำหรับสีแดง เปรียบเทียบกับกรณีทั่วไปใช้เวลาเฉลี่ย 8.06 นาที

Advertisement

3.ด้านอุปทานหมายถึงหน่วยงานที่เข้าร่วมให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ขอนำตัวแปร 3 ตัวที่น่าสนใจมารายงาน คือจำนวนหน่วยงาน (department) ที่ให้บริการ บุคลากร (personnel) โดยมีการจดทะเบียนรายชื่อเพื่อทราบว่าใครเป็นใคร คุณวุฒิการศึกษา หน้าที่ กระจายในจังหวัดใด และจำนวนรถกู้ชีพกู้ภัย (ambulance) ซึ่งเป็นเครื่องมือการปฏิบัติงาน

หน่วยงานใดให้บริการ? ตามทะเบียนระบุว่ามีจำนวน 7,603 แห่งทั่วประเทศ คำนวณเป็นค่าเฉลี่ยง่ายๆ แปลว่าหนึ่งจังหวัดมีหน่วยงาน 99 แห่ง จำแนกตามระดับ โดยเรียกย่อว่า FR (first response) = 4,945 แห่งถือเป็นการช่วยปฐมพยาบาล ต่อจากนั้น BLS (basic life support) 1,352 แห่ง และ ALS (advanced life support) จำนวน 1,306 แห่ง เจ้าภาพจำแนกออกเป็น 3 ประเภท โรงพยาบาลของรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น และมูลนิธิ คณะวิจัยมีความสนใจศึกษาการจัดสรรทรัพยากร เริ่มจากคำถามว่าใครจ่าย? เงินลงทุนมากน้อยเพียงใด? อย่างน้อยที่สุดทุกหน่วยงานต้องมีสำนักงาน ระบบสื่อสาร รถกู้ชีพและอุปกรณ์ช่วยเหลือ ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจละเลยคือ “บุคลากร” ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัย พนักงานขับรถ/เรือ ล้วนผ่านการอบรมความรู้และทักษะการปฏิบัติการมาพอสมควร บุคลากรจำนวนทำงานประจำ (มีเงินเดือนค่าจ้าง) อีกส่วนหนึ่งทำงานแบบอาสาสมัคร ระบบ EMS ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด บางหน่วยงานจัดการทำงานแบบ 2 กะ (12 ชั่วโมง) ในขณะที่บางหน่วยงานแบ่งการปฏิบัติการเป็น 3 กะ (8 ชั่วโมง)

ค่าใช้จ่ายลงทุนหมวดหนี่งคือรถกู้ชีพ รถทุกคันจดทะเบียนกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยระบุสภาพรถ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสภาพ จากสถิติทะเบียนรถกู้ชีพพบว่ามี 20,053 คัน (หมายเหตุ จำนวนนี้อาจจะไม่ได้ปฏิบัติการทั้งหมด จำนวนหนึ่งถูกใช้งานมายาวนานแล้วถูกปรับให้ทำงานเบา) อย่างไรก็ตาม พอจะกล่าวได้ว่า รถกู้ชีพกู้ภัยจำนวน 18,000 คัน ให้การบริการโดยกระจายอยู่ในทุกจังหวัด หน่วยงานที่มีรถกู้ชีพมากที่สุด 5 ลำดับ มูลนิธิร่วมกตัญญู 508 คัน ป่อเต็กตึ๊ง 416 คัน ร่วมกตัญญูปทุมธานี 220 คัน ป่อเต็กตึ๊งปทุมธานี 166 คัน และสุขศาลานุเคราะห์ 133 คัน

4.บุคลากรที่ขึ้นทะเบียนกับระบบ EMS ตามสถิติในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนมากกว่า 1.6 แสนคน

การศึกษาครั้งนี้ ช่วยให้เข้าใจว่าระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นการจัดการขนาดใหญ่ตั้งแต่ระดับชาติ-จังหวัด-อำเภอ มีเจ้าภาพ 3 ฝ่ายคือโรงพยาบาลรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น และมูลนิธิ หน่วยงานเกือบหนึ่งหมื่นองค์กรเหล่านี้สามารถระดมทรัพยากรได้อย่างน่าทึ่ง มูลค่าของเงินลงทุนอย่างน้อยต้องหลายหมื่นล้าน บุคลากรที่ระดมกันมาทำงานนี้ล้วนผ่านการอบรมความรู้ พัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน คณะวิจัยมีความเห็นว่านี้คือวิวัฒนาการทางสังคมที่น่าทึ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้คนร่วมสองล้านรายต่อปี ไม่ว่าจะเป็นคนไทย นักท่องเที่ยวหรือแรงงานต่างชาติ และพบว่ามีประเด็นที่จะค้นคว้าวิจัยต่อได้อีกหลายหัวข้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image