จิตวิวัฒน์ : วิชาการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (2) : โดย จุฑา พิชิตลำเค็ญ

ค่ายเขาใหญ่
กิจกรรมนี้อยู่นอกแผนการสอนโดยสิ้นเชิง ฉันพบว่านิสิตปริญญาโทหลายคนยังไม่เคยเดินป่า ไม่เคยไปเขาใหญ่ ซึ่งฉันถือว่าเป็นประสบการณ์สำคัญที่เด็กทุกคนควรได้ผ่าน และช่วงเวลาก็อำนวยคือหยุดรับปริญญาพอดี เลยคิดจะพาไป

ฉันอยากได้จิตวิญญาณแบบนิเวศภาวนาที่ไปเข้าร่วมมาเมื่อปีที่แล้ว คือ ลึกลับ เป็นป่า โอบอุ้ม อบอุ่น

ฉันคุ้นเคยกับค่ายสามเณรภาคฤดูร้อนของวัดป่าสุคะโต รู้รูปแบบการจัดค่ายที่ให้ทำกับข้าวกินเองและนอนเต็นท์ จึงขอเอามาใช้บ้าง แต่เพิ่มเติมความเข้มข้นแบบนิเวศภาวนาคือให้แต่ละคนนอนเดี่ยว โดยได้วิชัย นาพัว มาช่วยเตรียมของกิน ของใช้ และพาทำกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติ

อีกคนหนึ่งที่ปิ๊งแว้บว่าควรชวนมาคือ มู-ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ ที่เจอกันมาหลายเวิร์กช็อปและพี่ณัฐฬสบอกว่ามูมีความเป็นพ่อมดพอที่จะรับช่วงนิเวศภาวนาต่อจากพี่ณัฐได้

Advertisement

ฉันไม่บังคับว่าเด็กต้องไป ถือเป็นของขวัญ แต่ตอนที่ชวน เด็กไว้ใจเรามากแล้ว ชวนไปไหนก็ไป

ปรากฏว่าการไปเขาใหญ่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างหนึ่งของชั้นเรียนเรา เพราะเด็กได้เผชิญความลำบากร่วมกัน ได้ก้าวข้ามขอบ และมีความเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กัน เป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับฉันเองด้วย

“สิ่งที่ผมได้รับจากค่ายนี้และคิดว่ามีประโยชน์มากๆ ก็คือ นพลักษณ์ มันทำให้เรารู้จักตัวเรามากขึ้น รู้ว่าเรื่องใดเป็นข้อเสียของ Type เรา จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น และทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากยิ่งขึ้นว่าที่เขาเป็นแบบนี้เพราะ Type เขาเป็นแบบนี้ ดังนั้น การที่เราเข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่นอย่างแท้จริง การอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ก็จะราบรื่น

Advertisement

“เพิ่มเติมคือสำหรับผม ผมว่าผมเป็น Type 9 ซึ่งในความคิดผมคือ Type นี้ยังไงก็ไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำ จนผมมาหาข้อมูลก็ได้รู้ว่า Abraham Lincoln, Barack Obama, Ronald Reagan ต่างก็เป็น Type 9 (หากข้อมูลไม่ผิดพลาด) ดังนั้นผมว่าการเป็น Type 9 ก็สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้”

การสะท้อนจากนิสิต

“เรื่องที่ทำให้ผมทึ่งคือการศึกษาของพี่วิชัย ผมเรียนสูงกว่าพี่เขา แต่กลับกัน ผมกลับรู้สึกด้อยและความรู้น้อยกว่าพี่เขามาก ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการศึกษาอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ เวลา ผู้ชี้ทางที่ดี และสิ่งที่ชอบต่างหากคือคำตอบสำหรับผม….

ด่านต่อไปคือโจทย์ยากสำหรับผมแล้ว นั่นคือถ่ายรูปที่สื่อบางอย่าง ผมเป็นคนชอบอะไรที่พิเศษ จึงเป็นเรื่องยากที่ผมจะหาอะไรมาถ่ายง่ายๆ ผมจึงลองคิดกับตัวเองและธรรมชาติอยู่ลึกๆ ระหว่างที่เดินเข้าไปลึกๆ ด้วย ว่าอยากให้มีสัญญาณบางอย่าง ว่าธรรมชาติรับรู้การมาของผม สิ้นความคิด มีผีเสื้อประมาณสองสามตัวบินตัดหน้าทันที ผมก็เดินตามไปเรื่อยๆ จนไปเจอกับกลุ่มของผีเสื้อสีเหลืองที่กำลังตอมดินเป็นจำนวนหนึ่ง ผมรู้สึกมหัศจรรย์มากๆ ไม่คิดว่าจะได้มาเจออะไรแบบนี้ เหมือนเป็นสัญญาณอีกอย่างจากธรรมชาติจริงๆ”

การสะท้อนจากนิสิต

การไปพบนิสิตต่างคณะ
ฉันและเพื่อนอาจารย์ที่อยู่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ เราพานิสิตไปฟังด้วยเช่นเคย เด็กวิศวะต่างจากเด็กดนตรีไทยตรงที่เด็กมาเรียนดนตรีไทยเพราะรู้แพสชั่นของตัวเองชัดเจน ส่วนเด็กวิศวะบางคนมาเรียนวิศวะเพราะเผอิญว่าเรียนเก่ง นับเป็นความโชคร้ายในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เพราะสังคมหรือครอบครัวตีกรอบให้แล้ว

เด็กวิศวะได้พูดคุยกับเด็กดนตรีไทย และได้เจอคุณขจิตธรรม พาทยกุล ที่ทำ Thai Fit Studio เปลี่ยนแพสชั่นเป็นอาชีพได้

การนำเสนอ Odyssey Plans
เมื่อเด็กเขียน Good-time journals และรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นแล้วว่ารู้สึกดีเวลาทำกิจกรรมอะไร ก็ให้ทำแผนอนาคต 5 ปี สามแผน แผนแรกคือแผนที่จะทำอยู่แล้ว เช่น ไปทำงานเป็นวิศวกรโรงงาน แผนที่สองคือถ้าโลกไม่ต้องการอาชีพแบบแผนแรก ส่วนแผนที่สามคือถ้าเงินไม่ใช่ประเด็น คือรวยมากๆ แล้วเราจะไปทำอะไร
กุญแจสำคัญคือต้องนำเสนอแผนนี้และได้รับฟีดแบ๊ก ฉันต้องการให้เด็กจริงจังกับความฝันของตัวเองด้วยการประกาศให้คนอื่นได้รับรู้ จึงแบ่งเป็นสองกลุ่ม ให้มานำเสนอให้เพื่อนฟังและกินพิซซ่าด้วยกันในตอนเย็น ให้โอกาสเพื่อนและฉันได้ถามคำถามเชิงสนับสนุนหรือได้รับรู้

ฉันพบว่าได้รู้จักตัวตนของเด็กเยอะขึ้นมากๆ จากการฟังแผนเหล่านี้ เช่น ถ้ามีเงินมากๆ เด็กคนนี้อยากวาดรูปสีน้ำ อยากนั่งอ่านหนังสือ ซึ่งฉันงงว่าต้องใช้เงินมากๆ ตรงไหน ปรากฏว่า ประเด็นของเขาคือเรื่องการจัดการเวลา เพราะเขามักใช้เวลามากกว่าที่คิดไว้ในการทำสิ่งต่างๆ เลยไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำเสียที

เมื่อรู้จักเด็กมากขึ้นจากค่ายและการฟังแผนอนาคต 5 ปีของพวกเขา ฉันคิดว่าเราน่าจะต้องโค้ชพวกเขาเพิ่มเติม

จุฑา พิชิตลำเค็ญ
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image