การป้องกันปัญหา นักเรียนทะเลาะวิวาทในและนอกโรงเรียน : โดย จารึก อะยะวงศ์

กรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งออกระเบียบการฟ้องครู (กรณีนักเรียนทะเลาะวิวาทกัน) 9 ข้อ และเป็นที่สนใจในสังคมออนไลน์นั้น เข้าใจว่าหมายถึงกรณีนักเรียนทะลาะวิวาทกันภายในโรงเรียนเท่านั้น จากประสบการณ์การบริหารโรงเรียนมา 20 ปี ขอสรุปว่าถ้าระเบียบดังกล่าวใช้ได้ผลต้องขอชื่นชม และขอวิเคราะห์ว่า ผลดังกล่าวน่าจะเกิดจากเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก คุณครูโรงเรียนดังกล่าวเป็นคุณครูที่น่ารักน่าเคารพ ประการที่สอง นักเรียนโรงเรียนดังกล่าวน่ารักและมีระเบียบวินัยดีมาก ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ โดยทั่วไปการปฏิบัติตามระเบียบทั้ง 9 ข้อ เป็นไปได้ยาก แต่จากประสบการณ์การบริหารโรงเรียน ขอสรุปว่าการแก้ปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทไม่ใช่เรื่องยาก

ถ้าโรงเรียนมีมาตรการป้องกันการทะเลาะวิวาทที่มีประสิทธิภาพดังนี้

1.ผู้บริหารโรงเรียนต้องถือว่าการป้องกันปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาททุกกรณีเป็นหน้าที่ของตนเอง โดยมีครูฝ่ายปกครองและครูอื่นๆ เป็นคณะทำงาน

2.ผู้บริหารต้องปรึกษากับคณะครู และมีความเห็นร่วมกัน โดยประกาศให้นักเรียนทราบทั่วกันว่าการทะเลาะวิวาทระหว่างนักเรียนเป็น “ความผิดที่ร้ายแรงที่สุด” มีการชี้แจงเหตุผลให้นักเรียนทราบทั่วกันว่าการทะเลาะวิวาทเป็นการทำลายชื่อเสียงของโรงเรียน โดยเฉพาะการทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นนอกโรงเรียน เพราะประชาชนทั่วไปไม่รู้จักชื่อนักเรียน รู้แต่เพียงว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนไหน แล้วก็ลือกันไปว่า “นักเรียนโรงเรียน………ตีกัน” ทำให้นักเรียนเสียหายทั้งโรงเรียน

Advertisement

3.ผู้บริหารต้องสร้างขวัญกำลังใจให้นักเรียนชั้นสูงสุดของโรงเรียนทุกคน และชี้แจงให้ตระหนักในศักดิ์ศรี ว่านักเรียนเป็นพี่ใหญ่ของนักเรียนทั้งโรงเรียนและเป็นผู้นำของนักเรียนทั้งหมด ถ้านักเรียนชั้นสูงสุดทุกคนปฏิบัติตนดี จะเป็นแบบอย่างที่ดีของน้องๆ ทุกคน เพราะฉะนั้นนักเรียนชั้นสูงสุดต้องภูมิใจในศักดิ์ศรีของความเป็นผู้นำและพี่ที่ดี ช่วยกันรักษาความดีให้น้องๆ ศรัทธาและปฏิบัติตาม เพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงเรียนร่วมกัน

4.สร้างแรงจูงใจฝ่ายดีกับนักเรียนทั้งโรงเรียน โดยใช้เหตุผลและความตั้งใจจริงในการอธิบายเพื่อผูกใจนักเรียนด้วยหลักการว่า “โรงเรียนจะให้ทุกสิ่งที่ควรให้ และห้ามทุกสิ่งที่ต้องห้าม” หมายความว่า สิ่งใดที่นักเรียนต้องการและเป็นสิ่งที่ดี โรงเรียนจะจัดให้ทุกกรณี แต่สิ่งใดที่ไม่ดีและโรงเรียนได้ชี้แจงอธิบายความไม่ดีจนเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้ว ห้ามนักเรียนทำโดยเด็ดขาด หลักการต่อมา ถ้านักเรียนกระทำในสิ่งที่โรงเรียนไม่เคยตักเตือนห้ามปรามมาก่อน จะไม่ถือว่าเป็นความผิดและไม่ถูกลงโทษ แต่สิ่งใดที่เคยแนะนำตักเตือนไว้แล้วนักเรียนยังทำผิดต้องถูกลงโทษแน่นอน และถ้าความผิดนั้นร้ายแรง มีโทษด้วยการเฆี่ยน จะเกิดผลสองอย่างคือ “ไม่แตก ก็ปริ”

5.ต้องปรับกระบวนการฝึกลูกเสือและเนตรนารีตามหลักสูตร ที่ฝึกเป็นระดับชั้น (ป.1, ป.2, ป.3,…… และ ม.1, ม.2, ม.3) ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติที่ให้จัดลูกเสือต่างระดับชั้นไว้ในกองเดียวกัน โดยลูกเสือชั้นสูงสุดเป็นนายหมู่ และเป็นผู้ฝึกลูกหมู่โดยมีครู (ผู้กำกับ) เป็นเพียงที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการฝึกระบบผู้นำผู้ตามให้รู้จักทำงานร่วมกัน และเกิดความสามัคคีของนักเรียนต่างระดับชั้น ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ทดลองจัดการฝึกลูกเสือตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งได้ผลดี คือนักเรียนต่างระดับชั้นทะเลาะวิวาทกันน้อยลง และทุกคนรู้จักสนิทสนมเพราะเคยอยู่ในกองลูกเสือเดียวกันมาแล้ว

Advertisement

และในการเข้าค่ายพักแรม ครูผู้กำกับไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยในการคอยไล่ต้อนลูกเสือไม่ให้ส่งเสียงรบกวนและให้เข้าหลับนอนตามกำหนด เพราะนายหมู่สามารถควบคุมลูกหมู่ให้เข้าหลับนอนในเต็นท์ตามเวลาโดยไม่ส่งเสียงรบกวนเลย

6.ผู้บริหารและคณะครูต้องสอนให้นักเรียนรู้จัก “การหลีก” คือให้ถือหลักว่า ตนเองเป็น “คนดี” ส่วนคนที่มาหาเรื่องทะเลาะวิวาทต่อเราเป็น “คนไม่ดี” ถ้าเราไปทะเลาะวิวาทกับเขาเราก็เป็นคนไม่ดีไปด้วย เช่นเดียวกับกรณี นาย “ก” ต่อยนาย “ข” แต่นาย “ข” ไม่โต้ตอบ ถ้าขึ้นโรงพัก ตำรวจจะถือว่า นาย “ก” เป็นผู้ผิดที่ไปทำร้ายนาย “ข” และลงโทษปรับนาย “ก” แต่ถ้านาย “ข” โต้ตอบโดยต่อยนาย “ก” ด้วย จะกลายเป็นการ “วิวาท” มีความผิดทั้งสองคน

มีกรณีเกิดขึ้นจริง วันหนึ่งหลังโรงเรียนเลิก นักเรียนชายคนหนึ่งวิ่งกลับเข้ามาฟ้องอาจารย์ใหญ่ว่าถูกนักเรียนโรงเรียนอื่นทำร้ายที่ป้ายรถเมล์ อาจารย์ใหญ่ถามว่าเธอไปทำอะไรเขา นักเรียนบอกว่าไม่ได้ทำอะไร แต่นักเรียนคนนั้น “เหล่” ก่อน นักเรียนก็ “เหล่” ตอบ จึงถูกต่อย และวิ่งหนีกลับมาโรงเรียน อาจารย์ใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า “เหล่” ครูฝ่ายปกครองช่วยอธิบายว่า “เหล่” หมายถึงมองหน้ากัน อาจารย์ใหญ่จึงบอกนักเรียนว่า ต่อไปถ้ามีใครมา “เหล่” ปล่อยให้เขา “เหล่” จนตาเหล่ไปฝ่ายเดียว อย่าไป “เหล่” ตอบ และได้อธิบายวิธี “หลีก” คนไม่ดี ให้นักเรียนทั้งโรงเรียนเข้าใจ ตั้งแต่วันนั้นนักเรียนไม่เคยเกิดเกิดเรื่องวิวาทกับนักเรียนโรงเรียนอื่นอีกเลย

7.มีกรณีที่เกิดขึ้นจริงอีกกรณีหนึ่ง มีนักเรียน ม.1 จากโรงเรียนอื่นคนหนึ่ง จะขอย้ายมาเข้าโรงเรียนในภาคเรียนที่สอง ด้วยเหตุที่ตัวเองเพิ่งย้ายตามผู้ปกครองมาจากภาคใต้ มาเข้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง แต่ถูกเด็กเจ้าถิ่นทำร้าย จึงจะขอย้ายมาเข้าโรงเรียนนี้ในภาคเรียนที่สอง สอบถามได้ความว่า เมื่อย้ายจากภาคใต้ใหม่ๆ ถูกเด็กเจ้าถิ่นมาก่อกวน อาศัยที่ตนเองรูปร่างโตกว่า จึงตอบโต้กลับไป แต่เจ้าถิ่นกลับนำพรรคพวกมาเอาคืน ตนสู้ไม่ได้และกลัวอันตราย จึงขอย้ายมาเรียนที่นี่ ได้แนะนำให้นำวิธี “หลีก” ไปใช้ เมื่อมีเจ้าถิ่นมาแซว ก็ให้พูดดีกับเขา ว่าไม่สู้และขอเป็นเพื่อน แต่ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ยอม ให้ยกมือไหว้ และขอยอมแพ้ รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน นักเรียนคนดังกล่าวก็ลากลับไป จนสิ้นปีการศึกษานักเรียนคนดังกล่าวกลับมาหาอีกครั้งหนึ่ง และบอกว่าผมไม่ย้ายแล้ว เพราะเข้ากับเจ้าถิ่นได้แล้ว

8.ได้นำวิธี “หลีก” ไปใช้กับทุกโรงเรียนที่ไปเป็นผู้บริหารทั้ง “4” โรงเรียน โดยไม่เคยเกิดเรื่องวิวาทระหว่างโรงเรียนเลย รวมทั้งโรงเรียนสุดท้ายที่เป็น “สหศึกษา” และอยู่ใกล้กับโรงเรียนชายล้วนที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการทะเลาะวิวาท ทั้งได้นำนักเรียนไปเรียนว่ายน้ำซึ่งนักเรียนทุกคนต้องสวมชุดว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำซึ่งอยู่หน้าโรงเรียนชายดังกล่าวทุกวัน ไม่เคยมีนักเรียนชายต่างโรงเรียนมาด้อมมองหรือมาแซวเลย

ต่อมามีการเปิดโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนชายดังกล่าว ซึ่งนักเรียนทั้งสองโรงเรียนจะไปป้วนเปี้ยนหน้าโรงภาพยนตร์แห่งนั้นหลังเลิกเรียนทุกวัน ได้อบรมนักเรียนทุกคนว่า สามารถไปหน้าโรงภาพยนตร์นั้นได้ แต่ให้ท่องคาถา “หลีก” ให้ขึ้นใจ ถ้าจะถูก “เหล่” หรือ “แซว” อย่างไร ให้ “หลีก” เท่านั้น ปรากฏว่าไม่เคยเกิดกรณีไม่ดีทุกประเภท โดยไม่ต้องส่งครูฝ่ายปกครองหรือครูเวรไปคอยดูแลความปลอดภัยเลย

นี่คือมาตรการป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียนทั้งในและนอกโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ ที่สถานศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการน่าจะดำเนินการได้ไม่ยาก

จารึก อะยะวงศ์
([email protected])
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดพุทธบูชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image