เดินหน้าชน : อย่าดันทุรัง : โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เคยท้วงติงไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เกี่ยวกับโครงการกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผา ไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน เพื่อผลิตไฟฟ้า ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และหนองแขม ของ “กทม.” มูลค่าแห่งละ 6,570 ล้านบาท รวม 13,140 ล้านบาท ที่จะเปิดประมูลเร็วๆ นี้

ด้วยเพราะมีข้อสงสัย และคำถามมากมาย ถึงเหตุความจำเป็น และความโปร่งใส

การกำจัดขยะของ “กทม.” ในปัจจุบันที่ใช้ระบบฝังกลบ มีปัญหาอะไรหรือ ถึงอยากจะจ่ายค่ากำจัดขยะให้กับเอกชน (ที่ชนะประมูลโครงการดังกล่าว) ถึง 900 บาท/ตัน จากที่จ่ายอยู่แค่ 600 บาท/ตัน

มิหนำซ้ำยังแพงกว่าท้องถิ่นอื่นกว่า 3 เท่า อย่างที่เทศบาลนครภูเก็ตก็แค่ 300 บาท/ตัน หรือที่ขอนแก่นก็เพียง 250 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 10% ทุก 3 ปี เฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 490 บาทต่อตัน)

Advertisement

หากอยากจะดันทุรังเปลี่ยนจากฝังกลบไปเป็นการเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า ก็ควรต้องเปิดกว้างให้เอกชนรายอื่นๆ เข้ามาเสนอทางเลือกที่ดีที่สุด แต่กลับส่อว่าล็อกสเปกเพื่อประเคนให้เอกชนบางราย

เริ่มตั้งแต่ประกาศร่างทีโออาร์ ผ่านเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพียง 4 วันระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2561

แถมยังซิกแซกเอาชื่อบริษัทที่ไม่มีผลงานด้านเตาเผาขยะมาร่วมเสนอราคากลาง เพียงเพื่อให้ครบถ้วนตามขั้นตอน

Advertisement

ที่สำคัญคือในทีโออาร์กำหนดเงื่อนไขค่อนข้างเจาะจง ตรงสเปกกับเอกชนบางราย เช่น ประสบการณ์การดำเนินการโรงงานเตาเผามูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ต้องเป็นเตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) ที่เดินระบบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หากเสนอเตาเผาแบบอื่นจะไม่ได้คะแนน

นอกจากนี้ ผลงานของผู้เสนอราคาต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับ “กทม.” ถ้าเป็นคู่สัญญากับส่วนราชการอื่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

หากเป็นผลงานต่างประเทศ ต้องแปลเอกสารเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองจากสถานทูตไทยในประเทศเจ้าของผลงาน และต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยด้วย

ด้วยเวลาที่จำกัดและเงื่อนไขที่ตีกันอย่างนี้ ทำให้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยทำหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกำจัดขยะด้วยพลังงานความร้อนสูง หรือ Waste to Energy (WtE) สนใจร่วมประกวดราคาโครงการดังกล่าว

“แต่รายละเอียดของทีโออาร์ไม่เปิดกว้างให้บริษัทจากญี่ปุ่นเข้าร่วมการประมูลได้ ถึงแม้จะมีประสบการณ์และผลงานการกำจัดขยะระบบเตาเผาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

“ดังนั้นสถานทูตญี่ปุ่นจึงขอโอกาสอย่างสูงสุดให้บริษัทจากญี่ปุ่นมีโอกาสเข้าร่วมทำงานกับ กทม.ด้วย เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานของทั้งสองประเทศ” เป็นเสียงของบริษัทญี่ปุ่นผ่านเอกอัครราชทูต

ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่น 4-5 รายที่มีเทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานร่วมทุนกับบริษัทคนไทย

ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีขั้นสูงและข้อเสนอที่ดีกว่า แต่ก็ไม่อาจฝ่าด่านสเปกที่กำหนดเฉพาะเจาะจงนี้ไปได้ ด้วยเพราะโครงการนี้มีผลประโยชน์มากมาย

ไม่เพียงจะมีมูลค่ารวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และไม่เพียงค่าจ้างกำจัดขยะ 900 บาท/ตัน วันละ 1,000 ตัน แต่ยังมีรายได้จากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้และขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รวมแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท

แล้วก็เป็นไปตามคาดเมื่อมีการยื่นเรื่องนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบ

ดังนั้น ควรทบทวนโครงการนี้ใหม่ หากยังจะดันทุรังเดินหน้าประมูลต่อไป มีหวังคนที่เกี่ยวข้องอาจถูกเผาก่อนขยะ

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image