จากเมือง ‘เดิน’ ได้ สู่เมือง ‘ดม’ ได้ : มลพิษทางอากาศในเมือง : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในเมืองที่คนแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการรอฟ้าฝน หรือฉีดน้ำขึ้นฟ้า แถมยังพยายามเอาตัวรอดกันเองด้วยการซื้อหน้ากากมาใส่ ก็พอจะเห็นกันว่าอนาคตของการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครนั้นเข้าขั้นเลวร้าย

ทีนี้ทำไมเรื่องนี้ไม่กลายเป็นปัญหาที่คนออกมาวิตกกังวลเหมือนอาการจะเป็นจะตายเวลาน้ำท่วม ไม่ค่อยพยายามอธิบายว่าเป็นมลพิษทางอากาศ ทั้งที่เข้าขั้นวิกฤต สูงกว่ามาตรฐานของเมืองที่อยู่ได้ปกติ แต่อธิบายแค่เป็นเรื่องฝุ่นจิ๋ว

คำตอบที่คนมักจะตอบกันก็คือ ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน หรือน้ำตายังไม่หลั่งเพราะยังไม่เห็นโลงศพ

ทั้งที่ในความเป็นจริงเรากำลังอยู่ในโลงศพแล้วแต่ยังไม่รู้ตัว

Advertisement

คำตอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่อยากจะตอบกันก็คือ มลพิษทางอากาศในเมืองนั้นเป็นปัญหาที่คนจำนวนมากช่วยกันสร้างขึ้น และโดยธรรมชาติของเมืองอย่างเราๆ ที่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้มีเสียงมากนัก ทั้งที่เขาเจอปัญหามาก เอาตัวรอดได้น้อย เช่น ไม่ได้ทำงานในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ ไม่มีหน้ากากที่ราคาเกือบเท่าค่าอาหารต่อมื้อ ก็เป็นธรรมดาที่ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง

การนำเสนอข่าวก็เน้นไปที่การรายงานตัวเลขมากกว่าการลงไปพบปะผู้คนในพื้นที่ นำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ของคนในบริเวณนั้น รวมทั้งตามติดแนวทางในการแก้ปัญหาของเขต และกรุงเทพมหานครในภาพรวม

ทั้งนี้ การตามติดไม่ใช่การรายงานว่าผู้บริหารคิดอย่างไร แต่ต้องนำเอาข้อกังวล ทรรศนะที่แตกต่างและข้อมูลต่างๆ นำเสนอให้กับสาธารณะด้วย

Advertisement

เรื่อง “มลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่น” ไม่ใช่ “ปัญหาฝุ่นละอองในเมือง” เป็นเรื่องที่แก้ได้ และต้องเริ่มแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่เรื่องของภัยธรรมชาติ

มลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่นถือเป็นกรรมที่มนุษย์เมืองเป็นผู้สร้าง และการรับกรรมนั้นไม่เท่ากัน คนบางคนเปราะบางกว่าคนอีกหลายคน เรื่องนี้ทำให้คนจำนวนนึงคิดว่าฉันสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยการอยู่ในอาคารที่มีระบบปรับอากาศ หรือใส่หน้ากากราคาแพง

ในขณะที่ในหลายกรณี มลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากฝุ่น แม้จะเกิดในเมืองก็อาจจะโทษพื้นที่โดยรอบได้ เช่น ในบางเมืองก็โทษการเผาหญ้า การใช้ฟืนและถ่าน หรือกระทั่งควันพิษในโรงงานอุตสาหกรรม

ในขณะที่ในกรุงเทพฯ เรายังไม่ได้มีการวิเคราะห์โครงสร้างมลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่นอย่างชัดเจน มีแต่บทสัมภาษณ์ของนักวิชาการบ้าง ผู้บริหารเมืองบ้าง

สิ่งที่มีคือ การวัดปริมาณมลพิษในพื้นที่แต่ละจุด ซึ่งก็อธิบายไม่ได้ว่า การเผาหญ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมอะไรจะนำมลพิษมาสู่ใจกลางเมืองได้

เรื่องที่เห็นกันชัดๆ แต่ไม่กล้าฟันธงก็คือ การก่อสร้างที่ไม่ได้มีระบบการป้องกันฝุ่นที่ดี แต่ก็ไม่พูดกัน แถมจะมาอ้างว่าฝุ่นก่อสร้างนั้นไม่ใช่ฝุ่นในระดับ 2.5 แต่เป็น 10

คำถามก็คือ ต่อให้ไม่ใช่ 2.5 แต่เป็น 10 ก็มีผลต่อคุณภาพอากาศและชุมชนโดยรอบมิใช่หรือ?

สองก็คือ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดก็คือเรื่องของมลพิษจากรถยนต์

ทีนี้คำถามก็คือ มลพิษจากรถยนต์เนี่ยแก้โดยแค่ใช้มาตรฐานรถยนต์ที่เข้มงวด และส่งเสริมให้ขนส่งมวลชนได้หรือ และได้ง่ายๆ หรือ?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ การออกมาตรการรถยนต์กระทบกับผู้คนจำนวนมากที่ต้องเดินทาง และเขาซื้อมาแล้วโดยไม่มีการแจ้งเตือนมาก่อน จะทำให้เกิดการเสียประโยชน์ได้อย่างทันที และถามว่าถ้าจะใช้การขนส่งมวลชนสาธารณะ ใครจะเดินไปใช้ได้ เพราะเมืองมัน “เดิน” ไม่ได้ มันไม่น่าเดินอีกต่อไป

และการออกแบบเมืองโดยใช้แค่สมองกับสายตาก็ไม่เพียงพอ เพราะไม่ได้ใช้จมูกมาช่วยวัดและส่งต่อไปที่การคิด

เมืองที่เดินได้ก็เดินไม่ได้ เพราะดมไม่ได้ (ฮา)

คำอธิบายอีกประการหนึ่งในเรื่องมลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่นที่เกิดใน กทม. ก็คืออากาศปิด ต้องรอฝนตก หรือต้องฉีดน้ำช่วยจากตึกสูง

สิ่งที่เขาค้นพบกันในโลกก็คือ ปัจจัยสำคัญในการออกแบบเมืองและวางผังเมืองที่ไม่ได้สนใจกันมากในอดีตแต่ปัจจุบันมีความสำคัญมากก็คือ “ลม” และ “ทิศทางลม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าใจระบบนิเวศเมือง

จากเดิมที่เข้าใจระบบนิเวศเมืองแค่เรื่องของต้นไม้ คน ความหนาแน่นของประชากร คูคลอง วันนี้การทำความเข้าใจทิศทางลมในเมือง และการระบายอากาศในเมืองกลายเป็นเรื่องใหญ่ เข้ามาเพิ่มความสำคัญในการออกแบบเมือง แทนที่จะเป็นแต่เรื่องของการออกแบบอาคาร ที่สนใจแค่ว่าลมจะมาปะทะอาคารแค่ไหน แล้วอาคารจะทนได้ไหม มาสู่ประเด็นว่า อาคารนั้นยิ่งสูงยิ่งกั้นลม ไม่ให้เกิดการระบายอากาศ และนั่นคือส่วนหนึ่งใช่ไหมที่ทำให้ฝุ่นมันไม่สามารถถูกระบายออกจากเมือง

เรื่องของการทำความเข้าใจทิศทางลมในเมือง และการระบายอากาศในเมืองจะทำให้เราเข้าใจประเด็นที่มากกว่าเรื่องของการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยถุงผ้า แต่มาเข้าใจเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ climate change หรือความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมกระทั่งภัยพิบัติทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อเมือง ซึ่งไม่ได้มีแต่เรื่องของภัยพิบัติในเชิงน้ำท่วม สึนามิ หรือแผ่นดินไหวเท่านั้น

เรื่องที่พูดนี่คือเรื่องที่เรียกว่า Urban Microclimate หรือภูมิอากาศในเมืองในระดับจุลภาค คือการพยายามใส่ใจว่าภูมิอากาศในเมืองเป็นอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานการรายงานสภาพอากาศในเมืองก็คงจะเปลี่ยนไป เช่น ไม่ได้สนใจแค่วันนี้อากาศจะร้อนหนาวแค่ไหน ฝนจะตกแค่ไหน หรือมีพายุมาไหม มาสู่การรายงานสภาพภูมิอากาศในเมืองโดยเฉพาะปริมาณมลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่น และพยายามทำความเข้าใจด้วยแบบจำลองการทำนายต่างๆ ในรายชั่วโมงว่าแต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไร

เมื่อเราเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้วว่า ตึกสูงนั้นมีส่วนสำคัญทำให้การระบายมลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่น ทำได้ยาก และที่สำคัญก็คือตึกสูงต่างๆ ทำให้ปริมาณรถในพื้นที่นั้นหนาแน่นด้วย เพราะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เมื่อนั้นเราจะเข้าใจว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น โทษฟ้าฝน หรือโทษรถยนต์และคนจนเผาหญ้าและถ่านใน กทม.ก็จะเริ่มลดไป ความจริงอีกด้านจะบังเกิด จะเริ่มเห็นว่าแนวทางการพัฒนาเมืองที่เป็นอยู่ เช่น คอนโดริมแนวรถไฟฟ้า แนวคิดเรื่องเมืองกระชับ (compact city) ซึ่งกำกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของ กทม.ที่เพิ่มความหนาแน่นในพื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของ กทม.แต่ไม่มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศเมืองในระดับจุลภาคเป็นปัญหาใหญ่ และการรายงานข่าวอากาศ กทม.ก็จะเหมือนปักกิ่งเมื่อหลายปีก่อน

ถ้าไม่ตั้งคำถามกับระบบผังเมืองที่เน้นความหนาแน่นและกระแสเมืองที่เน้นเรื่องการเดิน ขี่จักรยาน ปรับแต่งชุมชนแต่ไม่ถามคำถามใหญ่ว่าโครงสร้างอาคารหลักบังทิศทางลมแค่ไหน ตึกในเมืองหนาแน่นเกินไปแล้วไหม นิเวศวิทยาเมืองจะพังกันไปหมดในอีกไม่นาน คนจะเริ่มออกจากเมืองไปอยู่ในเขตชานเมืองอีกครั้ง หรือถ้าเขาต้องทนอยู่เขาจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงแค่ไหน

คิดอีกทีนะครับ เราอยู่ในห้องปรับอากาศก็ทำให้อุณหภูมิของเมืองร้อนขึ้นด้วย ก็น่าจะมีผลเพิ่มเติมต่อภูมิอากาศในระดับจุลภาคของเมืองเข้าไปอีก

มิพักต้องกล่าวถึงเรื่องของคนที่เปราะบาง เช่น รถเมล์ร้อน หาบเร่แผงลอย ชุมชนแออัด บ้านเช่าราคาถูก มอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้โดยสาร รวมทั้งห้องแถวที่อยู่ติดถนนมาก่อน (ผมห่วงหมา แมว นก และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ด้วย)

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันอีกครั้งก็คือ มลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่น เกิดจากการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว (rapid urbanization) โดยขาดการไตร่ตรองและมาตรการที่รอบคอบ การคำนึงถึงผลกระทบและการมีส่วนร่วมของประชาชน

การสร้างพื้นที่สีเขียวมีส่วนช่วยในการลดมลพิษทางอากาศในเมืองอันเนื่องมาจากฝุ่น แต่ไม่ใช่เรื่องการสร้างสวนสาธารณะเท่านั้น แต่หมายถึงเราต้องพัฒนาองค์ความรู้ว่าพืชแบบใดเหมาะที่จะปลูกในเมือง และต้องปลูกในแบบไหน เพื่อให้ดูดซับมลพิษทางอากาศได้

ถึงเวลาที่จะต้องทั้งทำความเข้าใจของมาตรการทางสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศในระดับจุลภาค รวมทั้งการออกแบบเมืองอย่างจริงจัง รวมทั้งทำความเข้าใจทั้งความเปราะบางของชีวิตเมืองและชีวิตของผู้คนบางกลุ่มในเมืองที่อำนาจน้อยแต่เสี่ยงมาก

การอนุมัติการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีตึกสูงจึงจะต้องคิดเรื่องของทิศทางลมและภูมิอากาศระดับจุลภาคของเมืองด้วย ไม่ใช่เน้นแต่อัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวต่อหน่วย หรือเน้นแต่ว่าลมในเมืองจะมีผลต่อตัวอาคารอย่างไร

ต้องมาคิดว่าตัวอาคารมีผลต่อลมที่จะเข้าออกจากเมือง และความร้อนที่จะเพิ่มขึ้นในบริเวณนั้นด้วย

เมืองมันเดินไม่ได้ เพราะมันดมไม่ได้ จะมาเดิน มาปั่นเปลี่ยนเมืองกันลูกเดียวไม่ได้หรอกครับ งานวิจัยชี้กันว่า ยิ่งออกกำลังกายในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศในเมืองมาก ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพก็จะมาก

ดูกับเดินไม่พอครับ ต้อง “ดม” ได้ด้วย

(ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก J.King. “Air Pollution, Mental Health, and Implications for Urban Design: A Review”. Journal of Urban Design and Mental Health. 4:6, 2018. “Wind Assessment for Urban Planning and Architecture”. Rheologic.net. J.Vidal. Air Pollutions Rising at an “Alarming Rate” in World’s Cities. The Guardian. 12 May 2016.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image