บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อคนที่ควรได้…? : โดย นพดล ปกรณ์นิมิตดี

จากข่าวที่ปรากฏจากสื่อออนไลน์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่กล่าวว่า การประเมินผลการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบื้องต้นพบว่าใช้ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขในบางจุด เช่น การลงทะเบียนรายบุคคลอาจไม่ตอบโจทย์ 100% เพราะบางครอบครัวมีฐานะดี แต่เมื่อลงทะเบียนรายบุคคล เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติรายบุคคลแล้วจะผ่านคุณสมบัติ เพราะไม่มีรายได้ ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไร จึงมีเหตุการณ์ว่าทำไมมีฐานะดีแล้วยังได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ประกอบกับสิ่งที่ได้พบเห็นเองด้วยตาตนเอง ก็คือ มีบุคคลบางคนซึ่งโดยสถานภาพที่ปรากฏ มิได้ยากจน หรือลำบากจนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ขับรถเก๋งส่วนบุคคล เพื่อไปจับจ่ายซื้อของโดยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พูดคุยโอ้อวดกับเพื่อนบ้านเสมือนตนเป็นผู้โชคดี ที่ได้เงินดังกล่าวมาฟรีๆ และกรณีอื่น เฉกเช่นที่ปรากฏเป็นข่าว ปัญหาที่ทำให้ผู้คนบางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจในประเด็นดังกล่าว หากจะสืบเสาะเรื่องราว คงต้องมองย้อนไปในประเด็นเรื่องคุณสมบัติผู้ขอลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

จากการค้นหาข้อมูลอันปรากฏในเว็บไซต์ของธนาคารออมสินที่เปิดให้มีการลงทะเบียนในระหว่างวันที่ 3 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลานั้นพบข้อมูลว่า ผู้ที่มีสิทธิลงทะเบียนต้องมีคุณสมบัติครบ ดังนี้

– มีสัญชาติไทย

Advertisement

– มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือต้องเกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2542

– มีสถานะว่างงาน หรือมีรายได้รวมในปี 2559 ทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท

– ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าวจะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559

Advertisement

– ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

ตัวเลข 18 ปีบริบูรณ์ มีนัยอะไรในทางกฎหมาย หากจะพิจารณาในแง่มุมทางข้อกฎหมาย บุคคลที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ยังเป็นบุคคลที่ไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลเหล่านี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ ผู้เยาว์ จะทำนิติกรรมใดๆ ก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอยู่ นะครับ หากดูตามสภาพ บุคคลกลุ่มนี้ก็คือ กลุ่มบุคคลที่กำลังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ หรือหากจบ ม.ปลาย แล้วไม่ศึกษาต่อ ออกไปทำงาน ก็ยังไม่น่าจะมีเงินทองมากมายอะไร บ้านช่องก็คงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือเช่าเขาอยู่ ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า บรรดานักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยก็น่าจะไปขอขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ใช่หรือไม่ และหากสมมุติเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็ดันเกิดขึ้นจริงๆ ด้วย คือ เคยเห็นด้วยตาตนเอง มีนักศึกษาพกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาแสดงเพื่อเข้าสอบ แทนบัตรนักศึกษา โดยอ้างว่าเป็นบัตรที่ทางราชการออกให้

ความเป็นห่วงในโครงการที่มีเจตนาดี แต่อาจทำให้บางคนตีความ หรือสร้างข้อครหาในลักษณะบิดเบือนได้ก็คือ ตัวเลขอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ มีนัยอะไรในทางกฎหมายต่อไปอีก คำถามและคำตอบซึ่งอาจคิดมากไป และอาจบังเอิญไปสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็คือ

มาตรา 95 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องถือว่าเป็นโครงการที่ดีของรัฐบาล โดยมุ่งช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีเจตนาที่ดีและเริ่มต้นได้อย่างถูกต้องแล้ว แต่อาจมีปัญหาในรายละเอียดของทางปฏิบัติ ซึ่งย่อมมีกันได้เป็นเรื่องปกติ แต่พี่น้องประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ในสังคมไทยจำนวนมาก ที่เขาอายุยังไม่ครบ 18 ปี และไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดูเลย หากจะพิจารณาเรื่องเกณฑ์อายุของผู้ลงทะเบียน กรณีต่ำกว่า 18 ปี จะได้หรือไม่

การเขียนเส้นกั้น ความจน ความรวย เป็นเรื่องยาก การเรียนในระดับอุดมศึกษาก็มิได้เกี่ยวกับความจนความรวยหรอกครับ บางคนพอจะช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ก็ยังรู้สึกตัวเองว่าจน หากรัฐให้อะไรก็รู้สึกอยากได้ไปหมด บางคนพอใจในการได้รับความช่วยเหลืออยู่ตลอด จะสอนให้ทำมาหากินก็ไม่อยากทำ

การคิดกำหนดคุณสมบัติผู้ขอลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ แม้จะลงทะเบียนเป็นครอบครัว หากคนในครอบครัว เขาไม่ได้ใช้นามสกุลเดียวกัน เช่น แม่ ลูก ใช้คนละนามสกุล แม้อยู่บ้านเดียวกัน ลูกเอาตัวรอดคนเดียว ไม่สนใจพ่อแม่ แล้วจะดูอย่างไรละครับ

ข้อเสนอใหม่ การกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะขอลงทะเบียน ในครั้งต่อไป

1.บุคคลธรรมดา ที่มีอายุครบเกณฑ์ยื่นคำขอมีบัตรประชาชน

2.มีรายได้ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ โดยต้องนำรายได้ของบุคคลที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้านอยู่ร่วมกันหรือไม่ มาคำนวณ (ข้อเสนอนี้อาจคล้ายคลึงกับการลงทะเบียนเป็นครอบครัว)

3.ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ไม่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีมูลค่า ทั้งทางโดยตรงและทางอ้อม และไม่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในทุกกรณี (ไม่ควรเปิดช่องว่างตรงนี้)

ข้อเสนอนี้ ต้องการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสมควรได้แก่ผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เพราะการที่จะดูเพียงรายได้ ทรัพย์สิน หรือการตกงาน อาจเป็นเรื่องยาก หากจะใช้ดูความยากจนของบุคคลที่ขอลงทะเบียน การดูสภาวะแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของบุคคลที่ขอลงทะเบียนน่าจะดี

หรือแม้การใช้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเพียงสัมภาษณ์หน้าบ้านเพียงครั้งเดียว ก็อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้

นพดล ปกรณ์นิมิตดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image