สัพเพเหระคดี : ลักเงินธนาคาร : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณจำนูญเป็นพนักงานธนาคารตำแหน่งพนักงานมีหน้าที่รับฝากและถอนเงินให้ลูกค้า

คุณจำนูญนั่งว่างๆ เกิดความคิดพิสดารขึ้นมา ใช้ใบถอนเงินที่ไม่มีชื่อลูกค้าในบัญชี หรือบางครั้งใช้ใบถอนเงินที่เป็นเท็จถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า บางครั้งใช้วิธีแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าว่าลูกค้าได้ถอนเงินจากบัญชีทั้งหมด แล้วนำเงินส่วนหนึ่งฝากกลับเข้าในบัญชีเดิมโดยไม่ครบจำนวน จากนั้นนำเงินส่วนที่เหลือไป โดยยังคงมีตัวเลขเงินฝากครบจำนวนในสมุดเงินฝาก แล้วนำเงินตามใบถอน หรือที่ได้แก้ไขบัญชีเงินฝากที่กล่าวมาไปเข้าบัญชีหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่นๆ แล้วบุคคลอื่นได้ถอนเงินที่คุณจำนูญนำเข้าบัญชีออกไป

ทำอยู่พักใหญ่เพลินโดยไม่มีใครรู้ตัว รวม 11 ครั้ง รวมเป็นเงินที่คุณจำนูญลักไปทั้งสิ้น 3,114,158.35 บาท

แต่ที่สุดมีคนรู้ตัวเข้าจนได้ เพราะคุณจำนูญไม่ได้กระทำต่อบัญชีลูกค้าธนาคารเพียงรายเดียว เมื่อเงินในบัญชีหายไปลูกค้าจึงเอะอะขึ้นมา ที่สุดธนาคารจึงแจ้งความดำเนินคดี

Advertisement

คุณจำนูญถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องว่าลักทรัพย์นายจ้าง คือ ธนาคาร ขอให้ลงโทษและให้ใช้เงินคืน

คุณจำนูญให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคุณจำนูญกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ให้ลงโทษจำคุก และให้ใช้เงินคืนแก่ธนาคาร

Advertisement

คุณจำนูญอุทธรณ์คดี ผลก็ไม่แตกต่าง

คุณจำนูญฎีกา ว่าที่กระทำนั้นไม่ใช่ลักทรัพย์นายจ้าง เป็นยักยอกต่างหาก (โทษเบากว่า)

ศาลฎีกาเห็นว่า คุณจำนูญจะมีหน้าที่รับฝากเงินและถอนเงินให้ลูกค้าของผู้เสียหายดังที่กล่าวมา แต่เงินที่คุณจำนูญทุจริตเอาไปนั้นล้วนแต่เป็นเงินที่ลูกค้าได้นำฝากเข้าบัญชีของลูกค้าไว้กับผู้เสียหายทั้งสิ้น เงินฝากดังกล่าวจึงเป็นของธนาคารผู้เสียหายและอยู่ในความครอบครองของธนาคาร มิได้อยู่ในความครอบครองของคุณจำนูญและคุณจำนูญใช้ใบถอนเงินหรือแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าผู้ฝากต่างกรรมต่างวาระมาในรูปแบบทางเอกสาร เป็นกลวิธีในการถอนเงินของธนาคารจนเป็นผลสำเร็จแล้วทุจริตนำเงินนั้นไป

การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์มิใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่คุณจำนูญฎีกา ฎีกาของคุณจำนูญฟังไม่ขึ้น

พิพากษาว่า คุณจำนูญมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก และใช้เงินคืนแก่ธนาคาร

คือ ลักทรัพย์ธนาคารที่เป็นนายจ้างนั่นเอง

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2545)
—————————————————-

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์

(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image