‘ชุดไปรเวต’ กับ‘เครื่องแบบนักเรียน’ โดย ปราปต์ บุนปาน

การทดลองให้นักเรียนแต่งกายในชุดไปรเวตได้หนึ่งวันต่อสัปดาห์ของ “โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน” ดูเหมือนจะเป็น “เรื่องไม่ใหญ่” ที่ก่อให้เกิดกระแสถกเถียงวงกว้างตามมา และสะท้อนถึงอะไรบางอย่างที่ใหญ่โตกว่านั้น

ปลายสัปดาห์ก่อน ได้ชมคลิปสัมภาษณ์สั้นๆ ที่ “ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล” แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เพจเฟซบุ๊ก FEED เกี่ยวกับกรณีวิวาทะเรื่องชุดไปรเวตดังกล่าว

อาจารย์อรรถพลเริ่มต้นด้วยการเกริ่นถึง “หน้าที่” เบื้องต้นของ “เครื่องแบบนักเรียน” ซึ่งแต่เดิมที ใช้เป็นเครื่องจำแนกแยกแยะว่าเด็กคนไหนได้ไปโรงเรียน และเด็กคนไหนยังเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นานวันเข้า “เครื่องแบบนักเรียน” ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบทบาท จนกลายเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ หรือการสร้าง “อัตลักษณ์ร่วม” ของสถาบันการศึกษาต่างๆ

Advertisement

ถึงจุดนี้ นักวิชาการจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มตั้งคำถามว่า แม้การมี “อัตลักษณ์ร่วม” จะไม่ใช่สิ่งผิด แต่การบังคับให้เด็กนักเรียนต้องใส่เครื่องแบบตลอดเวลา ถือเป็น
การทำลายความหลากหลายของเยาวชนหรือไม่?

นอกจากนั้น หากอ้างว่า “เครื่องแบบนักเรียน” ช่วยลด (หรือจริงๆ แล้ว คือ “กลบเกลื่อน”) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาจารย์อรรถพลก็เห็นว่าต่อให้มีเครื่องแบบใส่ ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงดำรงอยู่

ผ่านฐานะ-ความพร้อมทางเศรษฐกิจของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน ผ่านวัตถุข้าวของที่เด็กๆ นำติดตัวมาโรงเรียน ซึ่งแตกต่างกัน หรือผ่านนาฬิกาข้อมือที่แตกต่างกัน

Advertisement

หากจะสำรวจกรณีศึกษาของต่างประเทศ อาจารย์อรรถพลก็ยกตัวอย่างของญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัยสูง และมีภาพติดตา (ชาวไทย) เป็นเครื่องแบบนักเรียนมัธยมที่โดดเด่น

ทว่าในความเป็นจริง นักเรียนประถมของประเทศญี่ปุ่นกลับได้รับอนุญาตให้แต่งกายอย่างอิสระ เพราะโรงเรียนต้องการให้เด็กวัยนี้มีความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกนำเสนออัตลักษณ์ของตนเอง

สำหรับกรณีของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นักวิชาการจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เอ่ยเตือนว่าสังคมหรือผู้ใหญ่อย่าเพิ่งคิดไปไกลกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และอย่าไปวิตกกังวลเกินควรว่าความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ณ จุดนี้ จะไปทำลายคุณค่าดั้งเดิมที่เราเคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้

จากการทดลองในสัปดาห์แรก จะเห็นว่าเด็กๆ สามารถดูแลตัวเอง และเลือกสรรเสื้อผ้าได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น บรรดาผู้ใหญ่จึงไม่ต้องไปรีบห่วง รีบตัดสินใจแทนเยาวชน โดยการยึดติดกับแนวปฏิบัติ ค่านิยม และวัฒนธรรมแบบเดิมๆ

เพราะต้องไม่ลืมว่าวัฒนธรรมและกฎระเบียบทุกชนิดล้วนถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป และปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ให้ได้

ความพยายามจะฉุดรั้งชะลอการมาถึงของโลกยุคใหม่ต่างหาก ที่ส่งผลให้ “เรื่องที่ควรจะปกติ” กลายเป็น “เรื่องไม่ปกติ”

สุดท้าย อาจารย์อรรถพลเปรียบเทียบว่า กรณีทดลองใส่ชุดไปรเวตที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เป็นเหมือนแสงสว่างวาบหนึ่งที่ชวนตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่โรงเรียนต่างๆ (ทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐ) จะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องเล็กน้อย เรื่องชีวิตประจำวันของนักเรียนในสถานศึกษา ด้วยตัวเอง

ที่น่าพิจารณา คือ แนวปฏิบัติของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนนั้น เกิดจากการแสวงหากฎกติกาหรือข้อตกลงใหม่ร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เกิดจากการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างครู นักเรียน ผู้บริหาร และผู้ปกครอง

โดยมีจุดมุ่งหมายตรงกัน ได้แก่ การทำให้เด็กๆ มีแรงจูงใจและมีความสุขในการมาโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

นักวิชาการสาขาครุศาสตร์ชี้ว่าการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างพร้อมหน้ากัน จนนำไปสู่ข้อเสนอที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับเช่นนี้

ถือเป็นภาพสะท้อนของ “ชุมชนที่แน่นแฟ้น” เสียยิ่งกว่าการบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องใส่เครื่องแบบเดียวกันเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image