สุจิตต์ วงษ์เทศ: จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบาย นาตาแฮก แรกนาขวัญ พิธีกรรมบงการธรรมชาติของคนดึกดำบรรพ์

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2559 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม (ภาพจาก มติชน ฉบับวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2559 หน้า 1)

แรกนา เป็นพระราชพิธี มีในกฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยา มากกว่า 500 ปีมาแล้วแล้วทำสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน มีต้นทางจากนาตาแฮก ประเพณีของคนลุ่มน้ำโขง (คำว่า แฮก เป็นคำลาว ตรงกับคำไทยว่า แรก)
พระราชพิธีเกี่ยวกับข้าวปลาอาหาร การทำมาหากินของชาวนาชาวไร่ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ล้วนมีพัฒนาการจากความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาผีราว 3,000 ปีมาแล้ว
นาตาแฮก เป็นพิธีกรรมบงการ (ไม่ร้องขอ) ธรรมชาติ คำอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ จะคัดโดยจัดย่อหน้าใหม่มาดังนี้

ความเชื่อถือแบบดั้งเดิมเก่าแก่ ที่เชื่อว่า ถ้าเราจำลองเลียนแบบธรรมชาติขึ้นแล้ว ก็จะบันดาลหรือบังคับให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงดังใจปรารถนา.
ชาวนาแต่ก่อนเมื่อจะลงมือดำนา จะต้องสร้างนาจำลองขนาดสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดำกล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจำลองนั้นเรียกว่า ตาแรก หรือ ตาแฮก (ตา = ตาราง :

แรก คือ แรกเริ่มดำ). ถ้าบำรุงข้าวในตาแรกนั้นได้งาม ข้าวในนาทั้งหมดก็จะงามตามไปด้วย.
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความเชื่อถือดั้งเดิม ที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถบังคับธรรมชาติได้ด้วยการจำลองแบบธรรมชาติย่อส่วนลงมาทำด้วยมือของมนุษย์เองก่อน.
ยังมีพิธีกรรมอีกหลายอย่างในชีวิตของชาวนาไทย-ลาว ที่ใช้วิธีจำลองแบบธรรมชาติเพื่อบังคับให้ธรรมชาติเป็นไปตามแบบที่จำลอง ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้เป็นการ บงการ (command) มิใช่ วิงวอน (implore).
[จากหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526 หน้า 350]

แนวคิดและคำอธิบายอย่างนี้ ก่อน พ.ศ. 2526 ผมไม่เคยรู้ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น เมื่ออ่านแล้วทำให้ตาสว่าง หลุดพ้นจากตำรากระแสหลักสมัยนั้น
งานวิชาการหลายเล่มของ จิตร ภูมิศักดิ์ ผมอ่านเล่มละหลายรอบ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นมาของคำสยามฯ เพราะฉลาดไม่พอจะอ่านเข้าใจในรอบเดียว
รอบแรก อ่านเอาอร่อย เพราะถ้อยคำสำนวนโวหารกึ่งวิชาการ มันมีพลังมหาศาล ตะลุยอ่านไปรู้สึกเลือดพล่านทั่วตัว อร่อยโคตรๆ
รอบหลัง อ่านเอาเรื่อง เพราะเนื้อหาเป็นวิชาการล้วนๆ หลักๆ ในแต่ละประเด็นออกแนวขบถ แหกคอก นอกครู ต้องอ่านทบทวนอย่างละเอียด บางทีงุนงงสงสัยต้องใช้เวลาขบคิดพูดคุยซักถามผู้รู้หลายวัน หลายเดือน หลายปีก็มี

Advertisement

เบสิคดี จะช่วยให้อ่านเข้าใจวิชาการของ จิตร ภูมิศักดิ์ แม้ไม่หมด ก็ช่วยได้มาก
ตรงนี้ผมได้เบสิคอย่างน้อย 2 ทาง จากนักปราชญ์ราชบัณฑิตและครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อย

1. ภูมิประเทศและคำอธิบายแนวกว้าง ได้จาก อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ตอนผมเป็นนักศึกษา แล้วติดตามท่านไปสำรวจทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเกือบทั่วประเทศ แม้เรียนจบแล้วก็ติดตามอ่านงานของท่านไม่ขาดจนปัจจุบัน
2. ภาษาถิ่น จากหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ของเจ้าฟ้าฯ นริศ กับ เจ้าคุณอนุมานราชธน ที่ซื้อมาอ่านอย่างมะงุมมะงาหรา ทั้งชุดมี 5 เล่ม (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2506) นอกนั้นจากงานวิชาการของ อ. ประเสริฐ ณ นคร ผมได้จากการอ่านงานวิชาการของท่านเกือบหมด

จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งทางนิรุกติศาสตร์ อธิบายความหมายของคำดั้งเดิม แต่นักวิชาการรุ่นใหม่ทิ้งหมด เลยมองข้ามความสำคัญของชื่อบ้านนามเมือง ซึ่งมีส่วนบอกความเป็นมาของท้องถิ่นนั้นๆ บางทีย้อนหลังเป็นพันๆ ปี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image