เดินหน้าชน : กกต.ต้องทำหน้าที่ : โดย สัญญา รัตนสร้อย

การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกรอบ 150 วันนับจาก 11 ธันวาคม 2561 จะไปสิ้นสุด 9 พฤษภาคม 2562

ต้องย้ำเตือนว่า ช่วงเวลาที่ว่าล่วงผ่านไปแล้วกว่าหนึ่งเดือน

จนถึงขณะนี้ยังคงอยู่ในวังวนไม่สามารถกำหนดแน่นอน วันเลือกตั้งจะไปตกฟากวันไหน

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ แม้จะไม่ถือ “เป็นทางการ” แต่เราก็รับรู้รับปักหมุดกันมาตลอดว่า จะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

Advertisement

ล่าสุดมีสัญญาณที่เป็นไปได้สูง วันกาบัตรต้องเลื่อนออกไปอีก หลังจากขยับขยายมาแล้ว 4 ครั้ง

บางพรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ยึดตามกำหนดเดิม 24 ก.พ.

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์เรียกร้องรัฐบาลและ คสช. “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลา” ในหลายพื้นที่สาธารณะ

Advertisement

รัฐบาล-คสช.อาจดูเบาได้ ด้วยสายตาที่มองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็น “ขาประจำ” แซะทุกครั้งที่มีจังหวะ

ปิดท้ายด้วยข้อสรุป กำหนดเลือกตั้ง วัน ว. เวลา น.ใด เป็นอำนาจ กกต.เพียงผู้เดียว หาใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาลและ คสช.แต่ประการใด

ขณะที่ กกต.ผู้มีหน้าที่โดยตรงก็ยังตีกรรเชียงออกไปได้ ด้วยข้ออ้างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งยังไม่ประกาศออกมาเป็นอย่างทางการ

แต่อย่างน้อย นอกเหนือจากทั้งสองกลุ่มข้างต้นที่ต้องการให้จัดการเลือกตั้ง 24 กุมภาฯ หรือเหตุผลข้ออ้างของ กกต.ก็ตามที

ผลสำรวจจากสำนักสวนดุสิตโพล ก็น่าสดับตรับฟังไว้เช่นกัน

สวนดุสิตโพลไปสุ่มสำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไร? กับการเลื่อนเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ 24 กุมภาพันธ์”

ชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสียที่จะเกิดขึ้น ก็สะท้อนกระแสสังคมบางอย่าง

ข้อดี-ร้อยละ 48.45 กลุ่มตัวอย่างมองว่า ทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัว ลงพื้นที่หาเสียงได้มากขึ้น ร้อยละ 29.19 มองว่า กกต.มีเวลาเตรียมการต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างรอบคอบ รัดกุม และร้อยละ 27.95 มองว่าประชาชนมีเวลาในการตัดสินใจมากขึ้น

ข้อเสีย-ร้อยละ 49.17 มองว่าบ้านเมืองขาดเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ร้อยละ 44.97 ทิศทางการเมืองไม่ชัดเจน อึมครึม เสียเวลา ร้อยละ 30.70 เกิดความขัดแย้ง ใส่ร้าย โจมตีทางการเมืองมากขึ้น

หรือกับคำถามว่า การเลื่อนเลือกตั้งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าหรือไม่ พบว่าร้อยละ 63.75 มองว่าไม่คุ้มค่า มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจ การเมืองขาดเสถียรภาพ เสื่อมเสียภาพลักษณ์ เป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง

มีเพียงร้อยละ 36.25 มองว่าคุ้มค่า มีเวลาในการเตรียมความพร้อม และพิจารณาดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้อย่างรอบคอบมากขึ้น จะได้ไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

เป็นความจริงที่ว่าการกำหนดวันเลือกตั้ง มีความสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่มิใช่ความสำคัญเดียวแห่งภาพรวมการเลือกตั้งในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

นั่นคือ กกต.ยังมีอำนาจหน้าที่ควบคุม จัดเลือกตั้ง ให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม เท่าเทียม

สนับสนุนให้แต่ละพรรคการเมืองมีความเสมอภาค ในการชี้แถลงไขนโยบายแก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญของการเลือกตั้ง

ลบล้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์สองมาตรฐาน บางพรรคใช้สถานที่ราชการเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงได้ ขณะที่อีกบางพรรคถูกปิดกั้น

กกต.มีอำนาจออกคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติการอันจำเป็นในการเลือกตั้ง

ขอย้ำมีอำนาจออก “คำสั่ง”

ทำหน้าที่หรือยัง

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image