‘เลื่อน’ ศาสตร์ : โดย กล้า สมุทวณิช

ถ้าใครเป็นแฟนหนังสือแนวพัฒนาตัวเองและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานคงทราบดีว่า หนังสือขายดีติดอันดับหนึ่งคือหนังสือว่าด้วยการบริหารเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขเอาชนะนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง

เพราะการผัดวันประกันพรุ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการบริหารเวลาและการทำงาน ที่ทำให้หลายคนสูญเสียศักยภาพหรือชื่อเสียงความน่าเชื่อถือไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเมื่อหลายคนที่สงสัยว่าทำไมตนเองไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อสำรวจตรวจค้นจริงๆ ก็มักจะเห็นจุดอ่อนตรงกันในเรื่องของการผัดวันประกันพรุ่ง

การไม่ทำสิ่งที่ควรทำในเวลาที่ควรทำ หรือในเวลาที่พอจะยังทำได้อยู่ ด้วยการผัดผ่อนเลื่อนกำหนดเวลาของมันออกไปเรื่อยๆ อาจมีได้สองรูปแบบ คือการไม่ยอมกำหนดลงไปเสียทีว่าจะทำเรื่องนั้นเมื่อไร หรือในกรอบเวลาใดตั้งแต่ต้น กับอีกวิธีคือการกำหนดไว้ว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่แล้วก็ไม่ได้ทำตามนั้นเมื่อเวลามาถึง หรือก่อนเวลามาถึง โดยผัดผ่อนกำหนดเวลาใหม่

พูดง่ายๆ คือการ “เลื่อน” ไปก่อน

Advertisement

สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกันประการหนึ่ง คือ แท้จริงแล้วการ “เลื่อน” สิ่งที่ต้องทำในเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในรูปแบบการจัดสรรเวลาแบบใหม่ที่จะมองเวลาเป็นกล่องหรือสล็อตนั้นแตกต่างจากการเลื่อนแก้วน้ำที่วางไว้บนโต๊ะ เพราะการเลื่อนทางกายภาพนั้น แก้วน้ำเพียงถูกผลักออกไปห้าเซนติเมตรจากจุดที่มันเคยอยู่ พิกัดของมันเปลี่ยนไป แต่ตัวแก้วน้ำก็ยังเป็นแก้วน้ำใบเดิม

แต่การ “เลื่อน” บนเส้นหรือตารางเวลานั้น คือการ “ยกเลิก” กำหนดการของเดิมออกไป นั่นคือสิ่งนั้นหายไปชั่วคราว เพื่อจะถูกกำหนดลงใหม่ในเส้นหรือกล่องเวลาพิกัดใหม่

ดังนั้นตราบใดที่เรื่องนั้นยังไม่ถูกกำหนดขึ้นอีกครั้ง ก็ย่อมถือว่ามันมีสถานะ “ยกเลิก” อยู่

เช่นนี้แล้วทำไมคนเราถึงต้อง “เลื่อน” หรือ “ผัด” ?

เหตุผลง่ายที่สุดข้อที่หนึ่ง คือการเลื่อนเพราะไม่อาจทำสิ่งนั้นได้แน่แท้ เช่น กำหนดนัดให้ส่งงานชิ้นหนึ่งในเช้าวันที่ 16 มกราคม 2562 แต่ถ้างานชิ้นนั้นยังทำไม่เสร็จ และไม่อาจเสร็จได้อย่างแน่แท้แล้ว กำหนดส่งนั้นก็ต้อง “เลื่อน” (หรือให้ถูกจริงๆ คือการยกเลิก) ไปนั่นเอง เพราะอย่างไรก็ไม่อาจส่งงานที่สมบูรณ์ได้ตามกำหนด นี่คือสาเหตุของการ “เลื่อน” ที่ตรงไปตรงมา

เหตุของการเลื่อนอีกแบบหนึ่งที่เข้าข่ายเป็นการผัดวันประกันพรุ่ง คือการเลื่อนเพราะไม่อยากทำในขณะนั้นแม้โดยเงื่อนไขความเป็นไปได้แล้วจะทำก็ได้ แต่เพราะเหตุบางอย่างที่ทำให้อึดอัด ลังเลใจ หวาดหวั่น หรือไม่กล้าเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ของมัน เช่น การกำหนดไปหาหมอฟันของคนที่กลัวการทำฟัน หรือการขอความเห็นแบบตรงไปตรงมาหรือฟีดแบ๊กจากเจ้านายหรือลูกน้อง ที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรบางอย่างได้บกพร่องร้ายแรง

การเลื่อนด้วยเหตุเพราะไม่กล้ายอมรับหรือเผชิญหน้ากับความจริงนี้ มีผู้อธิบายว่า เหมือนกับการหนีเข้าไปในสนามเด็กเล่นอันมืดมิด (The Dark playground) เพื่อเล่นสนุกให้ตัวเองรู้สึกดีโดยไม่ต้องเห็นภาพแห่งความจริงที่บีบรัดหรือชวนให้เจ็บปวด เช่น คนหมดรักที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้มีความสัมพันธ์กันเหมือนเดิมไปแกนๆ เพียงเพื่อให้อุ่นใจได้ว่ายังไม่ได้เลิกรากัน แม้ในใจจะไม่เหลือความไยดีต่อกันหรือคิดถึงแต่คนใหม่แล้วก็ตาม

ส่วนการเลื่อนด้วยสาเหตุสุดท้ายนั้น เป็นกรณีที่ไม่ใช่ว่าจะทำเรื่องนั้นไม่ได้ในขณะนั้น หรือไม่ใช่แม้แต่การไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงแล้วพยายามหลบเลี่ยงด้วยกลไกปกป้องตัวเอง แต่เป็นการผัดวันประกันพรุ่งหรือการเลื่อนที่มีเจตจำนง นั่นคือการ “เลื่อน” ตามลำดับความสำคัญ

ท่านที่ผมนับถือผู้หนึ่งเคยให้นิยามของการ “ไม่มีเวลา” ในการทำเรื่องต่างๆ เอาไว้ ที่นำมาใช้อธิบายได้ดีที่สุด คือ “ถ้าคุณบอกว่าไม่มีเวลาทำเรื่องใด นั่นแปลว่าคุณเห็นว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ”

ขีดเส้นใต้ที่ “คุณเห็นว่า” เรื่องนั้น “ไม่สำคัญ” ด้วยว่า หมายถึงสิ่งนั้นอาจจะสำคัญในทางความเป็นจริงหรือไม่ก็ได้ แต่สำหรับตัวคุณในทางอัตวิสัยแล้ว เห็นว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ เช่น การออกกำลังกาย ที่จริงๆ มันเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำแบบไม่มีใครปฏิเสธ แต่ที่เราหลายคนอ้างว่าไม่มีเวลาก็เพราะเห็นว่าเรื่องอื่น เช่น การทำงานหาเงิน หรือการพักผ่อนให้สบายกายสบายใจนั้นสำคัญหรือมีคุณค่าต่อเรามากกว่า

เราจึงผัดผ่อนวาระเรื่องการออกกำลังกายออกไปโดยไม่มีกำหนด เช่น คำเสียดสีจุกเจ็บที่ว่า วันที่ผู้คนจะออกกำลังกายกันมากที่สุด คือ “วันพรุ่งนี้”

หลักการเรื่อง “เวลาที่จัดสรรให้ = ความสำคัญ” นี้ใช้อธิบายได้ดีในเรื่องของ “เลื่อน” อะไรสักอย่างเมื่อมีเหตุแทรกซ้อน

นั่นคือตัวผู้เลื่อนนั้น อาจจะกำหนดหมายใจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ก่อนแล้ว ถ้าเป็นวิธีการจัดการเวลาที่นิยมกันในปัจจุบัน ก็คือการใส่มันในกล่องเวลาในปฏิทินทั้งแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กำหนดว่าวันเสาร์ 19 มกราคม 2562 เวลา 10.00-18.00 น. นั้นจะมี “กิจกรรมร่วมกับครอบครัว” คือการพาครอบครัวไปรับประทานอาหารกลางวันและเที่ยวงานเทศกาลหนังสือด้วยกัน

เขาอาจจะกำหนดวันเช่นนั้นเอาไว้ตั้งแต่ค่ำวันอาทิตย์หรือเช้าวันจันทร์ก่อนหน้า แต่ระหว่างนั้นในสัปดาห์ก็ได้ทราบว่าวันเสาร์ที่ 19 มีงานเลี้ยงวันเกิดของเจ้านายคนหนึ่งที่เหมือนการ “เช็กชื่อ” คนในองค์กรหรือที่ทำงานว่าใครยังเป็นพรรคเป็นพวกระดับสนิทชิดเชื้อ หรือยังภักดีประสงค์จะอยู่ใต้ร่มเงาอุปถัมภ์ของท่านผู้นั้น แสดงผ่านการไปแสดงตนในงานวันเกิดในเช้าถึงบ่ายวันเสาร์ ซึ่งเป็นเวลาที่เขาผู้นั้นกำหนดไว้ก่อนแล้วว่าจะพาครอบครัวไปพักผ่อนร่วมกัน

เช่นนี้ เขาต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ความสำคัญในส่วนตัวของเขาแล้ว ว่าระหว่างความสะดวกหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน กับความสุขของครอบครัว สิ่งใดคือเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากกว่ากัน

หากครอบครัวสำคัญกว่า กำหนดการงานวันเกิดของท่านผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถใส่ลงไปในกล่องเวลาที่มีคำว่า “กิจกรรมร่วมกับครอบครัว” บรรจุอยู่เต็มแล้วได้

แต่หากเรื่องเข้าคารวะท่านผู้ใหญ่นั้นสำคัญกว่าแล้ว กำหนดการกิจกรรมร่วมกับครอบครัวเดิมก็จะถูกลบออกจากกล่องเวลาแล้วถูกกิจกรรมที่ชื่อว่า “ร่วมคารวะและอวยพรปีใหม่ท่าน XXX ที่บ้านพัก” บรรจุลงไปแทน

การเลื่อนแบบนี้จึงอยู่บนพื้นฐานของ “ความรู้สึก” ที่คนเลื่อนเห็นว่าสำคัญเป็นปัจจัย หรือแม้จะเห็นว่าสำคัญทั้งคู่ แต่นั่นก็จะยังมีลำดับก่อนหลัง เช่น ครอบครัวก็สำคัญนะ แต่เรื่องจะเที่ยวนั้นไปกันเมื่อไรก็ได้ อาทิตย์หน้าก็ยังมี แต่ถ้าไม่ไปงานวันเกิดของท่าน XXX เราอาจจะไม่ได้ตำแหน่งที่หมายตา และจากนั้นก็จะไม่ได้เงินเดือนขึ้นที่จะเอามาดูแลสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว การชั่งน้ำหนักเช่นนี้ก็จะส่งผลให้กิจกรรมของครอบครัวถูกเลื่อน (หรือพูดให้ถูกอีกครั้ง คือ “ยกเลิก”) ไปก่อนนั่นเอง

กระนั้น หากเกิดเหตุแทรกซ้อนขึ้นมาระหว่างนั้นอีกชั้นหนึ่ง ลำดับการชั่งน้ำหนักความสำคัญก็จะเปลี่ยนไป เช่น ระหว่างที่รอมอบกระเช้าให้ท่านผู้ใหญ่ ภรรยาของเขาก็โทรมาบอกว่า เมื่อไม่ได้ไปงานหนังสือตามที่พ่อสัญญาไว้ ลูกชายวัยรุ่นก็เลยออกไปซ้อนมอเตอร์ไซค์เพื่อนเที่ยวเล่นแล้วประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัสอยู่โรงพยาบาล ข้อมูลนี้ก็จะทำให้ลำดับความสำคัญเปลี่ยนไปอีกครั้ง ที่เชื่อว่าวิญญูชนคนปกติ ก็คงจะทิ้งภารกิจการคารวะท่านผู้ใหญ่เพื่อกลับไปดูแลลูกซึ่งเป็นเรื่องของครอบครัว

การ “เลื่อน” จึงลื่นไหลไปตามลำดับความสำคัญดังนี้เอง

อันที่จริงการ “เลื่อน” ตามลำดับความสำคัญซึ่งเป็นแบบหลังนี้พอจะเข้าใจได้ตามความจำเป็นของมนุษย์ปุถุชน การเลื่อนแบบแรกคือไม่อาจทำสิ่งนั้นได้ เช่น งานไม่เสร็จ หากไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่เกิดจากความไม่รับผิดชอบก็เป็นเรื่องน่าตำหนิ ส่วนการเลื่อนเพราะผัดผ่อนไปไม่อยากเผชิญหน้ากับความจริงหรืองานยากลำบากนั้นเข้าใจได้ยากที่สุด เช่นนี้หลายครั้งหากหลายคนจะ “เลื่อน” ด้วยเหตุประการที่หนึ่งหรือสอง ก็มักจะอ้างเหตุความจำเป็นหรือความสำคัญประการที่สามเพื่อให้มีน้ำหนักเหตุผลเพียงพอที่จะผ่อนผันออกไปก่อนบ้าง

บางคนอาจจะมีประสบการณ์ส่งงานไม่ทัน แล้วอ้างว่าพ่อแม่เข้าโรงพยาบาล หรือไม่พาลูกเมียไปเที่ยวตามที่สัญญาไว้เพียงเพราะแค่อยากจะไปสังสรรค์เที่ยวเล่นกับผองเพื่อน แต่ก็อ้างว่ามีงานที่บริษัทต้องไปเคลียร์ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับการอภัยโทษจากเจ้าของงานที่ต้องส่ง หรือครอบครัวไม่ถือโกรธน้อยใจว่าพ่อไม่รัก

การ “โกหก” เพื่อขอ “เลื่อน” นี้ นานวันเข้า หากความจริงปรากฏ หรือต่อให้ไม่ปรากฏแต่กลายเป็นความชินชา ก็จะเข้าตำรานิทานเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ” ที่แม้ว่าต่อไปจะให้เป็นความจริงก็จะไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป

แม้เหตุผลในการ “เลื่อน” หรือประวิงผัดผ่อนในครั้งล่าสุดนั้นจะฟังขึ้นหรือเข้าใจได้ หรือเป็นเรื่องที่น้ำท่วมปากไม่อาจอธิบาย แต่ความที่ผู้เลื่อนผู้ผัดใช้สารพัดข้ออ้างมาแล้วหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้า ผู้ถูกเลื่อนหรือผู้รับสัญญาก็อาจจะมองว่า นี่ก็เป็นเพียงอีกครั้งหนึ่งที่ถูกปดหลอกเพื่อเอาตัวรอดไปอีกครั้งครา

ถ้าคุณทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเพราะพ่อแม่เกิดล้มในห้องน้ำกะทันหันจริงๆ เมื่อคุณแจ้งไปที่เจ้าของงานเพื่อขอเลื่อนขอลา เขาอาจจะบอกให้คุณไปดูแลพ่อแม่ของคุณต่อไปเถิด ไม่ต้องทำงานกับเราแล้ว

หรือถ้าคุณเกิดจะมีวาระงานสำคัญที่ต้องทำเดี๋ยวนั้นแทรกขึ้นมาจริงๆ ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 20 ซึ่งสัญญาว่าจะพาลูกไปเที่ยวงานเทศกาลหนังสือ LIT Fest ที่มิวเซียมสยาม แต่งานแทรกนั้นเป็นงานที่ถ้าไม่ทำให้เสร็จในวันนั้นหรือไม่ได้ไปพบบุคคลสำคัญที่นัดไว้แล้ว อาจจะทำให้เสียงานเสียการถึงขั้นล้มละลายเลิกจ้าง แต่เมื่อคุณได้ใช้โควต้าแห่งความไว้วางใจหมดไปนานแล้วเพราะผิดสัญญาครอบครัวมานับครั้งไม่ถ้วนในครั้งที่คุณแค่อยากออกไปกินเหล้ากับเพื่อน และงาน LIT Fest ที่ว่านั้นก็จัดถึงเพียงวันที่ 20 เท่านั้น ไม่มีโอกาสแก้ตัวอีก คุณอาจจะไม่สามารถพูดคุยกับลูกหรือครอบครัวได้เช่นที่เคยตลอดกาล

การ “เลื่อน” หรือ “ยกเลิกไปก่อน” ในครั้งต่อไปจึงมี “ราคา” ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้

ทั้งหมดข้างต้นคือศาสตร์แห่งการ “เลื่อน” ที่ผมได้เรียนรู้มาจากหนังสือแนวพัฒนาตัวเองและผู้รู้ทั้งหลาย ซึ่งมันปรับใช้ได้แม้แต่สัญญาว่าจะพาลูกไปเที่ยว หรือแม้แต่การจัดการเลือกตั้ง

กล้า สมุทวณิช

สําหรับ LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ ! ที่อ้างถึงนั้น คือเทศกาลหนังสือ ดนตรี ศิลปะ ในสวนที่จากกว่า 30 สำนักพิมพ์ รวมถึงสำนักพิมพ์มติชนด้วย กระทบไหล่ชนแก้วปิกนิกกับนักเขียน นักแปล บรรณาธิการกว่า 100 คน เต้นรำชิล…ชิล กับ 15 วงดนตรี เอ็นจอยกับ Book Club ลับสมองจนไฟลุก สนุกกับหนัง ละครเวที แสงสีกลางแจ้งเคล้าลมหนาว ในบรรยากาศสบายๆ อิ่มอร่อยกับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ ที่มิวเซียมสยาม ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคมนี้ ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.facebook.com/events/1983103335323516/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image