วันเด็ก…แก่นแท้คืออะไร โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน,พจนา อาภานุรักษ์

ที่มาภาพ : ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ

“เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” แล้ววันเด็กปีนี้ ประเทศไทยทำอะไรให้เด็กบ้าง? เราฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ด้วยคำว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่เด็กจะมีอนาตที่ดีได้ต้องเริ่มจากการเตรียมการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน ทั้งกาย จิต และสังคม เพื่อให้เขาเติบโตอย่างงดงามแบบที่ตัวเขาอยากจะเป็นและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ควบคู่ไปกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับสังคมรอบตัวเขา

ตลอดปี 2561 ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้สังเคราะห์เอกสาร ศึกษางานวิจัย และลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน พบสถานการณ์ปัญหาสำคัญของเด็กและเยาวชน ทั้งปัญหาภาวะโภชนาการ ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี 2560 เด็กอายุ 0-5 ปี สูงดีสมส่วน 49.8% ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเป้าหมายปี 2560 ตั้งไว้ที่ 51% ในขณะที่ 13% ของเด็กอายุ 5-12 ปี เริ่มมีภาวะอ้วนและอ้วน 10.5% ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเตี้ยปานกลางถึงมาก และ 2.6% อยู่ในเกณฑ์เตี้ยมาก สาเหตุสำคัญของภาวะไม่สมส่วนของร่างกายนอกจากอาหารและโภชนาการไม่เพียงพอแล้ว ยังมาจากการมีกิจกรรมทางกายน้อย มีพฤติกรรมเนือย
นิ่ง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับหน้าจอโทรทัศน์และสมาร์ทโฟน จากการสำรวจในปี 2559 ไอคิวและอีคิวในเด็กชั้น ป.1 ทั่วประเทศจำนวน 23,641 คน พบว่ามีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 98.2 สูงขึ้นกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2554 แต่อย่างไรก็ดี ในปี 2560 16% ของเด็ก 0-5 ปี ยังมีพัฒนาการสงสัยล่าช้า

เมื่อก้าวเข้าสู่ชั้นเรียน เด็กไทยต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน คิดป็นหนึ่งในสามของเวลาตลอดทั้งวัน และมีเวลาพูดคุยเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตนเองกับพ่อแม่เพียงวันละ 10 นาทีเท่านั้น มีข้อมูลจากนักวิจัยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่เด็กมีเวลาเรียนที่เยอะที่สุดในโลก เป็นอีกสาเหตุที่ทำ
ให้มีเด็กไทยต้องออกกลางคันจำนวนปีละ 900 คน มีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่อยากเรียนหนังสือเพราะเบื่อหน่ายกับการใช้เวลาในห้องเรียน
แล้วธรรมชาติของเด็กคืออะไร?

จากการศึกษาข้อมูลสถานการณ์ของเด็กจะพบว่าสิ่งที่สอดคล้องกันคือภาวะอ้วนของเด็กเกิดจากกิจกรรมในชีวิตที่ไม่ได้ active มากพอ ทางศูนย์วิชาการฯได้ลงพื้นที่ศึกษาการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยใช้กิจกรรมที่หลากหลายทั้งจังหวัดระยอง อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ยะลา สิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกันคือการใช้ชุมชนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อสร้างการเรียนรู้ เด็กๆ ได้มีโอกาสลงไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชุมชนด้วยการเป็นเจ้าของโจทย์การเรียนรู้ของตัวเอง เกิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ เกิดพื้นที่ทางความคิดแบบอิสระไม่มีถูกไม่มีผิด เด็กๆ ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกผู้ใหญ่ตำหนิ

Advertisement

เหล่านี้คือการเรียนรู้ที่จะช่วยหล่อหลอมความเป็นตัวตนของเด็กโดยที่ไม่ถูกครอบงำจากระบบคิด แบบเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ในขณะที่เด็กในเขตเมืองกลับเป็นผู้ด้อยโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนรอบตัวเพราะขาดมิติความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในรูปแบบเครือญาติและให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากกว่า
แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสมากกว่าในการเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้สาธารณะ

เมื่อศึกษาในระดับนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่ชาติ ฉบับที่ 2 แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2564 และกลยุทธ์กรมเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 พบชุดคำที่สะท้อนวิธีคิดในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี “Mindset” ของ Carol S. Dweck ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นักวิจัยระดับโลกด้านบุคลิกภาพ จิตวิทยาสังคม และจิตวิทยาพัฒนาการ กล่าวคือ Mindset หรือวิธีคิดมีผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เพราะเป็นตัวกำกับวิธีการตัดสินใจและวิธีการรับมือจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

Dweck ค้นพบกรอบความคิด 2 รูปแบบ คือ กรอบความคิดแบบติด (Fixed Mindset) และกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) โดยคนที่กรอบความคิดแบบติดเกิดจากการเลี้ยงดูที่สอนให้ให้ความสำคัญกับการเป็นคนฉลาด และคุณสมบัติของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไป ต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีสติปัญญาและมีศีลธรรมมากพอที่จะได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ในขณะที่คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต มีความเชื่อว่าคุณสมบัติพื้นฐานของคุณคือสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายาม ทั้งพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ความสนใจ ความถนัด นิสัย สามารถเปลี่ยนแปลงและเติบโตด้วยความพยายามและประสบการณ์

Advertisement

ซึ่งเราก็ต้องย้อนกลับมาดูวิธีการพัฒนาเด็กและเยาวชนว่าเราสร้างเด็กที่มีกรอบความคิดแบบไหน และด้วยวิธีการที่ตั้งต้นจากกรอบความคิดแบบใด?

วิธีคิดในการพัฒนาเด็กสะท้อนจากคำที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย จากการทบทวนวรรณกรรม เอกสารงานวิจัยทฤษฎี Mindset และการสัมภาษณ์ผู้
ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน พบว่าชุดคำที่สะท้อน Fixed Mindset ในแผนนโยบาย เช่น …ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด …จำกัด ควบคุม… สอดคล้อง/เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาระดับชาติ …ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ และพบชุดคำที่สะท้อน Growth Mindset เช่น …มีอิสระ …ยืดหยุ่น …สอดคล้องกับบริบท ปรับให้เหมาะสมกับ… …มีส่วนร่วม เปิดโอกาส… ความคิดสร้างสรรค์ สร้างการเปลี่ยนแปลง และคิดนอกกรอบ ซึ่งเมื่อศึกษาแผนพัฒนาระดับชาติพบชุดคำสำคัญที่สะท้อนวิธีคิดแบบกรอบ Growth Mindset ที่สำคัญคือ “การมีส่วนร่วม” ในขณะที่ชุดคำที่สะท้อนวิธีคิดแบบ Fixed Mindset นั้นปรากฏพบมากกว่า ทั้งนี้ ไม่ว่าแผนพัฒนาระดับชาติจะออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่สำคัญกว่าคือการนำนโยบายลงไปปฏิบัติที่จำเป็นต้องพ้นจากกรอบความคิดแบบเดิมที่ผู้ใหญ่คิด เด็กทำ เพราะนั่นย่อมสวนทางกันกับการสร้างเด็กและเยาวชนให้เกิด Growth Mindset

จากภาพข่าวความรุนแรงในด้านต่างๆ อาชญากรรมที่เกิดจากเด็กและเยาวชน สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของสังคมกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ตลอดจนสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก การที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาก่อความรุนแรงได้นั้น คงไม่ใช่แค่การเลียนแบบพฤติกรรมที่พบในสื่อต่างๆ แต่เป็นการภาวะการขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดการมีเหตุผลและคิดวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะตามมาจากพฤติกรรมความรุนแรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างได้ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กเป็นสำคัญ จะทำอย่างไรไม่ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะกดทับที่มาจากการถูกตีตรา การไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และมีพื้นที่ชีวิตมากเพียงพอที่จะคิด ออกแบบ ทำกิจกรรมตามที่พวกเขาสนใจ สร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง
(self esteem) และการยอมรับตัวตนของเขาได้

คงถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย คนทำงานที่เกี่ยวข้องเด็กและเยาวชน ครู ตลอดจนครอบครัว ต้องทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของเด็ก หากเรายังยืนยันว่าเด็กคืออนาคตของชาติ นั่นหมายความว่าเราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ออกแบบชีวิต ลองผิดลองถูก สร้างให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง และพัฒนาศักยภาพที่เขาตามความสนใจ ช่วยสนับสนุนให้เขามีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพตามที่พวกเขาต้องการ ให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมทุกด้าน ตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตลอดจนการร่วมกันออกแบบสังคมที่เขาอยู่ให้ดีกว่าปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image