สถานีคิดเลขที่12 : ได้เปรียบ-เสียเปรียบ : โดย จำลอง ดอกปิก

พรรคพลังประชารัฐ ถูกยกเป็นเต็ง 1 แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเนื่องจากแคนดิแคปแต้มต่อเหนือกว่า

พรรคใหม่ฟอร์มแรงค่ายนี้ ตั้งเป้าชนะเลือกตั้ง เป็นเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาล เช่นเดียวกับอีกหลายๆ พรรคใหญ่

แต่การชนะเลือกตั้งได้ ครองใจประชาชนนั้นไม่ง่าย

ถ้าเป็นการแข่งขันในภาวะปกติ จุดขายนโยบาย รวมถึงว่าที่นายกรัฐมนตรี บุคคลที่จะเป็นผู้นำขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชน

Advertisement

แต่ในยุคเปลี่ยนผ่าน รอยต่อสถานการณ์พิเศษ อย่างเวลานี้

ปัจจัย ตัวแปร แพ้-ชนะ คงมิได้อยู่ที่ นโยบาย-แคนดิเดตนายกฯ ไม่กี่ประการเท่านั้น

แต่มีอะไรที่ลึกลับ ซับซ้อนยิ่งกว่า

Advertisement

กระนั้น โดยหลักการ นโยบาย และบุคคล ก็ยังสำคัญ เป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูง

พลังประชารัฐ ได้รับการจัดวางอยู่ในกลุ่มพรรคขนาดใหญ่

เนื่องจากที่มา-ที่ไปจะเรียกเป็นพรรครัฐบาลก็คงไม่ผิดนัก

แต่ในบรรดาพรรคใหญ่ด้วยกัน ดูเหมือนว่า ขณะนี้พลังประชารัฐเงียบเป็นพิเศษ

ต่างจากความคึกคัก ของพรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์

พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีหัวหน้า แกนนำ แคนดิเดตนายกฯ ออกเดินสายภูมิภาคต่างๆ รณรงค์โหมโรงหาเสียงเลือกตั้ง

เป็นสองพรรคที่มีในสิ่งที่พลังประชารัฐไม่มี

แม้มีหัวหน้าพรรคเหมือนกัน แต่ไม่มีกิจกรรม เคลื่อนไหว โรดโชว์ ทั้งนี้เนื่องจากหัวหน้า เลขาฯ แกนหลัก 4 คน สวมหมวก 2 ใบ

ควบเก้าอี้รัฐมนตรี-มีตำแหน่งในพรรค

อุตตม สาวนายน ระมัดระวังยิ่ง วางตัวดี แยกแยะบทบาทหน้าที่ มิให้ใครกล่าวหาเอารัดเอาเปรียบ

ไม่เบียดบังเวลาราชการ ใช้ทรัพยากรรัฐ

เส้นแบ่งชัด ทำกิจกรรมการเมือง นอกเวลาราชการในวันทำการ และเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น

มุ่งยกระดับ สร้างมาตรฐานการเมืองใหม่

แต่ก็ไม่วาย ถูกเรียกร้องลาออก -ไขก๊อกทั้ง 4 คน

อุตตม สาวนายน ให้คำมั่นสัญญาวันรับตำแหน่งหัวหน้า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จะสวมหมวกใบเดียว -หมวกพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา แกนนำรัฐบาล เปลี่ยนยุทธศาสตร์ ทบทวนแผนลาออก

เกรงว่า หากทั้ง 4 รัฐมนตรีไขก๊อก เท่ากับทลายกำแพงลดแรงปะทะ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหากทั้งสี่ลาออก อาจลาม ฝ่ายตรงกันข้ามรุกไล่ จี้ ‘บิ๊กตู่’ แสดงสปิริต เอาอย่างบ้าง

ถึงออกก็ไม่จบ

แต่การไม่ลาออกนั้น ที่ใครต่อใครมองว่า ได้เปรียบ ที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯยืนยันทำนองคนเป็นรัฐมนตรี แค่อยู่เฉยๆ ก็ได้เปรียบ

อาจไม่เสมอไป

นำอดีตมาเปรียบเทียบไม่ได้ เนื่องจากบริบทเปลี่ยนไป รัฐบาลที่ผ่านๆ มา เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐมนตรีมาจากพรรคการเมือง มีตำแหน่งในพรรคแต่แรกก่อนนั่งฝ่ายบริหาร และเมื่อเข้าสู่เทศกาลเลือกตั้ง เป็นแค่รัฐบาลรักษาการ แต่ที่มารัฐมนตรีปัจจุบันต่างออกไป สถานะก็ต่างกัน แม้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลตัวจริง ออกมาตรการ ไฟเขียวโครงการ ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนปกติ เพราะมิได้แค่รักษาการ

เมื่อเป็นตัวจริงก็สุ่มเสี่ยง ต้องระมัดระวัง

กลายเป็นข้อจำกัดการทำงานการเมือง

ที่ว่าได้เปรียบก็อาจไม่จริง อาจเสียเปรียบด้วยซ้ำ อย่างที่กอบศักดิ์ ภูตระกูล ท่านว่า

เนื่องจากลุยงานการเมืองเต็มตัวไม่ได้

เมื่อลุยไม่ได้ ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่เปลี่ยนไป จากแรกสุดลาออกเป็นไม่ลาออก อาจต้องทบทวนอีกครั้ง

เป็นไปได้ว่า มีการหารือข้อดี ข้อเสีย กระทั่งได้ข้อยุติแล้วว่า จำเป็นต้องลาออก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ถึงได้ออกมาแย้ม ถึงคิวลาออกของ 4 คน ทั้งที่เสียงเรียกร้องแผ่ว

เพราะถ้าไม่ลาออก พลังประชารัฐก็อาจสู้ไม่ได้

พรรคใหญ่เงียบ วังเวงอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้งที่พร้อมทุกสรรพกำลัง จะเอาอะไรไปชนะเลือกตั้ง

ชนะเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเสียด้วย ไม่ใช่บางจังหวัด บางพื้นที่ บางภูมิภาค

ที่เงียบเชียบเป็นพิเศษ ก็เพราะที่ใครต่อใครมองว่าได้เปรียบนั้น เอาเข้าจริงกลับเสียเปรียบ

ถามว่า ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงพลังประชารัฐ มีใครเป็นตัวแทน เป็นรีพรีเซ็นต์

สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อย่างนั้นหรือ -ไม่ใช่หรอก

ไม่มีใครเลย

ไม่มีใครถือธงนำเป็นตัวแทนพรรคลุยสนามเลือกตั้ง การสวมหมวก 2 ใบเป็นข้อจำกัดทางการเมือง

เมื่อลุยไม่ได้ บุกไม่ได้ ก็เงียบ-วังเวงอย่างที่เห็น

พลังประชารัฐจำเป็นต้องมีแม่ทัพ เป็นตัวแทนพรรค เคลื่อนขบวน ปลุกให้เกิดความคึกคัก ชาวบ้านรู้จักแบรนด์สินค้า

การลาออกจึงว่ามาถูกทาง

ถูกทั้งหลักการ และหลักการเมือง

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image