รื่นร่มรมเยศ : สีลัพพตปรามาส : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สีลัพพตปรามาส อ่านว่า “สีลัพพะตะปะรามาส”

คำประหลาด อ่านยาก เขียนยาก อย่างนี้ ไม่นึกว่าจะติดปากชาวพุทธบ้านนี้เมืองนี้เลยนะครับ ที่ไหนได้กลับเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

เมื่อสองวันนี้ เพื่อนที่สำนักงานผมเขาเถียงกันว่า หลวงพ่อองค์นั้นองค์นี้เป็นอรหันต์หรือเปล่า เสียง
คนหนึ่งเอ่ยขึ้นอย่างมั่นใจ “ไม่มีทาง อย่าว่าแต่อรหันต์เลย โสดาบันก็ไม่มีสิทธิเป็น” เมื่อถูกย้อนถามว่า เอาอะไรมาวัด ท่านผู้นั้นก็อ้างพระคัมภีร์ทันที

“ยังปลุกเสก แจกเหรียญแจกพระ อมน้ำมนต์พ่นน้ำหมากอยู่ ไม่มีทางเป็นโสดาบันได้หรอก อย่างนี้เขาเรียกว่า สีลัพพตปรามาส”

Advertisement

จริงสินะ ยุคนี้เป็นยุคอรหันตนิยม คนกำลังตื่นอริยะอรหันต์เป็นการใหญ่ หนังสือเกี่ยวกับประวัติอภินิหารอริยะอรหันต์ต่างๆ ออกมาเป็นดอกเห็ด ขายเป็นเทน้ำเทท่า ร่ำรวยไปตามๆ กัน ข่าวพระอริยะอรหันต์เกิดขึ้นที่นั่นที่นี่บ่อยๆ ก็เลยมีการถามไถ่ไล่เลียงกันว่า จริงหรือเปล่า

บางรายหัวใสก็จัด “ทัวร์ไปนมัสการพระอรหันต์” ยังที่ต่างๆ ซะเลย ตัวเองบำเพ็ญตนเป็น “ไกด์” (ไม่ใช่ไกด์ผีอย่างต๊ะ ท่าอิฐ แต่เป็น ไกด์อรหันต์) คอยบอกว่า พระองค์นี้ได้ภูมิธรรมขั้นนั้น องค์นั้นได้อภิญญาเท่านั้น องค์โน้นปีที่แล้วบรรลุขั้นนั้น แต่ปีนี้ได้เป็นอรหันต์เต็มขั้นแล้ว อะไรเทือกนั้น

ฟังดูก็น่าศรัทธา น่าไปร่วมทัวร์ด้วย อย่างน้อยได้พบผู้ทรงศีลก็เป็นอุดมมงคลตามหลักมงคลสูตร

Advertisement

ครับ เมื่อมีอริยะอรหันต์ขึ้นมากๆ ก็ต้องมี “มาตรฐาน” พิสูจน์ภูมิธรรมกันขึ้นเป็นธรรมดา

มีพระเครื่องมากมายหลายกรุ ก็ต้องมีเซียนดูพระและมาตรฐานดูรุ่นดูสำนักฉันใดก็ฉันนั้น

“สีลัพพตปรามาส” เป็นหนึ่งในมาตรฐานวัดอริยะระดับโสดาบัน 3 ประการ (คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส)

แปลกันโดยทั่วไปว่า “การลูบคลำศีลและวัตร” ตีความกันว่า หมายถึงการยึดมั่นในพิธีรีตอง ถือขลังถือศักดิ์สิทธิ์ในศีลและวัตร เช่น ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เป็นต้น

เมื่อแปลและตีความเช่นนี้ ผู้ที่โดนเจ็บแสบหน่อยก็เห็นจะเป็นพระคุณเจ้าที่ท่านนั่งปลุกนั่งเสก ปั้นเหรียญ หล่อพระพิมพ์ นั่นแหละครับ ไม่ว่าท่านจะทำเพื่อการสาธารณกุศลสงเคราะห์ชาวบ้านด้วยเมตตาธรรม หรือทำเพื่อพุทธพาณิชย์ หาปัจจัยเข้าพกเข้าย่าม ก็ไม่วายถูกตำหนิว่างมงายหลับใหล

“สำนักฉันสิ ไม่ปลุกไม่เสก ไม่มีพิธีรีตอง ไม่ลูบคลำศีลและวัตร แต่รักษาศีลและวัตรกันอย่างจริงจัง เคร่งครัด ไม่กินในสิ่งที่พวกเขากิน ไม่ทำเรื่องเหลวไหลที่พวกเขาทำ”

ที่ยังเหนียมๆ หน่อย ก็แย้มพรายเป็นนัยๆ ว่า “ภูมิธรรมฉันสูงกว่าแกจ้ะ” ที่กล้าหาญชาญชัยหน่อยก็บอกไปเลยว่า “ฉันเป็นอริยะระดับนั้นระดับนี้แล้ว”

บางครั้งอริยะกับอริยะต่างสำนักก็โต้เถียงธรรมะไม่ลงรอยกันแทบจะกินเลือดกินเนื้อกันก็มี

คำว่า “สีลัพพตปรามาส” เป็นศัพท์เฉพาะ สมาสจากคำว่า สีล (ศีล) + พต (พรต, หรือวัตร) + ปรามาส (ถือผิด, ถือเลยเถิด)

เฉพาะคำ “ปรามาส” นั้นท่านวิเคราะห์ศัพท์ (คือกระจายคำตามหลักไวยากรณ์) ไว้ชัดเจนว่า “สภาวํ อติกฺกมิตฺวา ปรโตอามสตีติ ปรามาโส แปลว่า จับฉวยเอาเกินเลยสภาวะเป็นอย่างอื่นไป เรียกว่า ปรามาส”

นั่นหมายความว่า ถือศีลถือวัตรคลาดเคลื่อนจากสภาวะของศีลของวัตร ถือศีลเป้าหมายศีล ถือวัตรผิดเป้าหมายของวัตร ศีล คือศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 วัตรก็คือธุดงควัตรหรือวัตรอย่างอื่น นอกจากศีลที่กล่าวข้างต้น

กินผักกินหญ้านั่นก็วัตรอย่างหนึ่ง

ใครรักษาศีลประพฤติวัตร เพราะอยากได้ผลตอบแทนอยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ อยากไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ อยากให้เขายกย่องว่าฉันเคร่งครัด

หรือคิดว่าทำอย่างฉัน ปฏิบัติอย่างฉันเท่านั้นจึงจะบริสุทธิ์หลุดพ้นถูกต้อง อย่างอื่นผิดหมด เลวหมด

ไม่พ้นขอบข่ายของสีลัพพตปรามาศครับ

พูดถึงตรงนี้นึกถึงหลวงพ่อพุทธทาสขึ้นมาได้ ครั้งหนึ่งมีสาธุชนกลุ่มหนึ่งไปนมัสการฟังธรรมที่สวนโมกข์ สาธุชนท่านหนึ่งสำแดงว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดรู้ระเบียบปฏิบัติมากกว่าใคร หันมากำชับทุกคนว่า

“ทั้งหมดก่อนฟังธรรมต้องคุกเข่ากราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์พร้อมกัน เสร็จแล้วให้กล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัยให้ถูกต้อง ว่าตามผม เอ้า เริ่มกราบ…”

หลวงพ่อพุทธทาส พูดขัดขึ้น ยิ้มๆ ว่า “ผิด ผิด ก่อนกราบมันต้องนับก่อน หนึ่ง…สอง…สาม”

เล่นเอาศิษย์ก้นกุฏิหน้าม้านไป

ครับ หลวงพ่อท่านเมตตาเตือนว่า อย่าติดรูปแบบ อย่าติดสีลัพพตปรามาส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image