เทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาความยากจน : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงนี้มีการพูดถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาประเทศชาติกันมาก แต่บางคนก็ยังอดสงสัยว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะแก้ปัญหาได้จริงไหม และจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่?

เรื่องนี้มีประเด็นชวนคิดอยู่หลายประเด็น

1.การพูดว่าเทคโนโลยีนั้นจะแก้ปัญหาในทุกๆ เรื่อง เป็นวิธีคิดแบบ “เทคโนโลยีนิยม” และ “เทคโนโลยีกำหนด” หรือไม่? หมายถึงมองการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจว่าถูกแบ่งยุคสมัยตามเทคโนโลยี ทั้งที่ยังมีอีกหลายมุมมองในเรื่องนี้ เช่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพราะมีเครื่องจักร หรือ เครื่องจักรไอน้ำ แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงชุดวิธีคิดว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับโลกและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเท่าเทียมกันในเชิงโอกาส และความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางอำนาจในหลายๆส่วน

2.การทำความเข้าใจในเรื่อง “เทคโนโลยี” ที่มีมากกว่าการนำเข้าของเล่น และการไล่ตามเทคโนโลยีของต่างประเทศ โดยละเลยการคิดค้นเทคโนโลยีในประเทศ

Advertisement

ในเรื่องนี้หากพิจารณาในภาพใหญ่ของโลกนั้น ยังมีการพูดถึงเรื่องของการแสวงหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่คิดว่าคอมพิวเตอร์ราคาแพง และการจัดสรรเทคโนโลยีราคาแพงที่เหมือนกันหมดจากงบราชการคือทางออกของการพ้นจากความล้าหลัง หรือ หมายถึงความเท่าเทียม

การค้นหาภูมิปัญญาชาวบ้านในแง่ของเทคโนโลยีในระดับท้องถิ่น แล้วนำไปประยุกต์ใช้หรือถอดบทเรียนเพื่อส่งต่อ เพื่อแลกเปลี่ยน และเพื่อเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่แต่ในแง่ของความเป็นชาตินิยม แต่หมายถึง เรื่องของความก้าวหน้าในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

3.ในความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจจะแบ่งแนวคิดกว้างๆ ออกเป็นสักสี่แบบ

Advertisement

3.1 โลกสวยด้วยเทคโนโลยี: พวกนี้มองว่าเทคโนโลยีนั้นจะพาเราพ้นไปจากปัญหาทุกเรื่อง แต่ไม่เคยบอกว่าต้นทุนใครจะแบก ผลกระทบคืออะไร คุ้มค่าหรือไม่ ใช้อย่างไร เรื่องพวกนี้อย่าลืมว่าเมื่อลงไปในระดับปฏิบัติการแน่นอนว่ารัฐและระบบราชการจะขานรับอย่างทันที เพราะพวกเขาจะคิดว่า ได้เวลาซื้อเทคโนโลยีใหม่ จัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักร และเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานและฝึกอบรม และหลายอย่างเมื่อต้นทุนสูงขึ้นค่าธรรมเนียมก็จะถูกจัดเก็บจากประชาชนมากขึ้น

นอกจากนี้ ความเชื่อแนวนี้ยังทำให้ประชาชนฝันว่าประเทศชาติจะดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีอย่างฉับพลันทันที จงพร้อมกันร่วมมือร่วมใจผลักดันประเทศไทยให้เป็นสี่จุดศูนย์ ห้าจุดศูนย์ หกจุดศูนย์ต่อไปเรื่อยๆ

3.2 โลกนี้เต็มไปด้วยความปั่นป่วนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ (disruption): พวกนี้มองว่า เทคโนโลยีนั้นจะสร้างความปั่นป่วนให้กับโลก โดยเฉพาะโลกธุรกิจแบบเดิมๆ จะเปลี่ยนไป การผูกขาดจะลดลง เราต้องพร้อมรับมือกับ AI และธุรกิจใหม่ๆ เช่น แท็กซี่นั้นล้าหลัง ต้องใช้แกรป ธุรกิจโรงแรมแบบเก่ากำลังจะพัง เพราะแอร์บีแอนด์บี ระบบการเงินจะเปลี่ยนไปสมัยนี้ต้องบล็อกเชน โลกนี้จะอยู่รอดได้ด้วยบิ๊กดาต้า ไม่ใช่การจัดเก็บข้อมูลบนกระดาษที่ขาดการประสานงานระหว่างกันแบบเก่า

เรื่องราวอันหน้าตื่นเต้นเหล่านี้เป็นเรื่องที่หวือหวา และอยู่ในโลกโซเชียลตลอดเวลา เป็นการผสมผสานระหว่างความน่าตื่นตาตื่นใจในโอกาสใหม่ๆ และความวิตกกังวลของนายทุนและชนชั้นกลางอยู่ไม่น้อย

3.3 โลกที่จะเกิดความไม่มั่นคงและการกีดกันในรูปแบบใหม่ๆ (exclusion): จะว่าไปแล้วแนวคิดนี้มีมาก่อนแนวคิดแบบความปั่นป่วนฯ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในบ้านเรา แนวคิดเรื่องการกีดกันทางสังคมเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นั้น เกิดขึ้นเพิ่อดึงสติของสายโลกสวยด้วยเทคโนโลยี โดยพยายามมองว่า ความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนนั้นอาจจะไม่จริงในทุกๆ เรื่อง การพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นจะต้องเข้าใจว่า สังคมนั้นมีความสลับซับซ้อนและความไม่เท่าเทียมกันอย่างไร และเทคโนโลยีนั้นอยู่ในมือใครด้วย

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวก็เช่นเรื่องของการพูดถึงเรื่องของโลกอินเตอร์เน็ตนั้น ประเด็นในยุคแรกนั้นเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสเข้าถึง แต่เมื่อพิจารณาอีกทีจะพบว่า การกีดกันในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ใครไม่มีรหัสไวไฟก็เข้าถึงไม่ได้ (ถ้าเทียบกับคลื่นโทรทัศน์และวิทยุสมัยก่อน) หรือคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่ากูเกิลคือคำตอบในทุกๆ เรื่อง ทั้งที่ข้อมูลจำนวนหนึ่งที่เกินไปกว่าสองทศวรรษอาจไม่ถูกบันทึกลงในโลกอินเตอร์เน็ตเอาเสียเลย

ในแง่นี้อินเตอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่คนจำนวนหนึ่งอาจเสียประโยชน์ในการเข้าถึงได้เช่นกัน

3.4 เรื่องนี้อาจไม่ได้ต่อกับสามประเด็นข้างต้น แต่ก็มีข้อถกเถียงเรื่องของโลกอินเตอร์เน็ตในฐานะส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งในยุคแรกนั้น จะมีความเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตเท่ากับเสรีภาพ และเท่ากับการปรึกษาหารือร่วมกันในพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ รวมไปถึงเรื่องของศักยภาพของอินเตอร์เน็ตต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านการศึกษาขบวนการทางสังคมต่างๆ ขณะที่งานศึกษาในยุคหลังเริ่มมองเห็นการผลิตซ้ำอคติที่มีอยู่แล้วในโลกออนไลน์มากขึ้น เริ่มมองเห็นการเฟื่องฟูของความเกลียดชัง เริ่มมองเห็นว่ารัฐต่างๆ พยายามควบคุมประชาชนในประเทศผ่านการใช้เทคโนโลยีในการสอดส่อง และจัดการในเรื่องความเป็นส่วนตัว

รวมทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายใหม่ที่ปิดกั้นประชาชนทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็อาจจะเปิดโอกาสให้อินเตอร์เน็ตนั้นรุ่งเรืองในโลกบันเทิงและเศรษฐกิจ

4.ที่พูดมาทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องมาคิดใหม่ว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นทางออกกับสังคมเหมือนกับยาสารพัดโรคจริงหรือไม่หรือเราต้องพูดถึงเทคโนโลยีในสองมิติเป็นอย่างน้อย

มิติแรกคือ การพูดถึงเทคโนโลยีในแง่ของเครื่องมือและทางออกในการแก้ปัญหา เช่น จะมีโครงการอะไรบ้างที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

มิติที่สองคือ พูดถึงเทคโนโลยีในฐานะ “จุดเริ่มต้น” ของการทำความเข้าใจปัญหาและบริบททางสังคมอีกมากมายที่อาจส่งผลให้เทคโนโลยีที่เราจะนำเข้ามา หรือ พัฒนาขึ้นเองนั้นไม่ส่งผลในแง่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมทั้งหมด แต่อาจตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันแบบเดิมๆ หรือ เพิ่มความซับซ้อนในระดับปัญหามากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะ และเครื่องจักรสมัยใหม่นั้น อาจจะส่งผลให้คนจำนวนมากตกงาน และที่น่าห่วงก็คือ คนชั้นกลาง และมนุษย์เงินเดือนนั่นแหละครับ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ ระบบธนาคารที่ลดสาขา และพนักงานมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครมองว่ามันจะสร้างผลกระทบกับคนชั้นกลางที่มีการศึกษามากน้อยแค่ไหน เพราะคนมัวแต่สนใจว่า เครื่องจักรสมัยใหม่นั้นจะทำให้กรรมกรตกงานในโรงงาน

ทั้งที่อีกด้านหนึ่งนั้น กรรมกรจำนวนมากนั้นแม้จะตกงานแต่ก็ไม่ได้ออกจากตลาดงานง่ายๆ เพราะเขาสามารถพัฒนาความชำนาญในด้านอื่นและเปลี่ยนงานไปทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการได้เช่นกัน ด้วยว่าภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการเช่นขายของเล็กๆ น้อยๆ รับจ้างทำนู่นทำนี่นั้นมีลักษณะที่ยืดหยุ่น เข้าง่าย ออกง่าย

ในอีกด้านหนึ่ง งานที่ต้องการความชำนาญเป็นพิเศษ เช่น การตัดเย็บ การซ่อมแซม นั้นก็ไม่ใช่งานที่จะหมดไป เมื่อเทียบกับคนชั้นกลางที่เข้าศึกษาอย่างน้อย 16 ปีในระบบ จากประถมถึงอุดมศึกษา แต่อาจไม่มีความยืดหยุ่นและอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไม่ได้

แต่กระนั้นก็ตาม การปรับตัวของคนตัวเล็กนั้นก็จะต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิต แม้จะมีรายได้ แต่หลักประกันเรื่องรายได้นั้นอาจไม่ค่อยมี การอ้างอิงถึงการใช้เทคโนโลยีกับคนตัวเล็กทั้งหลาย เช่นเราจะมีแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ ก็จะต้องคำนึงหรือชี้ให้เห็นด้วยว่า เมื่อเขาเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีใหม่นั้น เขาจะต้องถูกนับรวมเข้าไปในเครือข่ายฐานข้อมูลที่รัฐเข้าถึงได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาจะมีสิทธิเรียกร้องจากรัฐเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การเข้าสู่โลกใหม่ของเทคโนโลยีก็มีปัญหาอีกมากมายถึงความเสถียรของระบบ และการเปลี่ยนผ่าน/ปรับตัวเข้าสู่ระบบ ในหลายๆ ครั้งนั้นโครงการที่พยายามใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป

ประการสุดท้ายที่ควรจะชี้ให้ประชาชนเห็นในเรื่องของเทคโนโลยีก็คือ เทคโนโลยีจะเสริมอำนาจของประชาชนอย่างไรในทางการเมืองนอกเหนือไปจากด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหมายถึงอะไรที่มากไปกว่าการขายของได้มากขึ้น เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากขึ้น และพูดคุยเชื่อมโยงติดต่อได้มากขึ้น

การพูดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในเรื่องการเกษตร และการพัฒนาในภาพรวมนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการพูดถึงข้อมูลการเกษตร และการจัดการทรัพยากรในแง่การรักษาผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ต้องหมายถึงการเร่งรัดจัดทำแผนที่ทางการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละพื้นที่ เช่น ระบบโครงข่ายถนน การเพาะปลูก การปศุสัตว์ การสื่อสาร ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การศึกษา ระดับมลภาวะ ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติด้านต่างๆ และเครือข่ายทางสังคม เรื่องเหล่านี้มีการทำมาแล้วในหลายที่ในโลกทั้งในแง่ของการประมวลภาพถ่ายทางดาวเทียม และการค้นหาแบบแผนการสื่อสารติดต่อจากโทรศัพท์มือถือ ที่ไม่ได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยตรง เช่นดูแบบแผนการสื่อสารให้เข้าใจรูปแบบการเคลื่อนที่ ย้ายถิ่น และเครือข่ายสังคม

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่หมายถึงแค่ว่าประชาชนจะต้องทำตามข้อมูลที่รัฐบาลให้มา เช่น การชอบอ้างเรื่องผังการเพาะปลูก แต่ต้องหมายถึงการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชน ภาคประชาชน สื่ือ และพรรคการเมือง ติดตามการทำงานของรัฐบาล และจับตาการเอื้อประโยชน์ทางทรัพยากรไปยังพื้นที่บางพื้นที่โดยไม่มีเหตุผล หรือ ด้วยแรงจูงใจทางการเมือง

นี่คือเรื่องที่ซับซ้อนเพิ่มเติมไปจากการมองว่า เทคโนโลยีเท่ากับ electronic government หรือ เป็นเรื่องแค่การจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเรื่องอีกหลายเรื่องที่หัวใจสำคัญคือการเสริมอำนาจให้กับประชาชน (empowering people through technology) ซึ่งจะทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนขึ้น

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image